ลูกไม่กินข้าว?กับเทคนิคง่าย ๆ จูงใจลูกให้เจริญอาหาร

ลูกไม่กินข้าว?กับเทคนิคง่าย ๆ จูงใจลูกให้เจริญอาหาร เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากุมขมับไม่น้อยกับปัญหาลูกไม่ค่อยทานข้าว จนทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านต้องสรรหาตัวช่วยอย่างอาหารเสริม หรือแม้กระทั่งยาชนิดต่าง ๆ มากระตุ้นให้ลูกเจริญอาหาร แต่นั่นหารู้ไม่ว่า อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพเด็กตามมาได้หากใช้อย่างรู้ไม่เท่าทัน
แต่สำหรับวิธีที่จะทำให้ลูกน้อยเจริญอาหารนั้น มีอยู่หลายวิธีที่ปลอดภัย และทำได้ง่าย ๆ โดย พญ.พัฏ โรจน์มหามงคล กุมารแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะเทคนิคจูงใจลูกให้เจริญอาหารไว้ในกิจกรรมโครงการมัมมี่แบร์ บล็อกเกอร์ปี 2 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้กับลูกดังต่อไปนี้

- หากลูกเบื่อ หรือไม่ชอบทานข้าว ควรจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ออกกำลังกาย และเกิดความหิว วิธีนี้จะช่วยให้เด็กยินยอมพร้อมใจในการกินอาหารเมื่อถึงมื้อ รวมทั้งการงดขนมจุบจิบ เครื่องดื่ม และนมก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นเมื่อถึงมื้ออาหาร เด็กจะเริ่มหิวพอดี จึงเป็นการช่วยลดการต่อต้านเด็กเมื่อเริ่มมื้ออาหาร

- ควรจัดอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับอายุ และความต้องการของเด็ก มีสูตรคำนวณคร่าว ๆ โดยทั่วไปสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ ในเด็กอายุ 1 ปี ควรให้อาหารประมาณ 1/3-1/2 ของปริมาณที่ผู้ใหญ่ทาน หรือค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นจนเมื่อเด็กอายุ 3 ปี ควรให้ปริมาณ 1/2 ของปริมาณที่ผู้ใหญ่กิน

- รสชาติ รูปแบบ และสีสันของอาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มแรงจูงใจให้เด็กอยากกิน คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกวัตถุดิบที่สด สะอาด และการให้เด็กกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ จะเป็นการช่วยให้รสชาติอาหารอร่อย และหน้าตาของอาหารก็ดูน่ากินมากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้อาหารหลากหลายไม่ซ้ำกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อ

อย่างไรก็ตาม เรื่องรสชาติที่จะเน้นจืด หรือปรุงรสเล็กน้อย ก็สามารถทำได้ตามสไตล์ของแต่ละบ้าน และความชอบของเด็กแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน เพราะจะทำให้เด็กอิ่มเร็ว และปฏิเสธที่จะกินอย่างอื่น รวมทั้งเป็นสาเหตุให้ฟันผุด้วย ดังนั้นถ้าเด็ก ๆ กินอะไรหวาน ๆ และหลังดื่มนมทุกมื้อ แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าตามเพื่อป้องกันฟันผุด้วย
ทั้งนี้ คุณหมอยังฝากวิธีรับมือกับปัญหาการกินของลูกไว้ 2 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ เด็กอม หรือคายอาหาร และชอบกินเลอะเทอะ ซึ่งแต่ละปัญหาที่กล่าวไปนั้น มีวิธีรับมือง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

อม หรือคายอาหาร

กรณีที่เด็กอมหรือคายอาหาร หรือเลือกกินเฉพาะอาหารบางชนิด คุณหมอแนะนำว่า ขอให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ทำใจ อย่าหงุดหงิด เพราะเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในช่วงวัยนี้ ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเพิ่มความหลากหลายของอาหารที่เด็กกินเข้าไป โดยผสมอาหารที่เด็กไม่ชอบกับอาหารที่เด็กชอบ เช่น กินกับซอสที่เด็กชอบ หรือดัดแปลงอาหารให้กินง่ายขึ้น เช่น ถ้าเด็กชอบกินอะไรกรอบ ๆ ก็นำผัก หรือเนื้อสัตว์ไปชุบแป้ง หรือเกล็ดขนมปังทอดให้กรอบ เด็ก ๆ จะร่วมมือได้ดีขึ้น

กินเลอะเทอะ

ส่วนการกินเลอะเทอะ เป็นพัฒนาการปกติตามวัยของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามเปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองในขณะกิน (ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าเขาดูเหมือนอยากจะตักเล่นมากกว่าอยากจะกินก็ตาม) เพราะเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำเองได้ รวมทั้งรู้สึกสนุกกับการผสมอาหาร ตักอาหารจานโน้นใส่จานนี้ และสนุกกับการตักเข้าปากเขาเองด้วย

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้เขากินเองได้ถนัดขึ้น เช่น ใช้เก้าอี้สูงสำหรับเด็ก หรือใช้ที่รองนั่งควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ก่อนมื้ออาหารของเด็ก อาจเตรียมปูพื้นบริเวณโต๊ะอาหารด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย ๆ เช่น ผ้า หรือกระดาษเหลือใช้ รวมทั้งพาเด็กไปอาบน้ำ (ถ้าดูแล้วเลอะเทอะมาก) และทำความสะอาดบริเวณที่เด็กกินอาหารหลังจากเด็กอิ่ม ระวังมด หรือแมลงที่จะมาป้วนเปี้ยน และกัดลูกน้อยในเวลาต่อมา

ดังนั้น เมื่อลูกไม่เจริญอาหาร หรือมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกิน ลองนำวิธีข้างต้นไปลองใช้ดูก่อน ส่วนการเลือกใช้ยาไม่ว่าใครจะบอกว่าช่วยกระตุ้นให้ลูกกินง่าย หรือเจริญอาหารได้ดีแค่ไหน ควรปรึกษาหารือกับแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนปลอดภัยที่สุด อย่างน้อย ๆ เพื่อจะได้มีข้อมูลในการเลือกใช้อย่างถูกต้อง และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กด้วย
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์