12 สัญญาณเตือน ให้มองหางานใหม่


12 สัญญาณเตือน ให้มองหางานใหม่
หากคุณกำลังเดินมาเจอทางสองแพร่งที่ต้องให้เลือกระหว่าง “อยู่” หรือ “ไป” จากงานที่ทำอยู่ นี่เป็นเหตุผลที่เราคัดมาเพื่อให้คุณลองใช้ประกอบการตัดสินใจ (ได้เร็วขึ้น)

1. ทุกๆ ต้นปี บริษัทมีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน แต่คุณกลับไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มมานานหลายปีแล้ว
2. ทำงานมาตั้งนาน แต่ไม่เคยได้รับความไว้วางใจให้ทำงานโปรเจ็คท์ที่ใหญ่พอจะสร้างคะแนนนิยมในตัวคุณสักครั้ง
3. คุณไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งหรือสัญญาณใดๆ จากเจ้านาย ทั้งๆ ที่ผลงาน (ที่คิดว่าเป็น) ชิ้นโบแดงเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ
4. ความสัมพันธ์ของคุณกับเจ้านายและเพื่อนๆ เริ่มง่อนแง่น พยายามสานสัมพันธ์อย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
5. ความคิดเห็นส่วนตัวหรือมุมมองของคุณไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมของบริษัท
6. ชื่อเสียงในด้านลบของคุณเริ่มแพร่สะพัดไปทั่วออฟฟิศ เผลอๆ อาจขจรขจายไปไกลถึงต่างองค์กรอีก
7. งานที่ทำเริ่มส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกาย จนบางครั้งทำให้คุณป่วยการเมือง ไม่อยากตื่นไปทำงาน หรือบางครั้งก็เครียดจนปวดไมเกรน และระบบการทำงานร่างกายส่วนอื่นทำงานแปรปรวน
8. ความมั่นคงของบริษัทเริ่มถดถอย ดูได้จากการปลดพนักงานประจำออก และเริ่มว่าจ้างฟรีแลนซ์มารับงานเป็นครั้งคราว
9. ขอบข่ายงานที่ทำซ้ำเดิมๆ และงานที่ทำไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มความชำนาญงานเฉพาะด้านงอกเงยขึ้น
10. รายได้ถูกตัด แถมบริษัทยังสุมงานก้อนโต (แต่ข้อนี้ก็ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ด้วยนะ ว่าโดนขั้นกว่าหรือเปล่า อย่างเช่น โดนเลย์ออฟ เป็นต้น)
11. งานการที่ทำติดขัดไปทุกอย่าง ปรับตัวปรับใจไม่ได้สักที จนบางครั้งทำให้คุณรู้สึกเสียศูนย์และทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ไปจากที่เคย เช่น เมื่อก่อนสงบเสงี่ยมเจียมตน แต่พักหลังเริ่มพาลและพูดจาก้าวร้าว เป็นต้น
12. ได้งานใหม่ แถมรายได้ต่อเดือนและที่ตั้งบริษัทใหม่ก็อยู่ใกล้บ้าน (!!!)

ลาออกอย่างมืออาชีพ

หากงานเลี้ยงจะต้องมีวันเลิกรา การลาออกเพื่อพักเบรกหรือเริ่มต้นใหม่ก็ต้องจบลงอย่างสวยงามเช่นเดียวกัน

● ควรแจ้งการลาออกต่อผู้บังคับบัญชาทุกสายงานที่คุณเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน พร้อมยื่นใบลาออกที่ฝ่ายบุคคล ใบลาออกที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยการระบุวัน เดือน ปี ของจดหมายลาออก วัตถุประสงค์ในการลาออก วัน เดือน ปีที่จะทำงานเป็นวันสุดท้าย พร้อมเซ็นชื่อกำกับ
● พยายามเต็มที่กับการทำงานจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายของช่วงเวลาทำงานที่เหลืออยู่
● ถ่ายทอดขอบข่ายงานที่คุณรับผิดชอบแก่ผู้มารับช่วงต่ออย่างไม่ปิดบัง
● ควรรักษาสัมพันธภาพกับเจ้านายเก่าเอาไว้ เพราะไม่แน่ว่าวันหน้าคุณและเจ้านายอาจบังเอิญโคจรมาร่วมงานหรือประสาน ประโยชน์กันอีกก็ได้ ใครจะรู้
● เช็คเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินชดเชยที่ควรได้รับ วันลาพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้ (ฝ่ายบุคคล) เงินปันผลจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ (ฝ่ายงานสหกรณ์) หรือผลประโยชน์และค่าตอบแทนอื่นๆ (ฝ่ายบัญชี) ฯลฯ
● การลาออกไม่ใช่เรื่องที่ควรนำไปโพนทะนาให้ใครต่อใครรับทราบ ทางที่ดีควรบอกเฉพาะผู้เกี่ยวข้องก็เพียงพอแล้ว
● อย่าหยิบทรัพย์สินของบริษัทใส่กระเป๋ากลับบ้านไปด้วยเด็ดขาด
ที่มา:http://women.mthai.com/views_working-women_11_148_40762_1.women