'อิเกีย' ของแต่งบ้านเคาะราคาก่อนดีไซน์

สำหรับคนที่ชอบชอปปิงสินค้าแต่งบ้าน เชื่อเหลือเกินว่าสินค้าบุคลิกสมถะอย่าง “อิเกีย” (IKEA) แบรนด์ดังจากสวีเดน คงไม่รอดหูรอดตาไปอย่างแน่นอน กว่าจะเป็นสินค้าแต่ละชิ้นที่ออกมามีเบื้องหลังการทำงานอันเด่นชัดคือต้องเริ่มเคาะราคาให้ผลิตภัณฑ์ก่อนจะใส่ดีไซน์โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยให้คุ้มค่าและมีคุณภาพนั้น เพราะต้องการให้ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกเข้าถึงสินค้าได้ง่าย เมื่อปริมาณการซื้อมากราคาขายย่อมต่ำลง นั่นคือช่องทางการตลาดโดดเด่นที่อิเกียใช้เป็นหลักในการทำธุรกิจตลอด 60 กว่าปี ปัจจุบันอิเกียมี 316 สาขาทั่วโลก เดือนพฤศจิกายนปีนี้ อิเกีย พร้อมจะเปิดสาขาแรกในประเทศไทย ในย่านบางนาภายใต้พื้นที่ 43,000 ตร.ม. จัดว่าเป็นสาขาใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ดีไซเนอร์สินค้าสำหรับเด็ก แอนนา เอฟเวอร์ลุนด์ สาวใหญ่หัวใจเด็กวัย 58 ปี บินลัดฟ้ามาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองและผลิตภัณฑ์

แอนนา มีผลงานออกแบบโดดเด่นที่หาได้ในบ้านทุกหลังทั่วโลกเวลานี้คือ ไม้แขวนเสื้อเด็ก โดยถูกออกแบบไว้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน และโคมไฟอ่านหนังสือที่ใช้หลอดแอลอีดี กินไฟแค่ 3 วัตต์ มีส่วนช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ครึ่งโรง เมื่อนำสินค้าที่ผลิตออกมามารวมกัน ตลอดจนดีไซน์ให้โคมไฟหักงอได้ มีระบบไม้หนีบที่สามารถนำไปใช้ ณ มุมไหนของบ้านได้ง่าย และผลงานชิ้นโบแดง Famnig Hjarta หมอนรูปหัวใจที่มีแขนยื่นออกมา จัดอยู่ในหมวดสินค้ามียอดขายถล่มทลาย ทั้งที่เป็นเพียงอุบัติเหตุทางการผลิตตุ๊กตาหมีในโรงงานที่ประเทศอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1997 เกิดความผิดพลาดที่ตาของตุ๊กตาหมีหลุดก่อนเวลา

อิเกียสั่งเรียกสินค้าจำนวน 2 ล้านชิ้นกลับมาทั้งหมด ส่งผลให้คนงาน 600 คนในอินเดียต้องตกงาน แอนนาถูกเรียกมาแก้ปัญหาทันที แม้ว่าในช่วงนั้นเธอจะพักร้อนอยู่ก็ตาม หมอนดังกล่าวถูกผลิตขึ้นเพื่อสร้างงานให้ชาวอินเดีย แต่ในทางตรงกันข้ามสินค้าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างมาก จนต้องเพิ่มคนงานเพื่อผลิตให้ทันออร์เดอร์

ดีไซเนอร์ผู้นี้ทำงานอยู่กับอิเกียมานานถึง 32 ปี เธอเล่าย้อนไปในวัยเด็กว่า จัดอยู่ในกลุ่มเด็กหลังห้องเรียนแย่ จนมักถูกพ่อที่มีอาชีพวิศวกรเรียกว่า “เจ้าเด็กโง่” เด็กหญิงแอนนาไม่ชอบอ่านหนังสืออย่างแรง เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยเธอเลือกเรียนด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ส่วนความช่างคิดสร้างสรรค์ที่บันเจิดในทุกวันนี้ น่าจะได้ดีเอ็นเอของคุณย่าที่เป็นนักร้องโอเปร่าและคุณปู่ที่เป็นจิตรกร

หลังเรียนจบปริญญาตรีแอนนาเลือกไปทำงานในประเทศบราซิล แต่เธอก็ค้นพบว่าที่นั่นไม่เหมาะกับเธอจึงตัดสินใจกลับมาสวีเดน ด้วยเหตุผลที่น่ารักว่า “กลับมาหาผู้ชายสวีเดนดีกว่า” ทันทีที่กลับจากบราซิล ในปี ค.ศ. 1980 อิเกียคือบริษัทแรกที่เธอสนใจอยากทำงานด้วย แอนนาใช้วิธีเข้าไปถามบริษัทว่าจะรับเธอเข้าทำงานไหม ถ้ารับเธอสามารถส่งสินค้าเข้าโกดังของอิเกียได้ทันที ถ้าไม่รับเธอจะเอาของเหล่านี้ไปขายให้คนอื่น

แอนนาบอกว่า เธอชอบระบบการทำงานของอิเกีย ซึ่งตั้งอยู่เมือง แอมฮุลท์ เมืองที่ได้ชื่อว่ายากจนสุดของสวีเดน เมืองนี้มีประชากรอาศัยอยู่ 80,000 คน ประชาชน 35,000 คนทำงานในบริษัทอิเกีย ดีไซเนอร์ของอิเกียมีทั้งหมด 900 คน มี 12 คนที่ทำงานเต็มเวลาอยู่ที่บริษัท ส่วนที่เหลือจะเดินทางไปยังหลาย ๆ ประเทศเพื่อแสวงหาไอเดีย สำหรับแอนนาเธอชอบอินเดียและประเทศไทย ทั้งสองประเทศช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานให้เธอได้เป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1994 เธอใช้เวลา 4 เดือนอยู่เมืองไทย จนสามารถออกแบบของเล่นได้กว่า 100 ชิ้น หัวใจสำคัญของการออกแบบอิเกียอีกด้านหนึ่งคือ ต้องเริ่มต้นที่วัถตุดิบที่มีก่อน ไม่ได้ออกแบบของตามความต้องการของผู้บริโภคเสียทีเดียว

รูปแบบการทำธุรกิจของอิเกียที่จะเป็นวิถีปฏิบัติของดีไซเนอร์ จะต้องเข้าไปดูวัตถุดิบจากแหล่งโรงงานนั้น ๆ เพื่อให้ทราบถึงวิธีการผลิต และนำมาประยุกต์เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ได้โจทย์มาว่าลูกค้าต้องการโต๊ะขนาดเล็กราคาย่อมเยา เมื่อดีไซเนอร์เข้าไปยังโรงงานผลิตประตูและบานประตู จึงได้แนวคิดที่จะผลิตโต๊ะข้างที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ โดยใช้กระดาษแข็งแบบกระดาษลังเป็นแกน แล้วประกบบนล่างด้วยแผ่นไม้ที่บางเฉียบแต่แข็งแรง วิธีการผลิตนี้เรียกว่า เทคนิค board–on-frame ด้วยเทคนิคการผลิตนี้ทำให้โต๊ะรุ่น LACK มีน้ำหนักเบา ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ราคาสบาย ขนย้ายสะดวก โต๊ะรุ่นนี้มียอดขายสูงมาก

นอกเหนือจากการดูวัตถุดิบแล้วยังต้องลงไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย “เราย้ายฐานการผลิตไปที่เซี่ยงไฮ้ ทำให้ใกล้ชิดกับชาวจีนมากขึ้น ความต้องการเหล่านี้ท้ายที่สุดนำไปเป็นไอเดียไปออกแบบผลิตภัณฑ์” แอนนาว่า นั่นคือโอกาสที่จะพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ อย่างที่รู้เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่ที่จำกัดจำเขี่ยของพื้นที่เมื่อรู้ว่ารสนิยมความต้องการของคนจีน สินค้าที่ผลิตออกมาย่อมขายได้มากตามจำนวนประชากรที่มากสุดในโลกขณะนี้สินค้าของอิเกียจะขายเฉพาะที่ช็อปของอิเกียเท่านั้น แตกต่างจากสินค้าของแต่งบ้านยี่ห้ออื่น ลาร์ส สเวนสัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตบริหารจัดการสาขาอิเกียในประเทศ ไทย ให้เหตุผลว่าแม้ประเทศไทยจะมีปัญหาด้านการจราจร สินค้ายี่ห้ออื่นเลือกกระจายสินค้าไปตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปเพื่อตอบสนองลูกค้าทั่วทุกมุมเมือง แต่อิเกียไม่มีนโยบายเช่นนั้น แต่ชูจุดเด่นที่เหนือกว่า คือลูกค้าสามารถเดินเข้ามาในร้านอิเกียแล้วสามารถได้สินค้ากลับบ้านในวันนั้น โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ อาทิ โซฟา ตู้ โต๊ะ เตียง เพราะมีสต๊อกอยู่แล้ว และการออกแบบที่ฉลาดจนทำให้สามารถหอบหิ้วกลับบ้านได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ภายในร้านอิเกียได้มีการจัดโชว์รูมสินค้าขนาดใหญ่เพื่อเกิดแรงบันดาลใจในการเลือกสรรสินค้าแต่งบ้าน และมีพื้นที่ส่วนของเด็ก samaland ที่มีร้านอาหารของเด็ก ใช้จานช้อนสำหรับเด็กให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว

ภายใต้ปรัชญาที่ว่าจะสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไป ในทุก ๆ วัน อิเกียจึงทำตัวเองให้มีเรื่องราวมากกว่าสินค้าแต่งบ้าน.

article@dailynews.co.th
ที่มา เดลินิวส์