กินอย่างไรไม่ให้อ้วน

กินอย่างไรไม่ให้อ้วน
ไม่อยากอ้วนควรรับประทานอย่างไร

ปัจจุบันวิถีการใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเร่งรีบของการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมของต่างชาติที่เข้ามาในบ้านเรา ทำให้การเลือกรับประทานอาหารของเราเปลี่ยนไป สังเกตได้ว่า อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมันเป็นส่วนประกอบมากขึ้น แต่ขาดอาหารที่ให้วิตามิน เกลือแร่ อาหารที่มีเส้นใย ทำให้ความสมดุลของการเผาผลาญอาหารผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ที่มาจากการรับประทานอาหารไม่ได้สัดส่วนตามมา เช่น โรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมา
ดังนั้นเราควรเลือกรับประทานอาหารที่ได้สัดส่วนในแต่ละมื้อ เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วน และสำหรับผู้ที่อ้วนแล้ว ก็ต้องควบคุมอาหาร (การควบคุมอาหารที่ดีคือ การควบคุมปริมาณของอาหารที่รับประทาน แต่ไม่ใช่การลดคุณภาพของอาหาร) โดยมีหลักง่ายๆ คือ
1. อาหารกลุ่มข้าวและแป้ง ต้องรับประทานให้พอดี ไม่ควรงดรับประทานเลย เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สำหรับข้าวและแป้งที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้เลือกที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ธัญพืช (ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ลูกเดือย) เพราะจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้าๆ
2. อาหารที่กลุ่มโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ แนะนำเลือกที่ไม่ติดหนัง ติดมัน ต้องหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก กุนเชียง เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงและมีไขมันซ่อนอยู่มาก
3. นม แนะนำให้เลือกรสจืดไขมันต่ำ หากเป็นโยเกิร์ตแนะนำรสธรรมชาติ หากต้องการมีรสชาติแนะนำให้เติมผลไม้สด
4. อาหารกลุ่มไขมัน ไขมันยังมีความจำเป็นต่อร่างกายเพื่อใช้ในการละลายวิตามินที่ใช้ไขมันละลาย แนะนำให้เลือกไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ยกเว้น น้ำมันปาล์ม กะทิจากมะพร้าว และการปรุงประกอบอาหารแนะนำให้ใช้วิธีอบ ต้ม นึ่ง ตุ๋น ย่าง ผัด แทนการทอดด้วยน้ำมันมากๆ
5. อาหารให้เส้นใยสูง ได้จากผักและผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ) เป็นส่วนใหญ่ เพราะเส้นใยโดยเฉพาะชนิดที่ละลายน้ำ เช่น เพคตินในแอปเปิ้ล สตอเบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต จะมีเมือกมาก เมือกจะทำหน้าที่เกาะโคเลสเตอรอลแล้วขับออกจากร่างกาย สำหรับเส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ เป็นยาระบายตามธรรมชาติ ป้องกันท้องผูกได้
6. ชา กาแฟ ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่ต้องไม่เติมน้ำตาลหรือครีมเทียม
7. เลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ เช่น ผลไม้ โยเกิร์ตรสธรรมชาติ
8. การวางแผนการรับประทานอาหาร หากต้องไปงานเลี้ยง โดยในวันนั้นก่อนไปงานเลี้ยงต้องเลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ เส้นใยสูงไว้ก่อน เพราะงานเลี้ยงเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีอาหารใด้บ้าง
9. มีการดัดแปลงอาหาร ให้เป็นอาหารพลังงานต่ำ เช่น น้ำสลัด พบว่าน้ำสลัดมีน้ำมันพืชเป็นส่วนประกอบ หากมีการดัดแปลงจากน้ำสลัดมาเป็นน้ำยำ ก็จะทำให้ได้อาหารที่ไขมันต่ำ
10. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง

ดังนั้นการให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหาร และมีความตั้งใจในการควบคุมน้ำหนัก ก็จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพิ่มความมั่นใจในบุคลิกภาพของตัวเอง


ขอบคุณข้อมูล :ไทยรัฐออนไลน์