หิ่งห้อยมีแสงได้อย่างไร

หิ่งห้อยมีแสงได้อย่างไร หิ่งห้อย เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตแสงได้ด้วยตนเอง พบเห็นได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย มีขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ไปจนถึง 10 เซนติเมตร สีของแสงหิ่งห้อยที่พบในไทยจะเป็นสีเหลืองและน้ำตาล มันมีอายุขัยประมาณ 1 เดือน แสงที่หิ่งห้อยเปล่งออกมาเป็นพลังงานแสงร้อยละ 90 อีกร้อยละ 10 เป็นพลังงานความร้อน

การที่หิ่งห้อยเรืองแสงได้ เพราะเซลส์จากอวัยวะการสร้างแสงของหิ่งห้อยจะผลิตสารสีขาวที่ชื่อว่า ลูซิเฟอริน (Luciferin) จากนั้นหิ่งห้อยจะควบคุมการเปล่งแสง โดยบังคับอากาศที่ได้จากการหายใจเข้าไป เมื่ออ๊อกซิเจนในอากาศสัมผัสกับสารลูซิเฟอริน และทำปฏิกิริยากับเอมไซม์ชื่อ Luciferase หิ่งห้อยก็จะปล่อยพลังงานออกมาเป็นแสงได้ ฉะนั้นแสงจะสว่างหรือดับจึงขึ้นอยู่กับการหายใจของหิ่งห้อยนั่นเอง

หิ่งห้อยไม่ได้เปล่งแสงเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการส่งสัญญาณเพื่อการหาคู่ ซึ่งหิ่งห้อยแต่ละชนิดจะมีจังหวะการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน ฉะนั้นหิ่งห้อยแต่ละชนิดจึงจดจำการกระพริบแสงของพวกเดียวกันได้ จึงทำให้เกิดการผสมพันธุ์ที่ถูกกับชนิดของหิ่งห้อยนั้น ๆ

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปจับมันมากักขังไว้ล่ะ มันไม่สวยเท่าตอนที่มันอยู่กับธรรมชาติหรอก.

ที่มา เดลินิวส์