วิธีแก้สารพันปัญหาเรื่องกลิ่นตัว

วิธีแก้สารพันปัญหาเรื่องกลิ่นตัว
กำลังตั้งครรภ์อยู่ค่ะ สังเกตว่ามีกลิ่นตัวมากเหลือเกินค่ะ อยากถามคุณหมอเรื่องการดูแลไม่ให้เกิดกลิ่นตัวและการใช้ยาดับกลิ่น
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง

กลิ่นตัวเกิดได้อย่างไร

Q. ช่วงหน้าร้อนหน้าฝน ผมมักมีเหงื่อออกมากจนเกิดกลิ่นตัว อยากทราบว่ากลิ่นตัวเกิดได้อย่างไรครับ?
องอาจ / จ.สมุทรปราการ

A. ตามธรรมชาติเหงื่อนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เพราะช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ โดยปกติต่อมเหงื่อมี 2 ชนิด ชนิดแรกเรียกว่า ต่อมเหงื่อเอ็คครายน์ (eccrine) มีกระจายทั่วร่างกาย นับได้ประมาณ 2 ล้านต่อม เป็นต่อมเหงื่อที่หลั่งเหงื่อใสๆ ออกมาเวลาร้อนจัด ส่วนต่อมเหงื่ออีกชนิดเรียกว่า ต่อมเหงื่ออะโปครายน์ (apocrine) มักอยู่ตามรักแร้ รอบหัวนม ทวารหนัก และรอบอวัยวะเพศ

กลิ่นตัวทั่วไปนั้นเกิดจากการที่ต่อมเหงื่ออะโปครายน์หลั่งของเหลวสีคล้ายน้ำนมออกมา แต่เนื่องจากมีเป็นจำนวนน้อยมาก จึงไม่ค่อยได้สังเกตเห็นกัน แล้วมีแบคทีเรียตามผิวหนังออกมาย่อยสลายของเหลวนั้นทำให้เกิดกลิ่นตุๆ ขึ้นได้ พบว่าอาหารบางอย่าง เช่น หอมและกระเทียม เครื่องเทศ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วส่งกลิ่นออกมากับเหงื่อได้ เท้าที่ใส่ถุงเท้ารองเท้าอยู่ทั้งวันมีเหงื่ออับชื้นอยู่ตลอดทำให้แบคทีเรียเติบโตมาก เมื่อถอดถุงเท้ารองเท้าจะได้กลิ่นเหม็นโชยไปไกลได้ อากาศที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและฤดูฝนทำให้มีเหงื่อมากกว่าปกติ อารมณ์ที่ตึงเครียด กระวนกระวายใจ ก็ทำให้เหงื่อออกได้ พบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เหงื่อหลั่งมากขึ้นเช่นกัน แต่เหงื่อใสที่หลั่งโดยต่อมเหงื่อเอ็คครายน์นี้ช่วงแรกก็ไม่มีกลิ่น ต่อเมื่อเมื่อมีการเติบโตของแบคทีเรียจะเกิดกลิ่นตัวขึ้น พบว่าคนอ้วนและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดกลิ่นตัวง่ายกว่าคนทั่วไป

การดูแลผิวพรรณไม่ให้เกิดกลิ่นตัว

Q. กำลังตั้งครรภ์อยู่ค่ะ สังเกตว่ามีกลิ่นตัวมากเหลือเกินค่ะ อยากถามคุณหมอประวิตร พิศาลบุตรเรื่องการดูแลไม่ให้เกิดกลิ่นตัวและการใช้ยาดับกลิ่นค่ะ
อาทิตยา / จ.กรุงเทพฯ

A. ตามปกติเวลาตั้งครรภ์ ต่อมเหงื่ออะโปครายน์ที่หลั่งเหงื่อสีน้ำนมมักทำงานลดลง แต่ว่าที่คุณแม่ก็อาจส่งกลิ่นตัวได้ เพราะต่อมเหงื่อเอ็คครายน์ที่หลั่งเหงื่อใสทำงานมากขึ้น ทำให้ผิวหนังชื้นแฉะเชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดี โดยทั่วไปแนะนำว่าเวลาตั้งครรภ์ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบางและหลวมเพื่อให้เหงื่อระบายออกไปได้ง่าย ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายวันละ 1-2 ครั้ง ใช้สบู่อ่อนฟอกตามตัวและตามซอกพับ ถ้าบริเวณใดอับชื้นง่าย เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือซอกนิ้วเท้า ก็ให้ใช้แป้งฝุ่นโรยเพื่อดูแลให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้ง

เสื้อผ้าต้องซักให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้งสนิทได้ก็ดี เพราะเสื้อผ้าที่ไม่สะอาดและอับชื้นอยู่เสมอเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัวได้ นอกจากนั้นยังพบว่ากลิ่นตัวยังติดอยู่กับเสื้อผ้าได้ด้วย

การโกนขนรักแร้ช่วยลดกลิ่นตัวได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียชอบบริเวณที่อับชื้นอย่างเช่นที่รักแร้อยู่แล้ว ลดการรับประทานเครื่องเทศ เช่น หอม กระเทียม และลดการรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนเสริมให้กลิ่นตัวมากขึ้นได้ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนผสมอยู่ เช่น กาแฟ ชา และน้ำอัดลม สารคาเฟอีนกระตุ้นให้หลั่งเหงื่อได้มาก รวมทั้งงดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากก่อกลิ่นตัวแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ด้วยครับ

ถ้าดูแลรักษาตามแบบที่ว่าแล้วยังมีเหงื่อออกมากหรือมีกลิ่นตัวอยู่ ก็ควรเลือกใช้ยาลดเหงื่อ ยาดับกลิ่น หรือไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

การเลือกใช้ยาดับกลิ่นตัว

Q. อยากถามว่าควรเลือกใช้ยาดับกลิ่นตัวและลดเหงื่ออย่างไหนดีคะ?
ภัคจิรา / จ.ชลบุรี

A. ยาลดเหงื่อ (antiperspirants) ที่ขายในท้องตลาดไม่ว่าในรูปครีม รูปแท่ง โลชัน แป้งฝุ่น หรือ โรลออน มักลดการหลั่งของเหงื่อได้ดีกว่าสเปรย์พ่น แต่จะเลือกใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัว คือชอบว่าแบบใดที่ใช้ง่ายที่สุด ใช้แล้วไม่รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ ใช้แล้วไม่แสบไม่คัน เมื่อทายาลดเหงื่อแล้วเหงื่อลดน้อยลง ย่อมเป็นการดับกลิ่นตัวไปด้วยทางอ้อม อย่างไรก็ตาม หากเหงื่อออกไม่มากแต่ก็มีกลิ่นตัว ขอแนะนำให้ใช้ยาดับกลิ่นตัวโดยตรงจะดีกว่าครับ

ส่วน ยาดับกลิ่นตัว (deodorants) ไม่ลดการหลั่งของเหงื่อ ประกอบด้วยสารที่มีฤทธิ์ทำลายแบคทีเรียผสมกับสารที่มีกลิ่นหอม จึงทำให้กลิ่นตัวลดลงได้ ยาดับกลิ่นตัวในท้องตลาดก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบกับยาลดเหงื่อนั่นเอง บางครั้งอาจมีอาการแพ้ ระคายเคือง ตามบริเวณที่ทายาดับกลิ่นตัวหรือยาลดเหงื่อได้ ควรเปลี่ยนชนิดดู เลือกใช้ชนิดที่โฆษณาว่าใช้แล้วเกิดแพ้ได้น้อย (hypoallergenic products) ถ้ายังแพ้อยู่ก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของการแพ้และหาวิธีกำจัดกลิ่นตัวที่เหมาะสมต่อไป

เทคนิคต่างๆที่รักษากลิ่นตัว

Q. มีกลิ่นตัวมาก ใช้ยาดับกลิ่นแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น มีเทคนิคทางการแพทย์อะไรบ้างครับที่ใช้รักษากลิ่นตัวได้?
คุณภัทร / จ.ปทุมธานี

A. เทคนิคทางการแพทย์ที่รักษากลิ่นตัว ในกรณีที่รักษาสุขอนามัย ใช้ยาลดเหงื่อยาดับกลิ่นแล้วไม่ได้ผล เช่น การดูดไขมันเพื่อเอาต่อมเหงื่ออะโปครายน์ออก (removal of apocrine sweat glands by superficial liposuction) การผ่าตัดต่อมเหงื่ออะโปครายน์ออก (removal of apocrine sweat glands by surgical excision) ยารับประทานบางชนิด (anticholinergic or beta-blocking drugs) การใช้เทคนิคไอออนโต (iontophoresis) การผ่าตัดปมประสาทซิมพาเทติก (sympathectomy) การฉีดสารพิษโบทูลินัม หรือ โบท็อกซ์ (botulinum toxin injection) มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารผิวหนังของอเมริกา (Archives of Dermatology) ศึกษาการฉีดสารโบท็อกซ์เพื่อลดกลิ่นตัว โดยใช้อาสาสมัคร 16 คน ให้สวมเสื้อยืดผ้าฝ้ายคอปกสีขาวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาดับกลิ่นยาลดเหงื่อ ห้ามรับประทานหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง และห้ามสัมผัสกอดรัดกับคู่ครอง 2 วันก่อนและระหว่างการทดลอง หลังจากครบ 24 ชั่วโมงจะมีการดมทดสอบกลิ่นตัว (sniff test) หลังจากนั้นผู้เข้ารับการทดลองจะได้รับการฉีดโบท็อกซ์เข้าในรักแร้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านถูกฉีดด้วยน้ำเกลือเปล่า หลังจากนั้น 7 วัน คณะผู้วิจัยจะดมทดสอบกลิ่นตัวอีกครั้ง ผลการทดลองพบว่ารักแร้ด้านที่ฉีดโบท็อกซ์มีกลิ่นและมีเหงื่อลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับด้านที่ฉีดน้ำเกลือเปล่า อย่างไรก็ตามเทคนิคเหล่านี้อาจมีข้อแทรกซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงควรเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นครับ

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today