ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ใช้ได้ดีกับยุคสมัยปัจจุบัน เพราะไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายต่างหันไปพึ่งเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว เพื่อให้รูปลักษณ์ภายนอกดูดี จนทำให้บางคนเกิดอาการแพ้เครื่องสำอางได้
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บอกว่า ใครบอกว่าไม่เคยใช้เครื่องสำอางคง จะไม่จริง เนื่องจาก คำว่า “เครื่องสำอาง” หมายถึง วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือ กระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือ ส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย ถ้าใครไม่ใช้เครื่องสำอางก็คงคบไม่ได้เพราะไม่ได้อาบน้ำ สระผมกันเลย
อาการที่ทำให้สงสัยว่าแพ้เครื่องสำอาง คือ 1. อาการปวดแสบ ปวดร้อน อาการคัน หรือ รู้สึกว่าคันยิบๆ 2. มีผื่นแดงคัน จนกระทั่งแพ้มาก เป็น ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ มีขุย 3. ผื่นแดง บวมแบบลมพิษ 4. ผื่นดำ หมองคล้ำ 5. หน้าเริ่มด่าง และ 6. เม็ดผดเล็ก ๆ ไม่คัน หรือ เป็นเหมือนสิว
โดยทั่วไปแล้วการแพ้จะไม่เกิดทันทีหลัง จากที่เปลี่ยนเครื่องสำอางมักจะค่อย ๆ เป็นจนไม่ทันสังเกตว่าจะแพ้จริง เพราะกว่าจะเป็นเครื่องสำอางมาขายต้องผ่านการทดสอบหรือลองใช้มาบ้างแล้ว
เครื่องสำอางที่ถือว่ามีอัตราทำให้เกิดผล ข้างเคียงสูงได้แก่ น้ำยายืดผม, ครีมที่ทำให้ผิวขาว, ครีมรักษาฝ้า น้ำยาหรือครีมขจัดขน ส่วนที่มีอัตรา ทำให้เกิดผลข้างเคียงปานกลางได้แก่ น้ำยาดัดผม, น้ำยาย้อมผม, ครีมบำรุงผม, มาสก์หน้า, ครีมแก้สิว, ครีมรองพื้น, ลิปสติก, น้ำยาทำความสะอาดอวัยวะเพศ, โฟมอาบน้ำ, ยากันแดด ยาระงับกลิ่นตัวและ ยาลดเหงื่อ ทั้งนี้เนื่องจากมีสารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย ได้แก่ น้ำหอม ที่ช่วยให้เครื่องสำอางมีกลิ่นหอม เพื่อให้น่าใช้และกลบกลิ่นสารเคมี สารกันบูด เช่น พาราเบน, ฟอร์มอลดีไฮด์, สารที่อยู่ในยาย้อมผม ได้แก่ สารพาราเฟนนีลีนไดเอมีน, สารลาโนลิน หรือไขแกะที่เป็นตัวทำเนื้อครีมหรือโลชั่น
เมื่อสงสัยว่า แพ้เครื่องสำอางควรปฏิบัติดังนี้
1. ถ้าสงสัยว่าแพ้เครื่องสำอางชนิดไหน ให้หยุดใช้เครื่องสำอางชนิดนั้นทันที ถ้ามีหลายตัว ให้หยุดใช้ตัวที่นำมาใช้ใหม่แล้วเกิดอาการก่อน ถ้าหยุดใช้แล้วอาการดีขึ้นก็อาจแสดงว่าตัวนั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้ แต่ถ้ามีอาการแพ้มาก มีผิวหน้าอักเสบอยู่ ให้หยุดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด อนุญาต ให้ใช้ลิปสติกถ้าไม่มีผื่นที่ปาก เครื่องสำอางแต่งดวงตา ถ้าไม่มีผื่นรอบดวงตา แป้งเด็กเมื่ออาการผิวหนังอักเสบหายแล้ว ค่อยลองใช้ทีละตัว เป็นอย่าง ๆ ไป ถ้าเกิดผื่นขึ้นให้ลองหยุดตัวที่ใช้สุดท้าย ถ้าอาการหายไป ก็น่าจะเกิดการแพ้ เครื่องสำอางนั้น ๆ
2. วิธีที่จะพิสูจน์ง่าย ๆ ว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นเป็นสาเหตุที่เกิดการแพ้จริงหรือไม่ให้ทำ การทดสอบโดยทาเครื่องสำอางที่สงสัย ที่บริเวณ ท้อง แขน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถ้ามีผื่นขึ้นก็แสดงว่าแพ้จริงให้หยุดการใช้เครื่องสำอางนั้น
3. ถ้าทดสอบเองแล้วยังหาสาเหตุไม่ได้ แพทย์ผิวหนังจะมีการทดสอบทางผิวหนังโดยวิธีแพตซ์เทสต์ (Patch test) โดยจะใช้สารเคมี ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ในความเข้มข้นที่เหมาะสม มาแปะติดลงบนแผ่นหลังของผู้ป่วย ทิ้งไว้ 2 วันแล้วกลับมาอ่านผล ถ้ามีอาการผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ทดสอบ ก็แสดงว่าแพ้สารนั้น วิธีนี้มีประโยชน์ในการที่จะเลือกซื้อเครื่องสำอางครั้งต่อไป จะได้เลือกซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีสารที่ แพ้ผสมอยู่ เช่น ถ้าทดสอบแล้วพบว่าแพ้น้ำหอม เมื่อจะซื้อเครื่องสำอางก็ควรเลือกที่ไม่มีน้ำหอม หรือ มีน้ำหอม ซึ่งอาจจะเขียนว่า โน เพอร์ฟูม (no perfume) หรือ ฟราแกรนซ์ ฟรี (fragrance free) ก็ได้
4. ถ้าเกิดอาการแพ้มาก ๆ ควรจะพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่าฝืนใช้เครื่องสำอาง หรือ ซื้อยาทาเอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายมากขึ้น
ปัจจุบันมีเทคนิคการโฆษณาขายเครื่องสำอางกันมากมาย จึงมีหลักการเลือกซื้อเครื่องสำอางที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้คำแนะนำดังนี้
1. เลือกซื้อเครื่องสำอางตามความเหมาะสมกับตนเอง อย่าซื้อตามคนอื่น หรือซื้อเพราะเพื่อนแนะนำ ถ้าเป็นไปได้ ควรทดสอบก่อนใช้ โดยการ ทาเครื่องสำอางนั้นบริเวณท้องแขนหรือหลังใบหู เช้า-เย็น โดยไม่ต้องเช็ดออก ประมาณ 5-7 วัน ถ้าไม่มีอาการแดง คัน ก็ลองใช้กับหน้าได้
2. ใส่ใจกับแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ไม่ควร ซื้อเครื่องสำอางที่ขายตามหาบเร่แผงลอย เพราะอาจได้เครื่องสำอางปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน
3. การซื้อแต่ละครั้ง ไม่ ควรซื้อขนาดใหญ่มาก เนื่องจาก บางทีฝากซื้อจากต่างประเทศ ราคาถูกกว่าเมืองไทย แต่เวลาเก็บ หรือเปิดใช้ อาจทำให้เครื่องสำอางเสื่อมคุณภาพ หรือมีเชื้อโรคปนระหว่างการใช้
4. ไม่ควรซื้อเครื่องสำอางเก่า มีสี กลิ่น ความข้น เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
5. ภาชนะที่บรรจุเครื่องสำอาง ต้องอยู่ ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาดหรือแตกเพราะอาจมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนได้
6. สังเกตฉลากเครื่องสำอาง ควรอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่ฉีกขาด มีข้อความภาษาไทยที่อ่านชัดเจน มีรายละเอียด ชื่อ, ชนิดเครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต, วันเดือนปี ที่ผลิต วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ และคำเตือนในการใช้
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้เลือกซื้อเครื่องสำอางแพง แต่ให้เลือกเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ถ้าใช้แล้วรู้สึกว่าเหมาะสมกับตัวเราแล้ว ก็ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย ถ้าเกิดอาการผิดปกติหลังการใช้ควรหยุดเครื่องสำอางชนิดนั้นทันที.
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
ที่มา เดลินิวส์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...