ทำอย่างไร…เมื่อลูกชอบโขกหัวตัวเอง /ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
คุณพ่อ คุณแม่บางท่านอาจเผชิญปัญหาว่าลูกชอบ ดึงผม โขกหัวตัวเองกับพื้น ฝาผนัง หรือกับเก้าอี้บ้าง ตีตัวเองบ้าง หรือบางคนชอบเอาอะไรเขี่ยที่หู ทั้งๆที่ไม่มีอะไรเข้าหู และเป็นห่วงว่าลูกเราปกติดีหรือไม่ พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากอะไร และเป็นอันตรายหรือไม่ วันนี้ผู้เขียนขอสรุปรายละเอียดสั้นๆดังนี้
ช่วงอายุของลูกในการทำพฤติกรรมดังกล่าว หากลูกยังอยู่ช่วง ทารกและทำพฤติกรรมเหล่านี้ ลูกอาจจะอยากทดลองจับสิ่งของต่างๆรอบตัว ให้สัมผัสกับอวัยวะของร่างกาย เป็นการสำรวจว่าสิ่งรอบตัวเป็นอย่างไร เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เด็กทารกบางคนชอบเอาหัวโขกกับเปล เพราะการฟังจังหวะและท่วงทำนองบางอย่าง ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลูกอาจมีพฤติกรรมดังกล่าวสักพักหนึ่ง แล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะหายไปเองแต่หากลูกอยู่ในช่วงวัยคลานและเดิน คือประมาณ 10 เดือนขึ้นไป เด็กวัยนี้อาจมีพฤติกรรมอาจชอบโขกหัวกับพื้น ประตู หน้าต่าง ดึงผมตัวเอง หรืออาจหยิกหน้าตัวเอง พฤติกรรมดังกล่าวอาจมีสาเหตมาจาก
• การเรียกร้องความสนใจ
• การระบายอารมณ์ที่ไม่พอใจ
• ต้องการเอาชนะหรืออยากได้อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม
• เด็กมีความบกพร่องการอารมณ์ หรือเป็นเด็กพิเศษ
วิธีแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวอาจทำได้ดังนี้
• หยุดพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่ แล้วบอกลูกว่า อย่าทำร้ายตัวเองนะ แล้วเดินจากไป
• เพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น คือไม่สนใจเลย
• อย่าเสริมแรงต่อพฤติกรรมนั้นเป็นอันขาด คุณพ่อคุณแม่อาจสงสารลูก และเข้าไปปลอบโยนหรือเอาใจ ตามใจ อุ้ม การแสดงอารมณ์โกรธตอบลูก หรือเสริมแรงต่างๆ เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และยากต่อการแก้ไข
• อย่าล่อโดยการให้รางวัล หรือโดยการให้ความสนใจ อย่าบอกว่าหากหยุดทำร้ายตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะให้รางวัล เพราะลูกจะเรียนรู้ว่า การเรียกร้องโดยการทำพฤติกรรมนั้นๆ จะได้รับรางวัลตอบแทน
• เสริมแรงลูกโดยการสังเกตพฤติกรรมที่ดี ที่ลูกทำ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นการช่วยเก็บของเล่นเข้าที่ การแต่งตัวเอง แล้วให้รางวัลแทน
• เมื่อลูกเรียนรู้ว่าเจ็บ ลูกจะหยุดพฤติกรรมนั้นไปเอง
• คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลใจมากเกินไป เพราะลูกจะไม่ตายโดยการโขกหัว แต่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวมากขึ้นหากให้ความสนใจ
• พยายามแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริง อย่าแก้ที่ปลายเหตุ เช่นลูกอาจจะอิจฉาน้องที่เพิ่งเกิดมาใหม่ ลูกอาจจะอยากให้อุ้ม หรือบางทีลูกอาจจะอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ เป็นต้น
• เมื่อทราบสาเหตุแล้ว หากโอกาสพูดกับลูกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากต้องการของบางอย่าง
• เมื่อเกิดพฤติกรรมดังกล่าวลต้องแน่ใจว่าเด็กอยู่ในที่ๆ ปลอดภัย และจะไม่เกิดการบาดเจ็บ
• อาจใช้วิธี จัดเวลาให้เด็กมีมุมสงบ หรือ ( Time Out ) โดยการให้เด็กเข้าไปในที่ๆสงบประมาณ1-2 นาที เพราะเด็กวัยนี้ไม่สามารถอยู่นิ่งได้นานๆ แล้วหลังจากนั้นอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมต้องอยู่ในมุมสงบ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์คืออะไร เด็กบางคนเข้าใจและจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นอีก
• เด็กอาจมีพฤติกรรมนี้ช่วงระยะหนึ่งแล้วเมื่ออายุประมาณ 2- 2ขวบครึ่งหรือ 3 ขวบจะหายไปเอง
• หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจมาก หรือพฤติกรรมดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น หลังจากเพิกเฉยหรือไม่สนใจแล้ว ควรจะปรึกษาหมอเด็ก เพราะเด็กอาจจะมีภาวะออติสติก หรือเป็นโรคทางระบบประสาทได้
ผู้เขียนรู้จักครอบครัวหนึ่งที่มีลูกชายคนเดียว ซึ่งลูกชายมีพฤติกรรมที่ชอบโขกหัวตัวเองกับ พื้น ประตูและฝาผนัง ที่บ้านของครอบครัวนี้เป็นบ้านไม้ คุณแม่พยายามใช้วิธีการมากมายที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมนี้ เพราะเป็นห่วงสงสารกลัวว่าลูกจะเจ็บและเป็นอันตราย แต่ก็ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมดังกล่าวนี้ได้ วันหนึ่งน้องไปศูนย์การค้าไปร้องดิ้นพราดๆอยู่ที่พื้นแล้วโขกหัวที่พื้นซีเมนต์ คราวนี้น้องคงเจ็บ เพราะที่บ้านเป็นไม้ไม่รู้สึกอะไร จึงหยุดพฤติกรรมนั้นทันทีแล้วไม่โขกหัวตัวเองอีกเลย กว่าจะหยุดพฤติกรรมนั้นได้ เล่นเอา คุณพ่อคุณแม่หัวใจจะวาย บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องอดทน ต้องรักลูกและมีระเบียบวินัยด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อหมดพฤติกรรมนี้แล้วลูกอาจมีพฤติกรรมอื่นมาให้คุณพ่อคุณแม่แปลกใจอีก แต่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...