“ตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อแบบอัตโนมัติ”รักษามะเร็งตรงจุด เพิ่มโอกาสหายจากโรค

“ตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อแบบอัตโนมัติ”รักษามะเร็งตรงจุด เพิ่มโอกาสหายจากโรค
“โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่ใช้ระยะเวลานานหลายปีในการก่อเกิด ทำให้หลายคนกว่าจะรู้ตัวก็เป็นมากแล้ว ทั้ง ๆ ที่มะเร็งเป็นโรคที่ป้องกันและสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยพบโรคตั้งแต่แรกเริ่มที่เป็น!!

ศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ ฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก ในทวีปเอเชีย อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งคาดว่าจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 โดยภาย ในปี พ.ศ. 2563 โรคมะเร็งจะคร่าชีวิตประชากรกว่า 7.6 ล้านคนในแต่ละปี และคาดว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับในประเทศ ไทยพบผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งมีถึง 112,000 คนต่อปี

ด้านการวินิจฉัยโรค แพทย์ต้องอาศัยผลการตรวจพิเศษ คือ การนำชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการย้อมน้ำยาเพื่อตรวจเฉพาะหรือการย้อมสีด้วยมือ จากนั้นนำมาดูผ่านกล้องไมโครสโคป ซึ่งจะต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง คือ นักพยาธิวิทยาเป็นผู้ทำการตรวจ ใช้ระยะเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง จึงจะทราบผลตรวจ ซึ่งวิธีนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในผลตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยที่ไม่แม่นยำนั้น ทำให้ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด มีผลให้โรคของผู้ป่วยดำเนินต่อไปจนถึงขั้นรุนแรงได้

แต่ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง ได้มีการคิดค้น ระบบการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อแบบอัตโนมัติและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่เรียกว่า เฮอร์ 2 ดิช เป็นเครื่องย้อมสีชิ้นเนื้ออัตโนมัติ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ผลตรวจได้ภายใน 12 ชั่วโมง และให้ผลตรวจที่แม่นยำรวดเร็วกว่าการตรวจโดยมนุษย์ แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีความแม่นยำในการตรวจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่ามีความแม่นยำสูง ซึ่งทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาโรคได้อย่างตรงจุด และลดอัตราการเสียชีวิตจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้

ศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ อธิบายถึงการตรวจเพิ่มเติมว่า การตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อด้วยวิธีนี้จะนำชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างเซลล์จากการผ่าตัดหรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งจะมีการวิเคราะห์จากลักษณะของเซลล์หรือชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่เห็นได้ทางสายตา เพื่อระบุว่าเป็นโรคในระยะใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการตรวจหาเซลล์มะเร็ง

ตัวอย่างเซลล์ที่นำมาตรวจเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาและตัดวางลงบนสไลด์แก้วเพื่อส่องดูผ่านกล้องไมโครสโคป เพื่อวิเคราะห์ลักษณะซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางเป็นผู้ทำการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างชิ้นเนื้อผ่านทางกล้องไมโครสโคปนี้

“การวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ สามารถวินิจฉัยโรคและให้ข้อมูลว่า โรคนั้นดำเนินไปถึงระยะใด รวมทั้งใช้คาดการณ์ได้ว่า ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีใด

สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง การวิเคราะห์ชิ้นเนื้อนั้นสามารถบอกได้ว่า ตัวอย่างที่ตรวจนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ ก็จะดูว่าเป็นการติดเชื้อหรือเป็นเนื้องอก ซึ่งหากเป็นเนื้องอกจะใช้ดูต่อว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด มีจุดกำเนิดที่ใด และเป็นเนื้องอกประเภทธรรมดาหรืออันตรายเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่”

นอกจากนั้น เมื่อมีการติดตั้งระบบการตรวจแบบอัตโนมัติ ก็จะทำให้สามารถกระทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้อย่างแม่นยำในที่ใดก็ได้ในประเทศ เนื่องจากการตรวจแบบอัตโนมัตินี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและอุปกรณ์พิเศษในโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการมากเท่าระบบเดิม ซึ่งในประเทศไทยเรายังมีความแตกต่างกันในด้านความพร้อมของโรงพยาบาลต่าง ๆ

ความก้าวหน้าอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการวินิจฉัยโดยใช้ตัวชี้วัดในชิ้นเนื้อจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตามหลักการรักษาที่เรียกว่า การรักษาเฉพาะบุคคล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแพทย์สามารถทราบถึงชนิดของโรคมะเร็งอย่างเฉพาะเจาะจงด้วยการดูยีนหรือโปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์เนื้องอกนั้น ๆ โดยตัวชี้วัดในชิ้นเนื้อนี้ จะสามารถใช้เพื่อระบุถึงชนิดและลักษณะของชิ้นเนื้อได้ ทำให้แพทย์สามารถให้ยาหรือวิธีการรักษากับผู้ป่วยได้ด้วยความมั่นใจว่าผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาได้เป็นอย่างดี

การตรวจด้วยวิธีนี้ เบื้องต้นยังสามารถตรวจวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็งได้ 2 ชนิด คือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยการตรวจนี้ช่วยให้แพทย์ทราบได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดใดอย่างเฉพาะเจาะจงและจะตอบสนองต่อการรักษาแบบใดได้ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ไม่ต้องลองผิดลองถูกในการรักษา ซึ่งเป็นการเสียเวลา เงิน และทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องจบชีวิตทุกราย หากสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้ในระยะแรกเริ่มและได้รับผลการวินิจฉัยที่รวดเร็ว แม่นยำ ส่งผลให้ได้รับการรักษาที่ตรงกับโรคและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในบางรายมีโอกาสหายจากโรคร้ายได้.

.........................................

เคล็ดลับสุขภาพดี : “น้ำมันมะกอก” มีคุณประโยชน์ต่อกระเพาะอาหารและลำไส้

หากเอ่ยถึง “มะกอก” คนไทยมักนึกถึงมะกอกที่นำมาจิ้มพริกกะเกลือแล้วกินอย่างเอร็ดอร่อย หรือมะกอกที่นำมาใส่กับส้มตำ แต่ว่าเป็นคนละสายพันธุ์กันกับมะกอกของฝรั่งที่นำมาสกัดน้ำมันมะกอก โดยมะกอกพันธุ์นี้สามารถปลูกได้ดีในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ด้านตะวันตกของอเมริกา อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งน้ำมันมะกอกมีคุณประโยชน์มากมายที่เคล็ดลับสุขภาพดีจะมาแนะนำให้ทราบกัน

จากผลงานการวิจัยของ Charbonnier กล่าวไว้ว่า น้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันชนิดที่ทนทานต่อกระเพาะได้มากที่สุด เนื่องจากมีกรดโอเลอิคอยู่ในปริมาณสูง จึงมีผลในการช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและอาการอักเสบที่กระเพาะและลำไส้ตอนต้น จึงถือว่าเป็นคุณสมบัติในเชิงป้องกันโรค ซึ่งจากการทดลองโดยการเปลี่ยนน้ำมันมะกอกแทนไขมันสัตว์ในอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ปรากฏว่าคนไข้จำนวน 33% สามารถลดอาการของบาดแผลลงได้ และอีก 55% ก็ลดการรักษาที่ทำให้เกิดแผลเป็นได้อีกด้วย แต่การใช้น้ำมันมะกอกช่วยบำบัดต้องควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา

นอกจากน้ำมันมะกอกจะมีประโยชน์ต่อกระเพาะอาหารแล้วยังเป็นผลดีต่อลำไส้ด้วย โดยการรับประทานน้ำมันมะกอกประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ก่อนรับประทานอาหารเช้าขณะกระเพาะว่างจะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคท้องผูกเรื้อรังมีอาการดีขึ้น ที่สำคัญยังมีประโยชน์ต่อระบบน้ำดี เพราะน้ำมันมะกอกเป็นผลดีอย่างมากต่อการอ่อนแอของถุงน้ำดี เนื่องจากน้ำมันมะกอกจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รวดเร็ว นุ่มนวลและเนิ่นนานกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาและอาหารอื่น ๆ ทั้งหลายที่ใช้รักษาอาการดังกล่าว โดยน้ำมันมะกอกจะช่วยยับยั้งการหลั่งน้ำดีจากตับในระหว่างที่ถุงน้ำดีไม่เกิดการสะสม จึงทำให้ได้น้ำดีที่บริสุทธิ์และมีคุณสมบัติทางยา

สำหรับคุณสมบัติของน้ำมันมะกอกในการนำมาใช้ในการทอดอาหารนั้น Fedeli ได้ทำการทดสอบความคงสภาพของน้ำมันมะกอก โดยการทอดด้วยอุณหภูมิสูง และ Varela ก็ได้ทำการพิสูจน์โดยทดลองทอดเนื้อ ทอดปลาซาร์ดีนด้วยน้ำมันมะกอก ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการย่อยอาหารจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แม้ว่าจะใช้น้ำมันนั้นทอดซ้ำ ๆ กันเกินกว่า 10 ครั้งขึ้นไปก็ตาม การวิจัยนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันที่เหมาะสำหรับการทอดอาหารมากที่สุด เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าน้ำมันชนิดอื่นใด

อย่างไรก็ตามน้ำมันมะกอกยังสามารถช่วยป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย เพราะมีปริมาณของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ขณะเดียวกันก็ยังมีสัดส่วนของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่สมดุลเหมาะสมต่อการป้องกันโรค โดยมีส่วนประกอบของอัลฟา-โทโคเฟอรอล หรือโพลีฟินอลที่ทำหน้าที่ในการขจัดอนุมูลอิสระ หลักโภชนาการนี้ได้รับการยืนยันจากการทดลองและงานวิจัยโรคระบาดแล้วว่าสามารถป้องกันภาวะไขมันอุดตันในเส้น เลือดและช่วยควบคุมพลาสมาคอเลสเตอ รอลให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยไม่มีความเสี่ยงในเรื่องผลข้างเคียงแต่อย่างใด

ดังนั้นน้ำมันมะกอกจึงถือเป็นน้ำมันมหัศจรรย์ที่นอกจากจะใช้ในการเสริมความงามแล้วยังนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อสุขภาพและช่วยป้องกันรักษาโรคได้อีกด้วย เมื่อทราบอย่างนี้แล้วอย่าลืมเลือกน้ำมันมะกอกมาใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีของเรานะคะ

(ข้อมูลจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
ที่มา เดลินิวส์