ฟื้นอนุรักษ์แนวปะการังธรรมชาติ"เรือหลวงปราบ"แหล่งเรียนรู้ใต้ทะเล

จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย ด้วยจุดหมายการฟื้นคืนความสมบูรณ์เพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ คงสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลชุมพร สร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ ลดความแออัดของแหล่งดำน้ำเดิมส่งผลให้แนวปะการัง
มีโอกาสฟื้นตัว

แหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ท้องทะเลชุมพร โครงการความร่วมมือที่จังหวัดชุมพรร่วมกับบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือ ปตท.สผ. กองทัพเรือ รวมถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งร่วมกันดำเนินการและเมื่อไม่นานมานี้ได้มี พิธีนำเรือหลวงปราบวางสู่ใต้ท้องทะเล บริเวณเกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร
การวางเรือหลวงปราบครั้งนี้ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ใต้ทะเลและยังเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวใต้น้ำของทะเลชุมพร
ลือชัย วงศ์สิรสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลภาพลักษณ์องค์กรและบริการธุรกิจบริษัท ปตท.สผ.กล่าวว่า โครงการครั้งนี้เป็นความร่วมมือร่วมกันเพื่อที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้รวมทั้งการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลและยังเป็นการยกย่องเผยแพร่เกียรติประวัติของเรือหลวงปราบ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ มอบเรือหลวงปราบซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดเล็กที่ปลดประจำการแล้วมาวางเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ใต้ท้องทะเล

จากภารกิจการปฏิบัติหน้าที่มายาว นานกว่า 50 ปี เรือหลวงปราบได้สร้างคุณประโยชน์นานัปการทั้งราชการทหารและการปฏิบัติภารกิจในยุทธการต่าง ๆ อีกทั้งเรือแห่งประวัติศาสตร์ลำนี้ยังเป็นดั่งเรือครูในการฝึกภาคปฏิบัติทางทะเลของนักเรียนนายเรือและนักเรียนจ่าทหารเรือ ฯลฯ

การกำหนดพื้นที่วางเรือใต้ท้องทะเลชุมพรบริเวณเกาะง่ามครั้งนี้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทางจังหวัดชุมพรและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้ความรู้ว่า จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นนับแต่กลางปีที่แล้วซึ่งจากโครงการครั้งนี้จะมีส่วนช่วยอนุรักษ์แนวปะการังธรรมชาติ ดึงนักดำน้ำออกจากแนวปะการังธรรมชาติไปยังบริเวณที่วางเรือหลวงปราบซึ่งเป็นอีกจุดดำน้ำแหล่งใหม่ทำให้แนวปะการังธรรมชาติมีโอกาสฟื้นตัว

“การสร้างแหล่งดำน้ำเป็นอีกแนว ทางที่เป็นที่ยอมรับกัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ครั้งนี้ที่นำเรือที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนำลงสู่ใต้ท้องทะเลชุมพร นอกจากจะเพิ่มจุดดำน้ำแหล่งใหม่ ๆ ยังช่วยเพิ่มแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ”

ส่วนการเลือกพื้นที่จากที่กล่าวภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมดำเนินการนับแต่เริ่มต้น จากเรือที่ยังจอดบนฝั่งกระทั่งทำการปรับแต่งเรือเหมาะสมกับสภาพธรรมชาติใต้ท้องทะเลซึ่งการปรับแต่งคำนึงถึงทุกด้านทั้งความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อมลดผล
กระทบให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็น ปรับแต่งสภาพภายใน ภายนอกเรือเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักดำน้ำ การขจัดคราบน้ำมันซึ่งก็ได้ดำเนินการล้างออกหมด ฯลฯ

ขณะที่พื้นที่พิกัดที่เหมาะสมในการวางเรือก็ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยศึกษาว่าเป็นพื้นที่ที่มีตะกอนมากหรือไม่ ด้านล่างมีปะการัง สัตว์ทะเล ฯลฯ อย่างไรและจากความร่วมมือกันครั้งนี้ก็มีความเห็นตรงกันในพื้นที่บริเวณเกาะง่ามน้อย

หมู่เกาะง่าม เป็นที่รู้จักและกล่าวขาน ที่นี่เป็นจุดดำน้ำจุดหนึ่งของจังหวัดชุมพรที่ได้รับความสนใจ บริเวณนี้มีจุดเด่นหลายด้านมีปะการังดำ สัตว์น้ำนานาชนิด อีกทั้งในพื้นที่บริเวณนี้มีฝูงปลามากมายอาศัยอยู่

ก่อนดำเนินการได้มีการสำรวจพื้นที่ซึ่งก็พบว่า ในพื้นที่ที่เรือหลวงปราบวางอยู่เป็นพื้นที่ทรายว่างเปล่า ขณะเดียวกันห่างจากแนวปะการังออกไปในระดับที่มีความเหมาะสม อีกทั้งมีความเหมาะสมในเรื่องของแพลงก์ตอน สัตว์น้ำนานาชนิดที่จะมาเกาะเรือเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ในบริเวณดังกล่าวยังมีปลาหลายชนิดซึ่งก็จะช่วยให้ฝูงปลาแพร่ขยายพันธุ์เกิดลูกหลาน นานวันไปก็จะเกิด
ฝูงปลา สัตว์น้ำน้อยใหญ่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล

“ใต้ผิวน้ำบริเวณนี้เป็นผืนทราย ตะกอนไม่หนามากและก็ไม่มีร่องรอยของการทำประมง อีกทั้งในพื้นที่บริเวณนี้มีความลึกที่เหมาะสมที่จะไม่เกิดอันตรายขณะดำน้ำซึ่งการดำลงไปศึกษาก็จะครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งการดำน้ำแบบขั้นต้น ระดับแอดวานซ์รวมถึงการดำน้ำแบบพิเศษ

แต่อย่างไรแล้วก็จะมีป้ายติดไว้ในระดับความลึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับความลึก 18 เมตร 20 เมตร ที่เรียกกันว่าโอเพนท์ วอร์เตอร์ ส่วนที่ลึกลงไปมาก ๆ ก็จะมีการติดป้ายเตือนให้เห็นชัดเจนตามแบบมาตรฐานสากล”

นอกจากนี้ในโครงการยังมีเรื่องของการติดตามผลกระทบระยะยาว จากที่กล่าวที่ร่วมดำเนินการมานับแต่ต้น เรือลำนี้ได้ติดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อติดตามผลกระทบนับแต่อยู่บนบกครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเรือวางไว้ใต้ท้องทะเล แต่เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อนำมาใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อธรรมชาติพิทักษ์ท้องทะเล

ส่วนในความอุดมสมบูรณ์สภาพท้องทะเลชุมพร นิภาวรรณ บุศราวิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางให้ความรู้ว่า ปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับปานกลางซึ่งการฟื้นฟูระยะยาวที่เป็นมิตรใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาก็ได้มีการบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย อย่างครั้งนี้ในแง่ของการศึกษาธรรมชาติ นอกจากเป็นการสร้างแหล่งดำน้ำใหม่แล้วยังเป็นการเพิ่มแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ

หมู่เกาะชุมพรในแง่ความโดดเด่นมีความหลากหลายของปะการัง เกาะง่ามโดยแหล่งแล้วก็มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทั้งปะการัง ดอกไม้ทะเล ฯลฯ ครั้งนี้จึงเป็นการปกป้องปะการังที่มีอยู่เดิมให้เขาได้ฟื้นตัวขึ้นและยังเป็นการสร้างแหล่งดำน้ำใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว
ได้มีพื้นที่ศึกษาเที่ยวชมธรรมชาติโดยออกห่างจากบริเวณเดิม

อีกทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งทรัพยากรใหม่เป็นอีกสถานที่ที่จะขยายตัวของปะการังใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการร่วมกันพิทักษ์รักษาธรรมชาติ สิ่งนี้มีความสำคัญและไม่ควรละเลย ผู้อำนวยการท่านเดิมกล่าวทิ้งท้าย.

เรือหลวงปราบ...เรือแห่งประวัติศาสตร์

เรือหลวงปราบสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2487 ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ชื่อเดิมคือ USS LCI (M) -670 มีความยาว 48.46 เมตร และความสูง 16.90 เมตร ภารกิจสำคัญที่ได้ปฏิบัติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ เป็นเรือยกพลขึ้นบกในเหตุการณ์การบุกฝรั่งเศส เมื่อช่วง 15 สิงหาคม ถึง 16 กันยายน 2487

หลังจากนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงสหรัฐอเมริกาได้ส่งมอบเรือลำนี้ให้แก่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยได้รับพระราชทานชื่อ “ปราบ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สังกัดอยู่ในกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ
เรือหลวงปราบปลดระวางเมื่อปี พ.ศ. 2549.

ที่มา ทีมวาไรตี้เดลินิวส์