คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงมีปัญหาหนักใจไม่น้อยที่ลูกของเรามักเป็นคนอารมณ์ร้าย ขี้โมโห ขี้โกรธ บางคนอาการหนักถึงขนาดชอบใช้กำลังระบายอารมณ์ไม่ว่าจะกับคน สัตว์หรือสิ่งของ ต่างโดนระเบิดลงกันถ้วนหน้า ในความเป็นจริงนั้นการมีอารมณ์ร้าย เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์ฉุนเฉียว เป็นสิ่งที่มนุษย์เราทุกคนมีอยู่ในตัวเองตามธรรมชาติ แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถควบคุมมันได้มากน้อยแค่ไหน และอยู่ที่ว่าอารมณ์ร้ายของเราก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตัวเราเองหรือคนอื่นๆหรือไม่ เพราะหากใครที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ส่วนร้ายของตัวเองได้มากพอ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น การไม่เป็นที่รัก ไม่น่าคบหาสมาคมด้วย บางอาจคนถูกต่อต้านจนไม่สามารถเรียนหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ก็มี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงอย่าได้นิ่งนอนใจหากลูกมีพฤติกรรมหรือมีอารมณ์ร้ายบ่อย ๆ จนน่ากลัวว่าจะติดเป็นนิสัย ต้องเร่งรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน
อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขปัญหาใดได้อย่างถูกต้องคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ถึงสาเหตุของอารมณ์ร้าย ๆ ของลูกเสียก่อนว่าเกิดเพราะสาเหตุใด ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ อาจเกิดได้จาก
1. ครอบครัว อาจเกิดจากตัวคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวของลูกเองที่เป็นคนอารมณ์ร้าย ซึ่งเด็กสามารถซึมซับพฤติกรรมหรืออารมณ์ร้าย ๆ เหล่านี้ได้ง่าย ไม่แปลกที่บางครั้งเราอาจเคยเห็นว่าทำไมคนบ้านนี้ขี้วีน ขี้โมโหหรือขี้โวยวายทั้งบ้าน เพราะครอบครัวมักมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนได้มากที่สุดนั่นเอง ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในกรณีนี้คือ ผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน แล้วเด็ก ๆ เขาจะเรียนรู้ที่จะปรับพฤติกรรมตามได้เอง
2. สิ่งแวดล้อม เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมจากตัวละครในทีวี การเล่นเกมหรือการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง การแก้ปัญหาในกรณีนี้คือ พยายามคัดกรองสื่อที่เหมาะสมและมีคุณค่าให้กับลูก
3. ตัวของเด็กเอง เด็กบางคนเมื่อถูกขัดใจมักจะแสดงอาการร้าย ๆ ออกมา เช่น อยากไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนแต่ถูกคุณพ่อคุณแม่ห้ามไม่ให้ไป หรืออยากแชทอยากคุยโทรศัพท์นาน ๆ ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำ หรืออยากได้ของเล่นชิ้นนั้นแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อให้ก็กรีดร้องชักดิ้นชักงอจนน่าตกใจ การแก้ปัญหาในกรณีนี้คือ อย่าตามใจลูกมากเกินไปและอย่าไปปิดกั้นจนลูกรู้สึกอึดอัด ให้เขาได้ทำอะไรตามสมัยบ้างแต่ให้อยู่ภายในขอบเขตและความพอดี เช่น คุยหากลูกอยากแชทก็แชทได้ แต่ต้องอยู่ในที่เปิดเผยและไม่ใช้เวลานานจนไร้สาระ
4. ความเจ็บป่วย เด็กบางคนอารมณ์ร้ายเพราะเจ็บป่วย ซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับคนป่วยทุกคนที่มักจะมีอารมณ์หงุดหงิดอยู่เสมอ ยิ่งถ้าเป็นเด็กยิ่งน่าเห็นใจมาก เด็กบางคนน่าสงสารยิ่งกว่าเพราะอาจมีอารมณ์ร้ายโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง เช่น บางคนอาจเจ็บป่วยในร่างกายมากแต่เขาไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขาเป็นอะไรหรือเจ็บตรงไหน เขาก็จะรู้สึกอึดอัดจึงต้องระบายออกมาเป็นการแสดงออกที่ฉุนเฉียว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อย ๆ สังเกตดูลูก โดยอาจถามลูกว่าไม่สบายตรงไหนรึเปล่า ปวดหัวมั๊ยหรือปวดท้อง ปวดฟัน เจ็บที่นั่นมั๊ย เจ็บที่นี่มั๊ย ถ้าเขาไม่สบายจริง ๆ เขาก็จะค่อย ๆ ยอมรับออกมาเอง เราก็จะทราบสาเหตุและช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้
สำหรับลูกที่ยังเล็กมากอาจต้องใช้วิธีที่ง่าย ๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
1. เมื่อลูกเริ่มมีพฤติกรรมแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นการอาละวาด ด่าว่า ตะโกนใส่ ร้องไห้แบบบ้าคลั่งโดนไม่มีเหตุผล ทำร้ายหรือทำหน้าตาบึ้งตึง ปลีกตัวออกห่างไม่ให้ใครเข้าใกล้ คุณพ่อคุณแม่ต้องถามถึงสาเหตุและรับฟังปัญหาของลูกว่าทำไมเขาจึงต้องอาละวาด หรือโกรธหรือทำร้ายคนอื่นแบบนี้ เด็กบางคนอาจไม่อยากพูดกับเราตรงๆหรือไม่สบอารมณ์ที่จะพูดกับเรา เราอาจต้องใช้เทคนิคช่วยเล็กน้อย เช่น แปลงร่างเป็นตัวการ์ตูนที่ลูกชอบทำเหมือนกับว่าตัวการ์ตูนนั้นเป็นคนถามเขา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น
2. เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ค่อย ๆ แก้ไข โดยอาจใช้วิธีคือ
- สอนให้ลูกฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเอง ซึ่งการสอนให้ควบคุมอารมณ์ที่ได้ผลที่สุดคือการสอนโดยผ่านกิจกรรมปกติ เช่น เวลาเล่นกับเพื่อนต้องควบคุมอารมณ์ ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ไม่ว่าจะวิ่งชนกันล้ม ไม่ว่าเพื่อนจะหยิบของเราไปเล่น ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ เมื่อควบคุมตัวเองได้ ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์อะไรก็จะสามารถควบคุมมันได้ทั้งหมด
- พูดให้กำลังใจด้วยถ้อยคำดีๆ เช่น “ยิ้มหน่อยสิลูก” “สูดหายใจยาวๆสิคะ”
- ให้ลูกได้ใช้ร่างกาย เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย เช่น ให้กระโดดตบ ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี วาดรูป
- คุณพ่อคุณแม่บางคนใช้วิธีกักบริเวณ บางคนใช้วิธีตีเพื่อให้ลูกสงบหรือหยุด ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีนี้มีผลทำให้ลูกสงบแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ใช้ไม่ได้ผลอย่างแท้จริงและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะลูกอาจเก็บกดมากขึ้นหรือโกรธแค้นมากขึ้น
การปราบลูกที่อารมณ์ร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีที่มีผลในทางบวกมากกว่าจะใช้อารมณ์ร้ายตอบกลับไป ซึ่งแม้คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนมากกว่าแต่ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้เป็นผลดีกว่า และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังคือ อย่าสร้างนิสัยผิดๆให้ลูก เช่น เมื่อลูกโกรธหรือไม่พอใจใครมา คุณพ่อคุณแม่กลับบอกว่า “ไหนบอกมาซิว่าใครทำ เดี๋ยวพ่อจะไปจัดการคนนั้นให้” วิธีเช่นนี้อาจทำให้ลูกคุณพอใจ แต่จะสร้างความเสียหายตามมาเพราะนั่นจะสร้างความคิดให้ลูกเข้าใจว่าเขาทำถูกต้องแล้ว ทางที่ถูกต้องคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกว่าไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรต้องใจเย็นก่อน และทุก ๆ อย่างก็จะดีเอง สำหรับเด็ก ๆ แล้วเขาฉลาดพอที่จะเรียนรู้และปรับตัวเองตามพ่อแม่ได้
ดังนั้น หากอยากให้ลูกใจเย็น ไม่อารมณ์ร้ายคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหัดเป็นคนใจเย็นเช่นกัน
วิธีง่ายๆ...ปราบอารมณ์ร้ายของลูก/ดร.แพง ชินพงศ์
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...