รู้เท่ากัน'โรคคอเกร็ง' ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยง

เพราะอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีความสำคัญ หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับส่วนหนึ่งส่วนใดแล้วย่อมส่งผลต่อสุขภาพนำมาซึ่งอุปสรรคในการดำรงชีวิต

“คอเกร็ง” อีกอาการความ เจ็บป่วยที่อาจถือได้ว่าเป็นภัยเงียบโดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศวัย ซึ่งในอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อส่งผลให้ร่างกายส่วนนั้นมีรูปร่างผิดปกติไปและเคลื่อนไหวได้จำกัด

รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยา ลัยมหิดล ให้ความรู้เล่าถึงอาการดังกล่าวว่า คอเกร็ง เป็นอาการปวดคออย่างรุนแรงซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและซอกคอหดเกร็งและเมื่อขยับเคลื่อนไหวคอเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการปวด

อาการปวดคออาจจะเกิด ขึ้นอย่างเฉียบพลันและอาจจะเกิดเป็นซ้ำ ๆ ได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอาจนำสู่การปวดเรื้อรังซึ่งกรณีการปวดคอเกร็งเป็นการปวดอย่างเฉียบพลัน สาเหตุมีด้วยกันหลายประการ แต่ที่มักพูดกันถึงเป็นเรื่องของหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งลำคอ

“หมอนรองกระดูกเสื่อมของคอพบได้ในคนทั่วไปนับแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปซึ่งเมื่อหมอนรองกระดูกคอเสื่อมโรคที่จะตามมาด้วยคือกระดูกงอกหรือที่เรียกกันว่าหินปูนเกาะโดยจะเกิดอยู่รอบหมอนรองกระดูกและข้อต่อซึ่งถ้ากระดูกงอกนี้ไปเบียดเส้นประสาทจะทำให้เกิดอันตรายได้

ประเด็นสำคัญคือเมื่อมีอาการปวดเกิดขึ้น ร่างกายจะมีอาการเกร็งทางกล้ามเนื้อซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเบื้องต้นต้องหยุดการเคลื่อนไหวโดยอาจนอนพักหรือใส่ปลอกคอช่วยพยุง อาจทานยาแก้ปวด ใช้ถุงน้ำร้อนประคบก็จะช่วยลดคลายอาการปวด กล้ามเนื้อก็จะคลายตัว”

ส่วนกรณีที่เกิดการปวดเพิ่มขึ้นและปวดไล่จากหัวไหล่ไปถึงแขนลงไปถึงปลายมือ หากมีอาการปวดร้าวลักษณะนี้ก็อาจแสดงให้เห็นว่ามีความเสื่อมเหล่านี้มีมากขึ้น มีหินปูนเข้าไปเบียดกดรากประสาทแขนทำให้เกิดอาการปวด รวมทั้งถ้ามีอาการชาร่วมด้วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด อีกภาวะที่ถือว่ามีความเป็นอันตรายสูงคือ การกดไขประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

“การสังเกตว่ามีการกดทับไขประสาทบริเวณนี้หรือไม่ เบื้องต้นอาจสังเกตได้จากขาทั้งสองข้างซึ่งหากมีอาการเกร็ง กระตุกของขา เดินไม่ถนัด โดยอาจทดสอบด้วยตนเองได้ด้วยการเดินต่อเท้าก้าวต่อก้าว หากไม่สามารถเดินทรงตัวได้ก็แสดงว่ามีอาการเบียดกดประสาทไขสันหลังก็ต้องรีบรับการรักษาและในกรณีนี้ก็มักต้องได้รับการผ่าตัด

กรณีการปวดธรรมดา ปวดบริเวณต้นคอมีกล้ามเนื้อเกร็ง รวมทั้งกลุ่มที่ปวดร้าวมาที่ปลายแขนจากกดทับรากประสาทส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องผ่าตัด สามารถรักษาได้โดยการทำกายภาพบำบัด ทานยาแก้ปวด ลดอักเสบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะหายจากอาการดังกล่าวได้ ”

การสังเกตอาการสิ่งนี้มีความสำคัญ หากพบว่ามีการปวดร้าวมาที่แขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา การเดินผิดปกติทรงตัวได้ไม่เหมือนเดิม ฯลฯ การสังเกตเหล่านี้จะช่วยให้รู้ว่ากรณีไหนมีความเร่งด่วนควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งการรักษาดังที่กล่าวนั้นมีด้วยกันหลายวิธี

นอกจากนี้พฤติกรรม ที่ผิดไปจากปกติ ไม่ว่าจะเป็น การนั่งทำงาน เขียนหนังสือ พิมพ์งาน นั่งโต๊ะกับเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมกัน อย่างการเขียนหนังสือติดต่อกันหลายชั่วโมง พิมพ์คอมพิวเตอร์นาน ๆ ก้มคอทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานก็อาจทำให้มีความเสื่อมของกระดูกคอเกิดขึ้นได้ง่าย

สาเหตุของการเกร็งของกล้ามเนื้อในกรณีอุบัติเหตุการเล่นกีฬาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อคอหรือเกิดจากการเอี้ยวคอผิดท่าก็อาจเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อคอได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อีกภาวะที่พบบ่อยครั้งและระยะหลังก็มีการกล่าวกันถึงมากขึ้นคือ ภาวะพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยมักจะเกิดขึ้นได้นับแต่ บริเวณท้ายทอยด้านหลังทั้งสองข้าง มาถึงต้นคอ สะบักทั้งสองข้าง รวมถึงหัวไหล่ ซึ่งลักษณะของการปวดดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเฉพาะที่สามารถตรวจพบได้ที่เรียกว่าพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบที่มีจุดกดเจ็บ ภาวะนี้เป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อร่างกาย นอกจากจะสร้างความรำคาญ ใช้งานไม่ถนัด อ่อนเพลียง่าย และส่วนใหญ่จะปวดมากตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

ในความเจ็บปวดดังกล่าวที่เป็นเรื้อรังยังพบว่ามีความสัมพันธ์ต่อจิตใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังมักจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามสามารถที่จะ รักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้นหากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากสาเหตุเกิดจากพังผืดของกล้ามเนื้อมีการหดตัว เกร็งเป็นก้อน หลักการรักษาก็จะต้องผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อเหยียดตัวออก

การรักษาเบื้องต้นก็จะมีท่ากายบริหารที่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย รวมทั้งการใช้ความร้อนประคบหรืออาจใช้การนวดกดจุดคลายกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็ง หรือการฉีดยาชาลดการปวดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการรักษาให้ห่างหายจากอาการปวดเหล่านี้

ดังนั้นก่อนจะต้องเสี่ยงหรือเผชิญกับโรคคอเกร็ง อาการปวดคอที่ไม่เพียงสร้างความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันก็คงจะต้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

หันมาสนใจดูแลรักษาสุขภาพไม่มองข้ามความสำคัญของการพักผ่อนที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ร่วมกับกายบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง รวมทั้งการรับประทานอาหารที่สะอาดหลากหลายมีประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งนอกจากจะช่วยให้ห่างไกลจากอาการดังกล่าวแล้วยังเป็นอีกเกราะป้องกันโรคภัยต่าง ๆ อีกด้วย.

ทำงาน-พักผ่อนให้พอดี หลีกหนีโรค 'เบิร์น เอาท์'

เพราะสาว ๆ ยุคใหม่ต้องทำงานทั้งนอกบ้านในบ้านแถมยังต้องดูแล ลูก ๆ ควบคู่ไปด้วยไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่เพียงพอจนเกิดอาการเหนื่อยล้า สมองไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความเครียด นี่คือสัญญาณเตือนภัยว่าจิตใจของเรากำลังเสี่ยงเป็น โรคเบิร์น เอาท์ ซินโดรม “Burn Out Syndrome” ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน เพราะอาจลุกลามเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข ผู้อำนวยการคลินิกเฉพาะโรค ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค “Burn Out Syndrome” ว่า Burn Out หมายถึง การทำงานหนักมากเกินไปไม่ได้สัดส่วนกับการพักผ่อน จนเกิดอาการสมองไม่แล่น ความจำไม่ดี อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับ นักจิตเวชชาวอเมริกัน เฮอร์เบิร์ต เจ ฟลอยเดนเบอร์เกอร์ ได้นำชื่อ Burn out มาใช้ในการรักษาทางจิตเวชเมื่อปีค.ศ. 1974 ซึ่งก็คือโรคจิตทางหนึ่งมักเกิดกับคนที่ตั้งความหวังไว้สูงเกี่ยวกับตัวเองและต้องการความเพอร์เฟกต์จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจ

จริง ๆ แล้วคนไทยมักมีอาการ “Burn Out” โดยไม่รู้ตัว เพราะคนไข้ที่มาพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่มักเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้ว นอกจากนี้หญิงไทยยังมีโอกาสเป็นโรค Burn Out Syndrome สูงเพราะต้องแบกภาระมากมายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคจิต โรคเครียด โรคประสาทมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งถ้าคนเราทำงานมากกว่าสัดส่วนของการพักผ่อนก็เกิดอาการนี้ได้ แต่หากทำงานแล้วพัก เช่น ทำงาน 1 ชั่วโมงควรใช้สมอง 45 นาที แล้วพัก 10-15 นาที สมองจะได้พักและขจัดเมตาบอลิซึ่มของเสียต่าง ๆ ออกไปซึ่งควรทำเช่นนี้ทุก ๆ ชั่วโมง วันหยุดงานก็เช่นกันทั่วโลกทำงานกัน 5 วันพัก 2 วัน ใน 1 สัปดาห์ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่า Burn Out ที่ไม่ได้สัดส่วนคือทำงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาหยุดพักหรือพักผ่อนไม่เพียงพอจะหมดเรี่ยวแรงและพลังไปในที่สุด

หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้มากกว่า 100 โรค เช่น โรคเกี่ยวกับหู โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โดยสัญญาณแรกคือหมดพลัง ไม่กระตือรือร้น เฉื่อยชา ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนแรง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ประสาทเครียด ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนมากคนที่เป็นโรค Burn Out มักหาทางออกปลอบจิตตัวเองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ กินยานอนหลับ กินอาหารที่มากเกินไปและสูบบุหรี่จัด ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีในการรักษา

ดังนั้นข้อแนะนำในการรักษาคือ ควรทำงานและพักผ่อนให้ได้สัดส่วน ซึ่งสัดส่วนที่พอดีของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนอาจมากหรือบางคนอาจน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลในการจัดความสำคัญของงานว่างานใดควรทำก่อนทำหลัง หากจัดสรรเวลาได้ดีแล้วควรมีกิจกรรมคลายเครียด เช่น พูดคุยหรือออกกำลังกายร่วมกับเพื่อน ๆ เพราะการออกกำลังกายทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการให้คุณค่าแก่ตัวเราเอง

สาว ๆ ทราบแบบนี้แล้วอย่าทำงานจนโอเวอร์มากเกินไป เพราะไม่ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมาอีกมากมายทีเดียวค่ะ.

- สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก จัดโครงการ “พลังเลือดใหม่...ถวายแด่พ่อของแผ่นดิน” เนื่องในโอกาสมหามงคลครบ 7 รอบพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2554 ประจวบกับปี 2554 นี้เป็นปีที่กรมแพทย์ทหารบกมีอายุครบ 111 ปี ในวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา จึงขอเชิญชวนนิสิตนักศึกษา ทหาร และประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคโลหิตที่ กองธนาคารเลือด สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนธันวาคม 2554 สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2354-7572

- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการเรื่อง “นวัตกรรมสู่การป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย” พร้อมเปิดตัว “โรบอตเทคโนโลยีสุดล้ำ ระบบการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่สมบูรณ์แบบเครื่องแรกในประเทศไทย” ที่ทำให้ผลการตรวจมีความรวดเร็ว แม่นยำ ได้มาตรฐาน ใน วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 10.00-12.00 น. ณ Grand Millennium Hotel สุขุมวิท (อโศก) สนใจสอบถามโทร. 08-1377-2111

- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขอเชิญผู้สนใจฟังบรรยายเรื่อง “ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลสมองเสื่อม” ใน วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 13.00–16.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับ 20 ท่านแรกที่สำรองที่นั่งล่วงหน้าจะได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นเรื่องความจำเสื่อม (ผู้ที่ได้รับการตรวจต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) สำรองที่นั่งได้ที่ โทร.0-2667-2000

- โรงพยาบาลเจ้าพระยา ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม “โครงการครอบครัวยุคใหม่...สุขใจเมื่อตั้งครรภ์” ครั้งที่ 4 ใน วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 09.00-12.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลเจ้าพระยา สำรองที่นั่งได้ที่คลินิกสูตินรีเวชเที่ยงคืน โทร.0-2434-1111 ต่อ 1208, 1218

- โรงพยาบาลไทยนครินทร์ร่วมกับ S-26 Mom ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์และผู้สนใจร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “5 สัมผัส สร้างลูกฉลาดตั้งแต่ในครรภ์” ใน วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 08.30–12.00 น. ณ ห้องประชุม A ชั้น 4 โรงพยาบาลไทยนครินทร์ บางนา-ตราด กม. 3.5 สำรองที่นั่งฟรีได้ที่ โทร.0-2361-2727 ต่อ 3042, 3056
ที่มา เดลินิวส์