ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามต่างก็ต้องผ่านการถูกล้อเลียน หรือเย้าแหย่มาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งหากเป็นการเย้าแหย่เล่นด้วยความรักก็คงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับตัวผู้ถูกล้อมากนัก แต่หากเป็นการล้อเลียนที่ทำให้เกิดความอับอาย ถูกหัวเราะเยาะต่อหน้าเพื่อน ๆ ถูกตั้งฉายาใหม่ ๆ จากปมด้อย เช่น ยัยหน้าแว่น ยัยปากปลาทู ยัยหมูอ้วน ยัยไส้เดือนไอ้ติดอ่าง ไอ้หน้าสิว การล้อเลียนเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ความเสียใจ แก่ผู้ที่ถูกล้อเลียนเป็นอย่างมาก
เด็กที่ถูกล้อเลียนมาก ๆ จะทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย ไม่มีเพื่อน ไม่รู้ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงถูกเพื่อนล้อ รู้แต่เพียงว่าเสียใจและโกรธ บางครั้งเด็กกำลังนั่งดูทีวีอยู่ คุณพ่อคุณแม่บอกว่าให้ปิดทีวี เด็กอาจโกรธมากจนปาข้าวของแล้วบอกว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่รัก นั่นแสดงให้เห็นถึงอาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้คือ
1.นั่งลงคุยในระดับเดียวกับลูกและเริ่มค้นหาสาเหตุของสิ่งที่ผิดปกติที่ทำให้ลูกกังวลใจ บอกลูกว่าพ่อแม่ต้องการรู้ว่ามีเรื่องอะไรที่ทำให้ลูกไม่สบายใจ ลูกอาจไม่ยอมบอกและแสดงอารมณ์โกรธกลับมา แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องย้ำให้ลูกแน่ใจว่า คุณพ่อคุณแม่รักและต้องการช่วย โดยพยายามให้ลูกระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา
2.เมื่อลูกเริ่มเล่าให้ฟัง ต้องตั้งใจฟัง ไม่ขัดจังหวะ ไม่แนะนำอะไร ให้ฟังจนลูกพูดจนจบก่อน จับให้ได้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร กับใคร เมื่อลูกพูดจบแล้วเริ่มอธิบายก่อนและให้คำแนะนำ แสดงความเห็นอกเห็นใจ และต้องทำให้ลูกแน่ใจว่าเราได้ยินและรับรู้ในสิ่งที่ลูกพูดแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจพูดว่า พ่อแม่เข้าใจแล้วว่าการถูกเพื่อนล้อเลียนทำให้ลูกอายและเจ็บปวด
3.เล่าให้ลูกฟังถึงมีช่วงในวัยเด็กที่คุณพ่อคุณแม่เคยถูกเพื่อนล้อเช่นกัน เล่าให้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร ให้ลูกรู้ว่าตัวคุณพ่อคุณแม่เองเคยมีประสบการณ์ สิ่งที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้สึกของเขาก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา
4.ให้ตัวลูกเริ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน สิ่งนี้จะเป็นทักษะที่ดีในการแก้ปัญหาของลูกด้วยตัวเองในอนาคต อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกอีกด้วย
5.อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบตีโพยตีพายเป็นเรื่องใหญ่โต จะทำให้ลูกทำตัวไม่ถูก รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่โตด้วย
6.ย้ำให้ลูกรู้ว่า ลูกสามารถแก้ปัญหาได้
7.สนับสนุนและให้กำลังใจลูกที่จะเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่ทำให้ลูกรู้สึกดี และมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
8.คุณพ่อคุณแม่ลองกลับมาพิจารณาตัวเองดูว่า ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูก หรือเคยล้อเลียนลูกอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่
9. หากเป็นการแกล้งที่รุนแรง ต้องปรึกษาผู้มีอำนาจรับผิดชอบ เช่นผู้ดูแลเด็ก คุณครูหรือครูใหญ่เป็นต้น
เด็ก ๆ ที่ชอบแกล้งหรือล้อเลียนเด็กอื่นมักจะเป็นเพราะ...
ต้องการเรียกร้องความสนใจ การล้อเลียนผู้อื่นทำให้ได้รับความสนใจถึงแม้ว่าจะเป็นความสนใจในทางลบก็ตาม แต่ลำหรับเด็กบางคนการได้รับความสนใจในทางลบก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับความสนใจอะไรเลย
เลียนแบบ เด็กที่ชอบล้อเลียนผู้อื่นบ่อยครั้งที่เคยถูกล้อเลียนจากที่บ้าน จากพี่น้อง จากเพื่อนที่โรงเรียน จากเพื่อนบ้าน และมีประสบการณ์ที่เจ็บปวด มีความก้าวร้าวและมีผู้ปกครองที่ดุด่าและลงโทษรุนแรง
รู้สึกว่าตัวเองเก่งและมีอำนาจเหนือผู้อื่น เด็กที่ชอบแกล้งหรือล้อเลียนผู้อื่นมักรู้สึกว่าตัวเองเก่งที่สามารถมีอำนาจเหนือผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือทำให้ผู้ที่ผู้ล้อเสียใจ
ความต้องการในการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นเด็กบางคนล้อเลียนคนอื่น เพื่อให้เพื่อนยอมรับ ว่าแน่ ว่าเก่งและเป็นคนเด่นคนดัง
ขาดความเข้าใจ ขาดความรู้และการเห็นอกเห็นใจ บางครอบครัวไม่ได้อบรมลูกให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและความแตกต่างของคน การดูถูกคนยากจน คนพิการ หรือเด็กพิเศษ จะเป็นการสร้างค่านิยมให้ลูกนับถือคนที่วัตถุเปลือกนอกและทำให้ลูกขาดทักษะของการเข้าใจตนเองและผู้อื่น อีกทั้งขาดความเข้าใจเรื่องความแตกต่างและความพิเศษของแต่ละบุคคล
อิทธิพลของเทคโนโลยีและสื่อมวลชน การดูทีวีหรือการเล่นเกม หรือคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ อาจทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบ และเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดให้แก่เด็กว่า คนพิเศษที่สังคมยอมรับคือ คนที่สวย/หล่อ คนที่เรียนเก่ง คนที่รวย เท่านั้น เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนทักษะที่สำคัญเหล่านี้ให้แก่ลูกที่มีปัญหาถูกล้อเลียน
พูดกับตัวเอง ( Self Talk) โดย Meichenbaum เป็นวิธีการให้กำลังใจและพูดกับตัวเอง “ ฉันไม่ชอบที่เขาล้อ และฉันจะจัดการกับมันได้” ให้เด็กคิดว่าความคิดของตัวเองใหญ่กว่าของเพื่อนที่ล้อ การสร้างความคิดทางบวกให้ตัวเองเป็นการโต้ตอบที่ดีกว่าความคิดทางลบ
เพิกเฉย การร้องไห้หรือโกรธอาจทำให้คนที่ล้อสนุกและสะใจ ดังนั้นการใช้วิธีเพิกเฉยอาจเป็นเป็นวิธีที่ได้ผลที่ดีอีกวิธีหนึ่ง โดยให้เด็กเดินหนีไปและไม่สนใจเด็กที่มาล้อเลียน
เปลี่ยนแผน การเปลี่ยนแผนหรือความคิดของผู้ที่ล้อเลียน เช่นเด็กที่ดัดฟันอาจถูกล้อว่ายัยฟันเหล็ก ฟันแวมไพร์ อาจพูดว่าขอบคุณนะที่สังเกตเห็นฟันที่สวยของฉัน จะทำให้คนล้อแปลกใจที่ไม่สามารถทำตามแผนที่จะให้โกรธหรือโมโหสำเร็จได้
เห็นด้วยไปเลย Cohen และ Posey กล่าวว่าการเห็นด้วยกับความจริงที่ถูกล้อเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เช่นหากถูกล้อว่ายัยหน้าสิว อาจตอบกับไปว่า ใช่ฉันเป็นสิวแล้วเป็นไง? หรือยัยขี้แง อาจตอบว่าใช่ฉันร้องไห้เก่งแล้วไงล่ะ? การยอมรับเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและไม่ต้องปกปิดอะไรอีก
ให้คนที่ล้อคิดว่าตัวเองชนะ เช่นหากถูกล้อเกี่ยวกับการทำงานช้า อาจบอกว่าใช่ซิเธอทำเร็วกว่านี่
คุณพ่อคุณแม่คงไม่สามารถปกป้องกับการที่ลูกถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งได้ตลอดเวลา แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้คำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับลูกได้ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปนั้น การเข้าใจเด็กที่ถูกล้อเลียนและชอบล้อเลียนผู้อื่น จะช่วยทั้งตัวลูกและตัวคุณพ่อคุณแม่เองในการที่จะเผชิญและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ
ช่วยด้วย…หนูโดนเพื่อนล้อ/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...