เทคนิคพ่อแม่ญี่ปุ่น เมื่อ"รัก"สร้างอัจฉริยะได้

กระแสการอบรมเลี้ยงดู "อนาคตของชาติ" หรืออนาคตของพ่อแม่ให้กลายเป็น "เด็กอัจฉริยะ" ได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่พ่อแม่ต่างมองหาแนวทางดี ๆ เข้ามาช่วยขับอัจฉริยภาพของเด็กให้ปรากฏ
[คุณมายูมิ ชิจิดะ]
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจหลงลืมกันไป และเป็นวิธีง่าย ๆ ในการสร้างลูกให้เก่ง และดี โดยไม่ต้องไปลงเรียนพิเศษคอร์สละหลายสตางค์ก็คือ "ความรัก" จากพ่อแม่นั่นเอง

โดยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่มีการศึกษาวิจัย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเต็มที่ประเทศหนึ่งของโลกก็มีการค้นพบว่า การเลี้ยงลูกให้ฉลาดนั้น ประกอบด้วย 3 แนวทางง่าย ๆ เท่านั้น ได้แก่ "การชื่นชม การแสดงความรัก และการยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น"

คุณมายูมิ ชิจิดะ รองประธานสถาบันการศึกษาชิจิดะ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กเผยว่า "เทคนิคการเลี้ยงลูกให้ฉลาดที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นใช้ก็คือ การให้ความรักกับเด็กในทางที่ถูกต้อง ประกอบด้วย 3 สิ่งได้แก่ การชื่นชม การแสดงความรัก และการยอมรับในตัวเด็ก โดยพ่อแม่สามารถแสดงความรักกับลูกได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพียงแค่โอบกอดลูกไว้ในอ้อมแขน ให้เขาสัมผัสถึงความอบอุ่น และหากลูกโตขึ้น ก็สามารถทำได้ด้วยการชื่นชม และการยอมรับในความสามารถของเขา"

ทั้งนี้ หากจะขยายความเทคนิคดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมขึ้น คุณมายูมิเฉลยว่า ประกอบด้วยขั้นตอนง่าย ๆ 6 ขั้นตอนเท่านั้น ได้แก่

1.ไม่ตอกย้ำจุดอ่อนของลูก แต่ให้ความสำคัญกับจุดเด่นของลูกแทน เพราะการมองที่จุดเด่นของลูกนั้นจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ และเป็นแรงผลักดันให้เขาพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ทำเช่นนี้ได้ จะพบว่า จุดอ่อนของลูกนั้นจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด

2. ขอให้เปรียบพัฒนาการของลูกเหมือนต้นไม้ ที่ ณ ปัจจุบัน เขาคือต้นอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในวันที่ลูกเป็นต้นอ่อน เขาจึงยังไม่สามารถแตกกิ่งก้านสาขา และยังไม่สามารถออกดอกออกผลให้คุณได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องอย่าคาดหวังว่าต้นอ่อนต้นนี้จะออกผลให้คุณชื่นชมได้ในทันที

3. พ่อแม่อย่าเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ และนำเอานิสัยนั้นมาใช้วัดความสามารถของลูก

4. ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีอุปนิสัย ตลอดจนความสามารถ ความถนัดที่แตกต่างกัน

5. ไม่ตั้งความสำเร็จของลูกจากการศึกษา หรือคะแนนสอบ แต่ขอให้พิจารณาจากความพยายามของเด็กเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นแล้วพ่อแม่ยังอาจเข้ามาช่วยค้นหาจุดบกพร่อง และแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้นด้วย

6. พยายามทำความเข้าใจตัวตนของลูก และเอาใจใส่แก้ไขในสิ่งที่เขาควรปรับปรุง

"ข้อที่สำคัญที่สุดจาก 6 ข้อด้านบนคือ การไม่เปรียบเทียบลูกตนเองกับเด็กอื่น ๆ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เด็กขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่"

"ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันก็คือ มีพ่อแม่ที่ไม่เคยถามว่าลูกต้องการอะไร อยากเป็นอะไร พ่อแม่เป็นคนตัดสินใจเองว่าลูกควรเรียนเปียโน เรียนบัลเล่ต์ แต่เด็กไม่มีแรงจูงใจในการเรียน วิธีที่เหมาะสมกว่าคือ การเรียกลูกมาถาม ว่าลูกอยากเป็นอะไร ให้เด็กคิด แล้วพ่อแม่จึงสนับสนุนเขาในทางที่ลูกชอบ"

ทั้งนี้ คุณมายูมิได้ฝากข้อคิดถึงผู้ปกครองที่ต้องการบ่มเพาะความอัจฉริยะของเด็กด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้าง "สภาพแวดล้อม" ที่เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถของเขาให้ถึงขีดสุดนั่นเอง

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็กอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็มีชื่อเสียงก้องโลกได้โดยไม่ต้องสมัครเรียนคอร์สพิเศษใด ๆ เพียงแค่เขามีมารดาที่ให้ความรัก และความทุ่มเทอย่างเต็มที่เท่านั้น หรือหากมองกลับมาที่เด็กอัจฉริยะหลาย ๆ คนของไทย ส่วนใหญ่แล้วต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาได้รับ "ความรัก" และ การ "สนับสนุน" จากคนในครอบครัว เขาถึงมีวันที่ประสบความสำเร็จที่น่าชื่นชมนั้นได้ นั่นจึงเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า แท้ที่จริงแล้ว ความรักของพ่อแม่ก็คือ สิ่งที่พิเศษที่สุดที่โลกเตรียมไว้ให้สำหรับการสร้างอัจฉริยะให้เกิดขึ้นสักหนึ่งคนนั่นเอง

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์