สมาธิสั้นสร้างสรรค์ผลงานอัจฉริยะ

สมาธิสั้นสร้างสรรค์ผลงานอัจฉริยะ
เจมส์ ดีน พระเอกจอมขบถของฮอลลีวูดที่นักจิตวิทยาเชื่อว่ามีร่องรอยของโรคสมาธิสั้นอ่อนๆ
บีบีซี นิวส์ – นักจิตวิทยาระบุโรคสมาธิสั้นอาจเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของอัจฉริยะอย่างไบรอน, ปิกัสโซ หรือกระทั่งเคิร์ต โคเบน

ศาสตราจารย์ไมเคิล ฟิตซ์เจอรัลด์ เชื่อว่าคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีความสามารถในการโฟกัสสิ่งที่สนใจสูงมาก

นักวิชาการจากทรินิตี้ คอลเลจ ดับลินเสริมว่า ชีวิตของผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น จูลส์ เวิร์น และมาร์ก ทเวน ดูเหมือนบ่งชี้ถึงความผิดปกติดังกล่าว

กระนั้น ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาผู้นี้กล่าวว่า คุณลักษณะพิเศษดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่เป็นโรคสมาธิสั้นอ่อนๆ เท่านั้น

ปกติแล้วเชื่อกันว่าโรคสมาธิสั้นบั่นทอนชีวิต โดยอาการของการเพิกเฉยต่อสิ่งรอบข้างอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ฟิตซ์เจอรัลด์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณลักษณะที่ดีของโรคสมาธิสั้นในที่ประชุมวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ประจำปีของรอยัล คอลเลจ ออฟ ไซเคียทรีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างอิงกรณีของเซอร์ วอลเตอร์ รอลี นักเดินเรืออังกฤษในช่วงค.ศ. 1552-1618 ที่ทำการปล้นเรือสเปน, โธมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์อเมริกันที่ค้นคิดหลอดไฟฟ้า, ออสการ์ ไวด์ นักเขียนบทละครชาวไอริช, เจมส์ ดีน นักแสดงหนุ่มจอมขบถแห่งฮอลลีวูด และกระทั่งเช กูวารา วีรบุรุษนักปฏิวัติแห่งอเมริกาใต้

“ยีนแบบเดียวกับที่พบในโรคสมาธิสั้นอาจเกี่ยวพันกับพฤติกรรมกล้าเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหรือการทำร้ายตัวเอง หรือบางครั้งทำให้คนๆ นั้นทำผิดกฎหมาย เสพสารเสพติด แต่ขณะเดียวกัน ลักษณะทางพันธุกรรมแบบนี้ก็อาจนำไปสู่แนวความคิดที่ปฏิวัติวงการในแวดวงศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการสำรวจ”

ศาสตราจารย์ฟิตซ์เจอรัลด์ยังบอกอีกว่า เคิร์ต โคเบน ศิลปินผู้เหลือแต่เพียงชื่อแห่งวงเนอร์วานา มีความสามารถอย่างน่าอัศจรรย์ในการโฟกัสการเขียนเพลง

“คนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีอาการของการละเลยไม่ใส่ใจสิ่งรอบข้าง แต่บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้สามารถมีสมาธิมุ่งมั่นอย่างแรงกล้ากับบางเรื่องที่สนใจ

“แน่นอนว่าโรคสมาธิสั้นไม่ใช่หลักประกันของการเป็นอัจฉริยะ แต่ความมุ่งมั่นในงานอาจทำให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ระดับอัจฉริยะ”

แม้การวินิจฉัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อาจมีข้อบกพร่องสำคัญ แต่ศาสตราจารย์ฟิตซ์เจอรัลด์ชี้สัญญาณบางอย่าง เช่น ‘ชีวิตยุ่งเหยิง’ ของลอร์ด ไบรอน กวีและนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ ด้วยหลักฐานจากการที่ไบรอนมีปัญหาตั้งแต่ที่โรงเรียน และการก่ออาชญากรรมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

ขณะที่เซอร์ วอลเตอร์ ราลีมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น แต่ขณะเดียวกันการแสวงหาแรงกระตุ้นใหม่ๆ อย่างไม่รู้จักพอก็ทำให้เขากลายเป็นนักเดินเรือ นักผจญภัน และนักสำรวจชื่อดัง

อนึ่ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิชาการนำหนังสือประวัติศาสตร์มาเป็นตัวอย่างของเหล่าคนดังที่อาจถูกหล่อหลอมมาจากความผิดปกติทางจิต

ศาสตราจารย์ฟิตซ์เจอรัลด์ระบุในหนังสือที่เขียนออกมาในปี 2004 ว่าคีตกวีอมตะ โมสาร์ต, จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนอังกฤษที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 และแอนดี้ วอร์ฮอล ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อก้องโลก ทั้งหมดนี้ล้วนมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของผู้เป็นโรคกลุ่มอาการออทิสติก

ศาสตราจารย์บาร์บารา ซาเฮเคียน นักจิตวิทยาคลินิกจากโรงพยาบาลแอดเดนบรูกในเคมบริดจ์ อังกฤษ แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยถึงข้อดีของโรคสมาธิสั้น

“คุณต้องมีบันทึกประจำวันที่โดยพื้นฐานแล้วสามารถตอบคำถามทุกอย่างที่ฉันต้องการถาม ถ้าคนๆ นั้นอยู่ตรงหน้าฉันในห้องพบคนไข้”

ศาสตราจารย์ซาเฮเคียนเสริมว่า แม้โรคสมาธิสั้นอ่อนๆ อาจมีลักษณะบางอย่างที่ดี แต่สำหรับกรณีที่มีอาการผิดปกติรุนแรงก็ถือเป็นข้อด้อยอย่างมากสำหรับคนๆ นั้น



ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000019358