5 กลเม็ดปรับ "คุณค่า" หนังสือ พิชิตใจเด็กเบื่อเรียน

5 กลเม็ดปรับ "คุณค่า" หนังสือ พิชิตใจเด็กเบื่อเรียน แม้จะสำเร็จการศึกษามาหลายปี แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก ๆ สมัยนี้ได้มีโอกาสเปิดหนังสือเรียนของลูก เชื่อแน่ว่าหลายท่านอยากกลับไปสมัครเรียนใหม่กันบ้าง เนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป รวมถึง "หัวใจ" ของการเรียน นั่นก็คือ "หนังสือ"
หากยังจำได้ถึงหนังสือเรียนในอดีตที่คนเป็นพ่อแม่ในปัจจุบันเคยร่ำเรียนมา คงต้องนึกถึงหน้ากระดาษสีหม่น รูปเล่มคงความขลังของหนังสือ เปิดเข้ามาภายในจะปรากฏตัวหนังสือเต็มพรืด เว้นห่างช่องไฟพอให้อ่านสะดวก นาน ๆ ครั้งจึงจะปรากฏภาพสักภาพสื่อแทนความหมายของถ้อยคำนับร้อย และน้อยเล่มที่จะเป็นการพิมพ์สี่สี
แต่ในทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่ารูปแบบการเรียนที่ผ่านมาในอดีตนั้นไม่อาจใช้ให้เกิดผลได้อีกแล้วกับเด็กสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้มากกว่าเดิม การพัฒนารูปเล่ม ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังสือเรียนให้น่าสนใจจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยดึงดูดให้เด็ก ๆ "รักการเรียน" ผ่านหนังสือของเขาเหล่านั้นให้จงได้
"ตะวัน เทวอักษร" ประธานบริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตแบบเรียนกล่าวถึงรูปแบบการผลิตหนังสือที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของเด็กไทยนับวันมีแต่จะลดต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งแนวทางที่เหล่าผู้ผลิตหนังสือได้ทำการวิจัย วิเคราะห์ ตลอดจนเก็บข้อมูลจากการศึกษาต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาแบบเรียนให้มีความทันสมัยมากขึ้นนั้นประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก ๆ ได้แก่
1) การระบุเค้าโครงเนื้อหาของเรื่องที่จะเรียน 2) มีภาพประกอบที่ชัดเจน 3) การใช้สีสันต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ 4) การแสดงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยกราฟหรือแผนภูมิ และ 5) การออกแบบรูปเล่มที่ดีและพิมพ์บนกระดาษถนอมสายตา
"ในหลาย ๆ วิชา โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ น้อยครั้งที่จะมีการรวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ เชื่อมโยงให้เห็นชัดว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อน - หลัง และเหตุการณ์เหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร การใช้กราฟ หรือแผนภูมิในแบบเรียนสมัยใหม่จะช่วยให้เด็กเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น"
ด้วยรูปเล่มและแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ส่งผลให้หลายวิชาที่เด็กไทยเคยท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองเช่น วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นการเรียนโดยใช้สมองวิเคราะห์ ผ่านสื่อที่ได้มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาเอาไว้ด้วยกัน และมีผลทำให้รูปแบบคำถามที่จะทดสอบความเข้าใจของเด็กเปลี่ยนไป แทนการตั้งคำถามว่า ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นในปี พ.ศ. ใด บ้าง ไปสู่การถามถึงเหตุผลของการเสียกรุง เป็นต้น หรือหนังสือวิชาวิทยาศาสตร์ที่พิมพ์ในระบบสี่สี เราจึงได้เห็นภาพของสิ่งของที่ชัดเจน พร้อมสีสันที่สมจริงหนังสือมีสีสัน ดึงเด็กรักอ่าน
ดังนั้นเมื่อยกภาพของดอกไม้มาชี้ให้เห็นส่วนประกอบว่า ส่วนใดมีชื่อเรียกว่าอะไร ก็จะทำให้เด็ก ๆ นึกภาพตามได้ง่ายมากขึ้น แม้จะไม่เคยเห็นดอกไม้ชนิดนั้น ๆ มาก่อน ไม่เพียงเท่านั้น การแทรกกิจกรรมทดลองตอนท้ายของแบบเรียนเพื่อทบทวนความเข้าใจของเด็ก ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เด็กเข้าใจการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นด้วย
"การใช้กราฟหรือแผนภูมิเข้ามาช่วย อุปมาอุปไมยได้กับการให้เด็กเห็นภาพของปลาทั้งตัว แล้วค่อยมาชี้ว่า ส่วนใดอยู่ติดกับส่วนใดบ้าง และแต่ละส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร เด็ก ๆ จะได้เห็นว่า เนื้อหาที่เขาเรียนมาทั้งหมดนั้น เมื่อมาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ภาพรวมของมันเป็นอย่างไร"
รู้จัก 5 หลักพัฒนาเด็กท่องจำสู่เด็กคิดเป็น
สำหรับการพัฒนาหนังสือไปสู่แนวใหม่ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้นนั้น คุณตะวันกล่าวว่า ส่วนสำคัญที่สุดหนีไม่พ้นการระบุเค้าโครงเนื้อหาของเรื่องที่จะเรียนเอาไว้ด้านหน้าของหนังสือ เพื่อใช้เป็นแผนที่เชื่อมโยงเนื้อหาทุกส่วนของหนังสือเข้าด้วยกัน เด็กจะได้ทราบว่า ตอนนี้เรียนอยู่ที่จุดใด และจะเดินไปยังเนื้อหาจุดต่อไปด้วยเหตุผลอะไร
การเสริมด้วยการภาพประกอบที่ชัดเจนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังสือเรียน "น่าอ่าน" มากขึ้น ยกตัวอย่างการอธิบาย "ศิลาแลง" ของหนังสือเรียนในอดีต ที่น้อยครั้งจะสามารถหาภาพมาบรรยายให้เห็นได้ชัด ทำให้เด็กไม่สามารถจินตนาการ หรือมองภาพรวมได้อย่างชัดเจน
"การอ่านอาจทำให้เราเกิดจินตนาการ แต่หากไม่มีภาพประกอบ เราก็ต้องนึกภาพขึ้นเอง แต่การที่หนังสือเรียนมีภาพประกอบจะกระตุ้นให้เกิดการจำ และการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว" คุณตะวันกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น การพิมพ์ในระบบใหม่ซึ่งใช้สีสันต่าง ๆ เข้ามาช่วยมีผลทำให้หนังสือดูน่าเรียนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการออกแบบกราฟหรือแผนภูมิต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์เข้าไว้ด้วยกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาแบบเรียนของไทยต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และสุดท้ายจึงนำสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเหล่านั้นมารวบรวม และเข้าสู่กระบวนการออกแบบจนกลายเป็นหนังสือที่มีคุณค่าตามเทรนด์ใหม่ในที่สุด
"สำหรับเด็ก ๆ การสอนให้เขารู้ สอนให้เขาจำมันเป็นแค่จุดเริ่มต้น การเรียนการสอนที่ถูกต้องคือต้องทำให้เขาอยากไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติม และคิดต่อยอดได้ เพื่อที่ เขาจะได้ใช้ทักษะนี้ขยายความรู้ของเขาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด จึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยในอนาคต" คุณตะวันกล่าวทิ้งท้าย


ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์