ยาเม็ดปาร์ตี้ชนิดใหม่ในประเทศไทย

ในปัจจุบันนอกจากยาบ้าจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ล่าสุดสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพบยาเสพติดชนิดใหม่ที่เข้ามากับนักท่องเที่ยวชาวยุโรป คือ ยาเม็ดปาร์ตี้ชนิดใหม่ในประเทศไทย

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ยาเม็ดปาร์ตี้ เป็นชื่อเรียกของสารกลุ่มพิเพอราซีน สารกลุ่มนี้มีหลายตัว ที่พบมาก คือ BZP (Benzylpiperazine) และ TFMPP (Trifluo romethyl phenyl piperazine)

BZP จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายยาอีและยาบ้า ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน และมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัว ส่วน TFMPP จะมีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอนคล้ายยาอี ดังนั้นผู้เสพจึงมักใช้สารสองชนิดร่วมกันเพื่อเสริมบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามสารในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง สับสน นอนไม่หลับ และจากการศึกษาในหนูพบว่า การใช้ร่วมกันในขนาดสูง จะทำให้เกิดอาการชัก (seizure) หรือถ้าใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่น และแอลกอฮอล์อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้

สารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีน ได้มีการแพร่ระบาดในไทยมาตั้งแต่ปี 2552 จากการตรวจพิสูจน์ของกลางยาเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ชลบุรี และสำนักยาและวัตถุเสพติด ระหว่างปี 2552-2553 พบสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีน 2 ชนิด คือ BZP และ TFMPP ลักษณะตัวอย่างเป็นแคปซูล คล้ายอาหารเสริม และชนิดเม็ดยามีสีและสัญลักษณ์ต่าง ๆ รูปแบบคล้ายยาอี พบใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี นนทบุรี และกรุงเทพฯ โดยมักพบสาร 2 ชนิดร่วมกันหรืออาจพบชนิดเดียวและพบร่วมกับยาอีชนิดเอ็มดีเอ็มเอ และเอ็มดีเอ

สารอนุพันธ์พิเพอราซีน มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทน้อยกว่าเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า 10 เท่า ยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในอนุ สัญญาสหประชาชาติ ในประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการ แพร่ระบาดที่ชัดเจน ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ควบคุมสารเหล่านี้ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซี แลนด์ ญี่ปุ่น

การตรวจพิสูจน์สารในกลุ่มพิเพอราซีน สามารถตรวจเบื้องต้นด้วยปฏิกิริยาเคมี ทำให้เกิดสีและยืนยันผลด้วยเทคเนคโครมาโตกราฟี เช่น ธินแลร์เยอร์โครมาโตกราฟี หรือ ทีแอลซี หรือ แก็สโครมาโตกราฟี หรือ แก็สโครมาโต กราฟี/แมสสเปคโตเมทรี

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีการระบาด แต่ได้มีการตรวจพบยาดังกล่าวมาเรื่อย ๆ คือ

1. ระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค. 2552 พื้นที่เกิดเหตุคือ จ.ชลบุรี พบของกลาง 8,000 แคปซูล ตรวจพบ BZP และ TFMPP

2. วันที่ 12 พ.ย. 2552 พื้นที่เกิดเหตุคือชลบุรี พบยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน 2 เม็ด ตรวจพบ BZP และ TFMPP

3. วันที่ 27 ม.ค. 2553 พื้นที่เกิดเหตุกรุงเทพฯ พบยาเม็ดกลมแบนสีแดงสัญลักษณ์รูปหัวใจ 4 เม็ด ตรวจพบ TFMPP

4. วันที่ 6 พ.ค.2553 พื้นที่เกิดเหตุ จ. นนทบุรี พบของกลางยาเม็ดกลมแบนสีชมพู สัญลักษณ์ Adidas 1 เม็ด ตรวจพบ BZP และ TFMPP

และ 5.วันที่ 8 พ.ค. 2553 พื้นที่เกิดเหตุจ.ชลบุรี พบของกลางยาเม็ดกลมแบนสีขาวขุ่น สัญลักษณ์รูปการ์ตูน 5 เม็ด ผลการตรวจพิสูจน์พบ BZP และ TFMPP อย่างไรก็ตามจากการตรวจพบยาเสพติดชนิดใหม่ในครั้งนี้ ทาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังแล้ว

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องการควบคุมเพราะคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษจะติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลการระบาดทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด คงจะให้ข้อมูล และนำมาพิจารณาว่าสมควรที่จะออกประกาศควบคุมหรือไม่ อย่างไร.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
ที่มา dailynews