ชี้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลังภัยพิบัติ'สัตว์น้ำใต้ทะเล'ตัวแปรสำคัญ!

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” กลืนกินชีวิตและทรัพย์สินสูญหายไปจำนวนมาก สร้างความสะพรึงกลัวและเศร้าสลดไปทั่วโลก อีกทั้งยังเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดถาโถมต่อด้วยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเป็นระลอก ๆ ส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย

เหตุการณ์พิบัติภัยรุนแรงครั้งนี้แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นประเทศที่มีความรู้ความชำนาญด้านเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิก็ตามแต่ก็ยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน ส่งผลให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ถึงสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวทั้งทางวิชาการที่ว่าประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ใน วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยและมีภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่งการนำเอาการตายของสัตว์น้ำจากทั่วโลกมาเป็นลางบอกเหตุก่อนเกิดพิบัติภัย ไม่ว่าจะเป็น ปลาวาฬเกยตื้นที่ประเทศนิวซีแลนด์ หรือล่าสุดเกิดเหตุปลาซาร์ดีนนับล้านตัวลอยอืดในอ่าวคิง หาดเรดอนโด ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงสาเหตุการตายของสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลว่า จากเหตุการณ์ที่พบว่ามีปลาจำนวนมากลอยตายในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่บ่อยครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวมีค่าเหลือศูนย์ ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีรายงานข่าวถึงปรากฏการณ์ที่ปลาโลมาหรือปลาอื่น ๆ ลอยตายเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน

แน่นอนว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นกับโลกของเราส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมในธรรมชาติอย่างมากและที่เป็นข่าวใหญ่ก็คือ การเกิดภาวะปะการังฟอกขาว ซึ่งเกิดจากการที่อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นส่งผลให้สาหร่ายขนาดเล็กบางชนิดที่พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับปะการังไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และหากเกิดขึ้นนานวันเข้าก็จะทำให้ปะการังที่ต้องอาศัยอาหารจากสาหร่ายเหล่านั้นไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน โดยปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในปลายทางของห่วงโซ่หรือใยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ แต่การสูญพันธุ์นี้มักจะเกิดอย่างช้า ๆ และใช้เวลานานพอสมควร ไม่ได้เกิดการลอยตายพร้อมกันเป็นจำนวนมากอย่างที่เห็นในภาพ ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

หากมองโดยภาพรวมแล้ว การที่จู่ ๆ สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำจะลอยตายเป็นแพได้นั้น มักมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การได้รับสารพิษและการขาดออกซิเจนอย่างฉับพลัน ซึ่งการได้รับสารพิษแยกได้เป็นสารพิษที่เกิดโดยธรรมชาติและสารพิษที่มนุษย์ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ สารพิษที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น “ปรากฏการณ์เรดไทด์” (red tide) หรือขี้ปลาวาฬ เกิดจากการบูมของสาหร่ายหรือแพลงก์ตอนพืชที่เรียกว่า “ไดโนแฟลเจลเลท” (dinoflagellate) บางชนิด ซึ่งแพลงก์ตอนประเภทนี้เมื่อเกิดการบูมจะทำให้น้ำบริเวณนั้นเป็นสีแดงและมันสามารถปล่อยสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรงออกมาทำให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นตายได้อย่างฉับพลัน ซึ่งในอ่าวไทยเองก็พบปรากฏการณ์ เรดไทด์นี้ได้เช่นกัน

ส่วนสารพิษอีกประเภทหนึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะการที่โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่ปราศจากความรับผิดชอบปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของโลหะหนักหรือสารอินทรีย์และอนินทรีย์บางอย่างที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตโดยตรง ล้วนทำให้เกิดการลอยตายของปลาหรือสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัย ’สึนามิ“ ที่เพิ่งเกิดไปที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษที่ปกติจะถูกจำกัดอยู่บนบกลงสู่แหล่งน้ำได้ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าปรมาณู และอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ปลาลอยเป็นแพอีกได้เช่นกัน เพราะโดยทั่วไปการที่ปลาจะลอยตายขึ้นมาเป็นแพไม่น่าจะถือเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ แต่พฤติกรรมของปลาหรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปต่างหากที่หากเราสังเกตดี ๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ แต่การตายของปลาจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นถ้าจะโยงให้เข้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติน่าจะเป็นผลสืบเนื่องหลังจากภัยพิบัติดังกล่าวมากกว่า แต่ไม่ใช่ทุกกรณี เช่น ภายหลังจากการเกิดภัยพิบัติ สึนามิแล้วคลื่นของน้ำได้มีการพัดพาเอาสารแปลกปลอมที่เป็นพิษต่อปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในท้องทะเลจากเดิมที่อาจจะถูกจำกัดอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมบนแผ่นดินลงไปปนเปื้อนในทะเล ซึ่งสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลกระทบโดยฉับพลันต่อชีวิตของปลาเป็นจำนวนมากได้

สำหรับสาเหตุอีกประการของการตายอย่างฉับพลันของปลาในแหล่งน้ำที่เกิดได้จากการขาดออกซิเจน คือปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในน้ำต้องการออกซิเจนในการหายใจเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นเมื่อแหล่งน้ำขาดออกซิเจนสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ การที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำ (ค่า DO หรือ Dissolved Oxygen) นั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วมักเกิดจากการบูมของแบคทีเรียในแหล่งน้ำนั้น ๆ ซึ่งเมื่อแบคทีเรียเจริญเติบโตก็จะใช้ออกซิเจนในน้ำ แต่เพราะแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแหล่งน้ำนั้นจึงทำให้ปริมาณออกซิเจนหมดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่ในสภาพขาดออกซิเจนไปโดยปริยายและตายในที่สุด

หากเราวิเคราะห์ลงไปอีกถึงปัจจัยที่ทำให้แบคทีเรียนั้นบูมได้ก็จะพบว่าต้นเหตุอาจจะมาจากน้ำมือมนุษย์อีกเช่นกัน เพราะการที่แบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้ดีนั้นต้องอาศัยสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งคาร์บอนและไนโตรเจน โดยที่มาของสารอินทรีย์เหล่านี้อาจเกิดจากน้ำทิ้งที่ปราศจากการบำบัดของโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งโดยตรง หรืออาจเกิดภายหลังการบูมของสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำบางชนิด โดยเมื่อบูมถึงขีดสุดประชากรสาหร่ายหรือตะไคร่น้ำก็จะตายไปและกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับแบคทีเรีย

การบูมของตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายนั้นมักเกิดจากการที่มีสารอนินทรีย์ในแหล่งน้ำนั้น ๆ ในปริมาณมาก ซึ่งเปรียบได้กับการเติมปุ๋ยให้กับพืชขนาดเล็กเหล่านั้น โดยที่มาที่ไปของสารอนินทรีย์ในแหล่งน้ำดังกล่าวก็ไม่พ้นฝีมือมนุษย์อีกเช่นกัน อาจมาจากการปนเปื้อนของปุ๋ยเคมีจากการทำเกษตรกรรม การทิ้งน้ำซักล้างซึ่งเป็นแหล่งของสารฟอสเฟต หรือการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมลงในแหล่งน้ำ นอกจากนี้การปนเปื้อนน้ำมันดิบที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุของเรือบรรทุกน้ำมันก็อาจก่อให้เกิดการปกคลุมผิวน้ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจนในน้ำได้เช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มนุษย์ได้ทำลงไปล้วนส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ยิ่งประกอบกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาหลักของโลกแล้ว สิ่งแวดล้อมของเรากำลังอยู่ในจุดที่เปราะบางมาก อีกทั้งยังเกิดพิบัติภัยมาช่วยซ้ำเติมเร่งสารพิษให้สภาพแวดล้อมยิ่งแย่ลงไปอีก ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรจะเอาจริงเอาจังและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งตามธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อช่วยกันบำรุงรักษาให้อยู่กับเราไปชั่วลูกชั่วหลาน.

.....................

พิษภัย 'สารกัมมันตรังสี' รั่วไหลลงทะเล

หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น กรณีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดนี้ หากมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล แต่จะรุนแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระดับของปริมาณสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนลงไปในมหาสมุทร ถ้าเกิดขึ้นในปริมาณไม่มากนัก การตายของประชากรปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยฉับพลันก็อาจไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีการปนเปื้อนรุนแรงก็สามารถทำให้เกิดการลอยตายของปลาได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน อย่างในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ถ้าภายหลังพบการลอยตายของปลาใกล้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็ถือเป็นการเตือนภัยได้อย่างดีว่ามีการปนเปื้อนในระดับที่รุนแรงพอสมควร อาจต้องเตือนภัยถึงเรื่องการบริโภคสัตว์ทะเล รวมถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน.

...................
ที่มา เดลินิวส์
ทีมวาไรตี้