วิธีง่าย ๆ สร้างเจ้าหนู "ไม่อายที่จะคิด"กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

วิธีง่าย ๆ สร้างเจ้าหนู "ไม่อายที่จะคิด"กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
ในโลกสมัยใหม่ หากใครเป็นคนช่างคิด และชอบสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ นับเป็นประตูแห่งโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่ก่อนที่ใครคนหนึ่งจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องได้รับการกระตุ้นอย่างถูกวิธีตั้งแต่เด็ก ในวันนี้เรามีเทคนิคสร้างเจ้าหนูช่างคิด กล้าบุกเบิกมาฝากเป็นแนวทางให้กับพ่อแม่กัน

เมื่อพูดถึงการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กในแต่ละวัย สำคัญที่สุดคือวัยเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นวัยที่มีพลังการเรียนรู้อันน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะคิด และการกระทำ หากถูกกระตุ้นไม่ถูกต้อง หรือมีเงื่อนไขที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อการปิดกั้น อาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ถูกปิดกั้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การกระตุ้นให้ลูกช่างคิด กล้าบุกเบิก คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกก่อน โดยเริ่มจาก เด็กอนุบาล ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือเครื่องมือเรียนรู้ที่เจ้าหนูวัยนี้พกติดตัวกันทุกคน วัยนี้จึงพร้อมระเบิดพลังความซนด้วยการขีดเขียน สรรค์สร้าง เล่นสนุกตามสไตล์ของเขา ซึ่งมักเป็นการหยิบฉวยวัตถุอุปกรณ์ใกล้มือมาก่อร่างสร้างผลงานใส ๆ แบบที่จิตรกรระดับโลกอาจต้องทึ่ง และแม้ผลงานการสร้างสรรค์ของวัยนี้อาจยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก แต่ที่น่าสนุกคือ วิธีคิดอันน่าอัศจรรย์ เช่น คุณอาจได้เห็นแบบร่างของหมึกยักษ์ร้อยมือช่วยคุณแม่ซักผ้า ชวนให้อมยิ้ม

ส่วน เด็กประถม เป็นวัยที่ชอบท้าทายตัวเองกับเรื่องยาก ๆ ไอเดียสร้างสรรค์ของเด็กวัยนี้จึงทวีความซ้อน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ กลยุทธ์การผลิต รวมทั้งองค์ความรู้ที่หยิบนี่ผสมนั่นจนก่อเกิดสิ่งใหม่ เห็นได้ชัดว่า วัยนี้พร้อมจะลุยเข้าหาปฏิบัติการที่มีขั้นตอนกระบวนการชัดเจนขึ้น เช่น ตั้งคำถาม วางสมมติฐาน ลงมือทำจริง สรุปผลปฏิบัติการ ต่อยอดสู่ปฏิบัติ รวมทั้งสนุกกับเทคโนโลยีทันยุคทันสมัยมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำทั้งการเล่นแบบอิสระ ให้เขาได้เล่น รื้อ ค้น หรือต่อเติมอย่างอิสระ ได้คิดวางแผน และแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง

ดังนั้น ร่างกายของเจ้าหนูจะแข็งแรงก็ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ สมองของเจ้าหนูจะปราดเปรื่องก็ด้วยการหมั่นคิด จินตนาการ เชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อบุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้โลกได้ตะลึง โดยเรามีกิจกรรมในการสร้างเจ้าหนูกล้าคิด และกล้าบุกเบิกไว้เป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ดังต่อไปนี้

- เล่นเป็นงานหลัก จะเล่นคนเดียว เล่นเป็นกลุ่ม หรือเล่นแบบอิสระ หรือเล่นกับวัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวที่สองมือน้อย ๆ หยิบฉวยก็ได้ แค่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ เช่น สนุกกับการเรียงก้อนหินในสวน ก่อกองทรายให้เป็นรูปร่างตามจินตนาการของเขา หรือรื้อค้นวงจรไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความอยากรู้สิ่งที่อยู่ด้านในของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว

- คุณอาจคิ้วขมวดว่าทำไมเจ้าหนูคว้าแปรงสีฟันด้ามเก่ามาจุ่มน้ำสบู่ขัดถูถุงเท้ามอมแมมของเขา เขาอาจจะกำลังเลียนแบบวิธีการซักผ้าของคุณแม่อยู่ก็ได้นะครับ ดังนั้น อย่าเพิ่งเบรกลูกว่า "ทำอะไรเลอะเทอะ" หรือ "ซักแบบนั้นมันผิดวิธีนะลูก" แต่ลองสังเกตไอเดียสร้างสรรค์ของเขา และปล่อยให้เขาเรียนรู้ลงมือทำอย่างเต็มที่ และเป็นอิสระดีกว่าครับ

- สิ่งของรอบกายเป็นของเล่นชิ้นวิเศษที่ลูก ๆ จะได้เล่นบทบาทสมมติ อย่างการสร้างห้องนอนส่วนตัวโดยนำเก้าอี้มาวางเป็นกำแพง ผ้าห่มผืนใหญ่เป็นเพดาน และขนหมอนเข้ามาเป็นเก้าอี้รับแขก เพียงเท่านี้เจ้าหนูก็ได้สนุกในโลกจินตนาการอันไร้ขีดจำกัด รวมทั้งได้ฝึกทักษะการวางแผน และการแก้ปัญหาไปในตัวอีกด้วย

- สนุกกับคาราวานงานศิลป์ สมุดสเกตซ์เล่มโต ๆ เฟรมวาดภาพขนาดใหญ่ ละเลงสีสันกันให้เพลิน หรือชุดแป้งโดที่ปลอดภัยไร้สารพิษ พร้อมอุปกรณ์ตัด หั่น ปั้นรูปร่างเติมเต็มจินตนาการ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่

- บล็อกไม้ หรือตัวต่อรูปแบบต่าง ๆ ของเล่นน่าสนุกที่กระตุ้นให้เด็ก ๆ คิดแบบปลายเปิด คือการคิดแบบอิสระ สนุกไม่จำกัดรูปแบบ

- เพลินอ่าน สร้างจินตนาการไม่รู้จบ ชวนเจ้าหนูแวะชอปปิ้งที่ร้านหนังสือ แล้วอย่าขลุกอยู่แต่โซนหนังสือเด็ก แต่ควรเปิดโอกาสให้เขาพบเห็นหนังสือหลาย ๆ หมวดหมู่ ซึ่งคุณอาจค้นพบศักยภาพของลูกผ่านเล่มที่เขาหยิบมาพลิกอ่าน เช่น หนังสือวิทยาศาสตร์ คู่มือทำขนม เป็นต้น

การเปิดโอกาสให้ลูก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ไม่มีโจทย์ ข้อจำกัดจะช่วยส่งเสริมความกล้า เพราะเด็กไม่มีกรอบความคิด เด็กจะไม่กลัวเพราะไม่มีเคยมีประสบการณ์จึงควรให้เขาได้ลงมือทำ ให้ความกล้าเป็นโอกาสของการแสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ แต่หากมีเงื่อนไขที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้นเป็นการปิดกั้น เช่น "อย่านะ อย่าเล่นนะ เดี๋ยวเลอะเทอะ" "อย่ารื้อของแบบนี้ได้ไหม ตามเก็บกันไม่ไหวแล้วนะ" หรือ "เห็นไหม แม่บอกแล้วว่าต้องเล่นแบบนี้เท่านั้น" เป็นต้น จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ถูกปิดกั้นจนกลายเป็นเด็กไม่กล้าคิดที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และเพื่อคนอื่น
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์