"รุ่งมณี เมฆโสภณ" แนะวิธีสอนลูก ไม่ตกเป็นเหยื่อของ 'สื่อ'
นับวันข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย ต่างทะลักเข้ามาอย่างท่วมท้น และเข้าถึงทุกครอบครัว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่หนีไม่พ้น ซึ่งมีทั้งข่าวสารที่ดี และข่าวสารที่แฝงผลประโยชน์ ถึงขั้นโน้มน้าว และเปลี่ยนความคิดได้ ดังนั้น ถ้าขาดการรู้เท่าทัน หรือวิเคราะห์ไม่เป็น อาจส่งผลร้ายต่อคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กได้ รุ่งมณี เมฆโสภณ
เรื่องที่กล่าวไปข้างต้น ถือเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร เห็นได้จาก ณ เวลานี้ สังคมต่างให้ความสำคัญ และรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อกันมากเป็นพิเศษ เพราะข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย สามารถส่งผลต่อเด็กได้หลายด้าน ทั้งความคิดและการกระทำ ในกรณีนี้ "รุ่งมณี เมฆโสภณ" สื่อมวลชนอิสระ ได้ให้ทัศนะว่า สถานการณ์ข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีทั้งข่าวลวงและข่าวจริง ถ้าพ่อแม่และเด็กรู้ไม่เท่าทัน อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวสารจากสื่อที่นำเสนอได้
"ข่าวสารจากสื่อ ถึงแม้จะมีการจัดเรตติ้ง ก็ยังมีหลุดรอดอยู่บ้าง ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็จะมองไม่เห็นปัญหา รวมไปถึงช่องว่างในครอบครัว ที่พ่อแม่กับลูกไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ด้วยกัน ต้องอยู่กับพี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ ทำให้บางที อาจปล่อยให้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก โดยไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่ตามมา"
ทั้งนี้ เพื่ออธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงคำว่า "รู้เท่าทันสื่อ" ได้ชัดมากขึ้น คุณรุ่งมณี อธิบายว่า การรู้เท่าทันสื่อ คือกระบวนการที่ผู้รับสารจะต้องวิเคราะห์ และประเมินสื่อที่มาในรูปแบบที่หลากหลายให้เป็น เช่น เกือบทุกสื่อจะมีโฆษณาแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งแฝงในแบบที่เรียกกันตามภาษาวันรุ่นว่า "เนียนมากๆ" ซึ่งผู้รับสารเองจะต้องรู้ว่า โฆษณาแฝงเหล่านั้น เป็นเพียงแค่การประชาสัมพันธ์หรือการมอมเมา ไม่ใช่ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และนำไปใช้ได้จริง
ดังนั้น วิธีการสอนลูกให้รู้เท่าทันสื่อ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก ไม่สามารถบอกเป็นข้อๆ เหมือนกับข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ในคู่มือ แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเลย ซึ่งพี่รุ่งแนะนำว่า พ่อแม่ควรมีให้เวลาเพื่อที่จะมานั่งพูดคุย วิเคราะห์แลกเปลี่ยน หรือแบ่งปันข้อมูลกับลูกบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกนั่งรับสื่อเพียงลำพัง หรือรับสื่อช่องทางเดียว ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ต้องปลูกฝังให้รู้เท่าทัน เพื่อที่โตขึ้นจะสามารถวิเคราะห์ได้เองว่า สิ่งไหนที่สื่อนำเสนอ ควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะเด็กต้องเข้าสังคม และมีกลุ่มเพื่อน
"ปัญหาใหญ่ ณ เวลานี้คือ ตัวพ่อแม่เอง ไม่มีเวลาอยู่กับลูก โอกาสที่จะได้บอกกล่าว หรืออธิบายถึงสิ่งที่สื่อนำเสนอว่า ดีหรือไม่ดีจึงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องเร่งทำมาหากิน ในขณะที่ตัวเด็กเองก็ยุ่งอยู่กับวิถีของการแข่งขันด้านการศึกษา เด็กจึงรับข้อมูลข่าวสารค่อนข้างจะฉาบฉวย เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะรู้เท่าทันจึงมีน้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ การตามกระแสต่างๆ จึงเกิดตามมา รวมถึงพ่อแม่บางคน มักจะปล่อยให้ลูกนั่งรับสื่อชนิดเดียว หรือช่องทางเดียว ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะเด็กจะมีแง่มุมหรือแง่คิดทางเดียว"
ทางที่ดี พ่อแม่ควรแบ่งเวลา และพร้อมที่จะตอบคำถามในสิ่งที่ลูกสงสัยให้มากขึ้น ไม่ใช่ตอบแบบข้างๆ คูๆ หรือตอบเพื่อให้ผ่านไป แต่ถึงกระนั้นถือเป็นเรื่องยากพอสมควรในสังคมระบบทุนนิยม แต่ถ้าพ่อแม่ทำได้ ก็จะเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของลูก ขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องหาความรู้ในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อเสริมด้วย เช่น ตัวพ่อแม่ต้องแยกแยะให้เป็นว่า สื่อไหนดีหรือไม่ดี และคัดกรองให้เป็น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสอนลูกให้รู้เท่าทันข่าวสารจากสื่อต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี การที่พ่อแม่นั่งวิเคราะห์ข่าวสารร่วมกันกับลูกอยู่เสมอ ถือเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะข่าวการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ไม่ควรยัดเยียดอคติ ความคิด หรือความเห็นส่วนตัวให้ลูกฟัง เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว การใส่ข้อมูลให้กับเด็กเร็วเกินไป อาจส่งผลร้ายต่อเด็กในอนาคตได้
ดังนั้นหน้าที่หลักของพ่อแม่ที่ควรทำคือ บอกเล่าเรื่องราว หรือภูมิหลังของเรื่องนั้นๆ ให้ลูกเข้าใจอย่างง่ายๆ และตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในข่าว หรือเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น เพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจความเป็นมาได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเปรียบเทียบให้ลูกคิดวิเคราะห์ให้เป็น จากการเปิดรับสื่อหลากหลายช่องทาง ไม่ปล่อยให้ลูกรับสื่อช่องทางเดียว
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์/http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000022429
ละครเรื่อง นางอาย
-
อ่านละครเรื่อง นางอาย[ตอนล่าสุดคลิก] ละครเรื่อง นางอาย บทประพันธ์โดย นราวดี
ละครเรื่อง นางอาย บทโทรทัศน์โดย คฑาหัสต์ บุษปะเกษ ละครเรื่อง นางอาย
กำกับการแสด...