เติมปุ๋ยดี ๆ ให้ชีวิต ทำความยากให้เป็นความ(อ)ยากผ่านมุมคิดแบบ "จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง"

เติมปุ๋ยดี ๆ ให้ชีวิต ทำความยากให้เป็นความ(อ)ยากผ่านมุมคิดแบบ "จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากอาหารแล้ว ชีวิตมนุษย์เหมือนต้นไม้ที่ต้องการปุ๋ยดี ๆ มาเติมรากใบแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยบำรุงสมอง ปุ๋ยบำรุงหัวใจ (หรือแม้แต่การนอนหลับปุ๋ย) เพราะหากขาดปุ๋ย คงยากต่อการเติบโตและงอกงาม

วันนี้เรามีปุ๋ยดี ๆ จากแง่มุมชีวิตของผู้ชายอารมณ์ศิลปิน จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง มาฝากให้เกิดแรงใจดี ๆ กัน ซึ่งเขาคนนี้เป็นที่รู้จักจากการเป็นสมาชิกวงเฉลียง กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดีที่สร้างตำนานของประเทศไทย แต่หลังจากแยกตัวออกจากวง เขายังคงมีผลงานเพลงเดี่ยวออกมาหลายผลงาน เช่น ภูเขา-ทะเล อิ่มอุ่น และงานเขียนในชื่อตัวเองและนามปากกา สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก

ปัจจุบันคุณจุ้ยเข้าไปช่วยเหลือ และเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิ หรือหน่วยงานเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งยังได้เขียนหนังสือ เป็นนักเดินทาง และนักเล่นแร่แปรรูปความฝันให้ชีวิต พร้อมกับบทบาทใหม่ที่ลงตัวกับชีวิต สมกับการเป็นนักคิดที่สั่งสมมานาน คือการเป็นครูสอนการเขียน การได้รับเชิญไปบรรยายตามสถาบันและโรงเรียนต่างๆ ไม่แปลกที่เขาจะเป็นต้นแบบของนักสร้างฝัน และแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน

แต่กว่าจะมีวันนี้ คุณจุ้ยเล่าว่า ชีวิตผ่านอะไรมามากมาย สุขบ้าง ทุกข์บ้างตามประสาคนเดินดินคนหนึ่ง แต่การจะก้าวผ่านอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนเลยก็คือ "ไม่มีสิ่งใดได้มาง่าย ๆ" แต่ในความ "ยาก" ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอด

"สมัยเรียน ผมสอบเข้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นคนสุดท้าย แต่ถึงผมจะสอบเข้าได้เป็นคนสุดท้าย ผมไม่เคยคิดว่า ผมโง่กว่าเพื่อน ผมแค่คิดว่า เพื่อนมันเก่งกว่า และผมเรียนไม่จบ ผมก็ไม่เคยคิดว่า ผมโง่กว่าคนที่เรียนจบ แค่รู้สึกว่าเพื่อนมันเก่ง มันทนเรียนได้เนาะ"

ดังนั้น หากมีคำว่า "ยาก" เข้ามาในชีวิต คุณจุ้ยจะใส่อักษร อ.อ่างเข้าไป คือทำให้ "(อ) ยาก" แทน พอเริ่มรู้สึกอยากมันจะทำให้ความยากลดน้อยลง

"คนเรายังมีพื้นที่ และทางเลือกอีกหลายทางเพื่อก้าวฝ่าอุปสรรค และความยากไปได้ ขอแค่ทำตัวเองให้ อยาก เข้าไว้แล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้นครับ" คุณจุ้ยเผย

สำหรับตัวกระตุ้นความ "อยาก" ให้คิดและทำอะไรดี ๆ ขึ้นมากมายนั้น คุณจุ้ยบอกว่า ตัวหนังสือคือตัวกระตุ้นที่ดี เพราะแต่ละเล่ม แต่ละเรื่องราวล้วนมีคุณค่า และแร่ธาตุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องอ่านให้มาก แต่อ่านแล้วอย่าไปเชื่อทั้งหมด ที่สำคัญ ควรอ่านให้มากกว่าหนังสือด้วย เช่น ใช้ปัญญาคิดให้มากว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งจะทำให้สมองได้คิด และเรียนรู้มากกว่าที่เป็นอยู่

"คนเราจะงอกงามขึ้นมาใหม่ด้วยบางสิ่งบางอย่างที่อาหารปกติให้ไม่ได้ ต้นไม้มีอาหารปกติ แต่ดอกใบไม่งามถ้าไม่มีปุ๋ย เช่นกัน ถ้าคนเราหมั่นเติมปุ๋ยความรู้ต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ชีวิตก็จะงอกงามขึ้นได้ครับ" คุณจุ้ยบอก พร้อมกับแนะนำหนังสือดี ๆ ไว้ 1 เล่ม คือ เปิดห้องเรียนวิชาความสุข ซึ่งเป็นหนังสือที่เปิดเผยเรื่องราวของห้องเรียนวิชาความสุขที่ไม่ใช่หลักสูตรการเรียนการสอนในอุดมคติ แต่เป็นหลักสูตรจริงในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของโลกอย่างฮาร์วาร์ด

ที่แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น คุณจุ้ยกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสุขของคนทำงานในทุกวันนี้ว่า หลายคนทำงานหาเงินโดยไม่สนใจตัวเองและคนรอบข้างเลย เมื่อเป็นเ่ช่นนี้ ความสุขที่แท้จริงก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

"ทำงานหาเงินก็ถือว่าดี แต่ถ้าทำแต่งานเพื่อหาเงิน ผมมองว่า ดูไม่เข้าท่าเท่าไร เราต้องทำงานอย่างอื่นไปพร้อม ๆ กับงานที่หาเงินด้วย เพื่อที่เราจะได้มีชีวิตที่มีความสุขในวัยใกล้เกษียณ แต่ส่วนตัวมองว่า ความสุขไม่ได้แปลว่า ไม่ทำงานหาเงินแล้วจะไม่มีความสุข หรือว่ามีเงินแล้วจะมีความสุข แต่มันมีขั้นตอนมากกว่านั้น ผมคิดว่า ทัศนคติที่มีกับงานตัวเองต่างหาก คือตัวบอกถึงความสุข"

เมื่อถามถึงนิยามความสุขของผู้ชายอารมณ์ศิลปินคนนี้ เขาให้นิยามสั้น ๆ ว่า ความสุขอยู่ที่ตัวเรา แค่ทำตัวเองให้มีคุณค่า ลดการแสวงหาความสุขลงบ้าง ไม่ช้าความสุขก็จะวิ่งเข้ามาหาเอง

"เราอย่าไปแสวงหาความสุขหรือความสำเร็จกันมาก แต่ควรทำตัวเองให้มีความหมายต่อคนอื่น เดี๋ยวความสุข และความสำเร็จมันก็จะมาเอง หรือไม่ต้องไปกังวล หรือครุ่นคิดว่า ทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข แต่ทำตัวเองให้มีคุณค่าและรื่นรมย์ไปกับชีวิตโดยไม่ต้องคิดถึงความสุข แล้วความสุขจะอยู่แค่เอื้อมครับ"

คุณจุ้ยยังบอกต่อไปด้วยว่า คนเราควรใช้มือข้างที่ไม่ถนัดบ้าง เปลี่ยนจากคนเสพเป็นคนสร้างบ้าง เช่น ถ้าชอบฟังเพลงก็ลองหัดเล่นดนตรีดูบ้าง หรือชอบอ่านหนังสือก็ลองถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนดูบ้าง แล้วเชื่อเถอะว่า สิ่งที่เกิดจากการสร้างด้วยตัวเองจะมีคุณค่าและนำความสุขมาให้

ท้ายนี้ คุณจุ้ยฝากถึงคนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังว่า บางครั้งชีวิตก็มีการติด F เหมือนกัน ติดแล้วก็ต้องเรียนใหม่ ลุกขึ้นใหม่ มันไม่ใช่คนที่ฝันแล้วจะทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้เสมอไป ซึ่งต้องใช้ความอดทน และพยายามหลาย ๆ ครั้งจนกกว่าจะสำเร็จ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความอดทนของคน ๆ นั้นด้วย

"ตอนสมัยผมไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีคนสอบเป็นแสน แต่ผมคิดว่า คู่ต่อสู้ผมไม่ใช่ 1 แสน คู่ต่อสู้ผมคือ 5 หมื่น เพราะอีก 5 หมื่นเขาได้ยอมแพ้ไปตั้งแต่ลงทะเบียนและจะเริ่มอ่านหนังสือแล้ว คิดแบบนี้ เราก็จะมีกำลังใจ และความน่าจะเป็นในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็จะเพิ่มสูงขึ้น" คุณจุ้ยเผย

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้แง่มุมดี ๆ จากผู้ชายคนนี้ติดไม้ ติดมือ ติดใจ ติดสมองกลับไปบำรุงรากใบแห่งชีวิตกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
ที่มา manager.co.th