ขึ้นชื่อว่า "เด็ก" เป็นธรรมดาที่พอถึงช่วงวัยหนึ่ง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หนักใจกับการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ไม่เชื่อฟัง ร้องโวยวาย อาละวาด หรือแสดงพฤติกรรมโดยไร้เหตุผล เพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ จนบางครั้งตัวพ่อแม่เองต้องพบกับทางตัน และรับมือไม่ถูก เรียกได้ว่า แก้เท่าไร ลูกก็ยังคงมีพฤติกรรมเดิมให้รำคาญใจซ้ำแล้วซ้ำอีก

ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกในเชิงสังคม ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น ทำท่าเอานิ้วจะแหย่ปลั๊กไฟ เพื่อให้พ่อแม่หันมาสนใจ ในขณะที่เด็กบางคนอาจเรียกร้องความสนใจ ด้วยการหาเรื่องทะเลาะกับพี่น้อง ดังนั้น สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกก่อนว่า ลูกแสดงออกมาเพื่อต้องการ หลีกเลี่ยง หรือตอบสนองต่อความต้องการอะไรบางอย่างหรือไม่
"พ่อแม่บางคนมักลืมตัวไปว่ากำลังสร้างเงื่อนไขอะไรบางอย่างให้ลูก เช่น ตีโพยตีพาย หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกทำมากเกินไป ทางที่ดี ควรสังเกตลูกว่า ทำเพื่อเรียกร้องหรือไม่ และเมื่อพบว่า ลูกเรียกร้องด้วยวิธีนี้ เช่น แหย่ปลั๊กไฟ พ่อแม่ต้องป้องกันไม่ให้ลูกสามารถเอานิ้วเข้าไปแหย่ปลั๊กไฟได้ รวมทั้งลดความสนใจที่จะตื่นเต้นไปกับ สิ่งที่ลูกกำลังทำให้น้อยลง แต่พยายามเพิ่มความสนใจในพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของลูกแทน" คุณหมอกล่าว
ปรับพฤติกรรมลูก พ่อแม่ต้องเข้าถึงปัญหา
ก่อนที่จะรับมือกับปัญหาพฤติกรรมหนักใจของลูก คุณหมอสะท้อนให้ฟังว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึงพฤติกรรมของลูกเท่าที่ควร จึงเน้นใช้คำสั่งเพื่อให้ลูกหยุดกระทำพฤติกรรมดังกล่าวโดยลืมไปว่า ลูกโตขึ้นในอีกช่วงวัยหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะลูกวัยขวบครึ่ง ที่จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเกิดการต่อต้านเมื่อพ่อแม่ชอบใช้คำสั่ง เช่น ร้องดิ้น อาละวาด เป็นต้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะช่วยรับมือได้ดีที่สุดคือ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำสั่ง และหันมาฝึกการเสนอตัวเลือกให้ลูกตั้งแต่เด็ก ซึ่งเริ่มสอนได้ตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป เช่น เสนอทางเลือกให้ลูกว่า จะกินนม หรือกินน้ำ ใส่เสื้อสีไหนระหว่างสีนั้นสีนี้ แทนการสั่งว่าจะต้องทำแบบนั้น แบบนี้ อย่างไรก็ดี ทางเลือกนั้น พ่อแม่ต้องกลั่นกรองมาแล้วว่าอนุญาตให้ลูกทำได้ถ้าลูกเลือก ไม่ใช่ให้เลือกแล้ว กลับไม่เห็นด้วย นั่นจะทำให้เด็กเกิดความสับสน และไม่เชื่อถือในตัวพ่อแม่

ดังนั้น วิธีการเปลี่ยนความสนใจของลูกอย่างมีเทคนิค พ่อแม่ไม่ควรหยุดความสนใจของลูกในทันที แต่ควรส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้เวลากับลูกได้เตรียมตัวก่อน เช่น "แม่เข้าใจนะจ๊ะ ว่าตอนนี้หนูยังอยากเล่นอยู่ แต่แม่ว่าใกล้ถึงเวลาอาบน้ำแล้วนะลูก หนูอยากจะเล่นต่อ โดยให้แม่นับ 1-10 หรือ 1-20 แล้วเราไปอาบน้ำกันนะ" ซึ่งวิธีเหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่เข้าใจเขา และอยากจะเชื่อฟัง ไม่แสดงพฤติกรรมให้พ่อแม่หนักใจ
"การจะให้ลูกเชื่อฟัง วิธีการคุยกับลูก เสียงก็สำคัญนะ หมอไม่รู้ว่าทำไม แม่ส่วนใหญ่ชอบใช้เสียงเข้มในการสอนลูก หมอว่า เด็กจะเชื่อฟัง คนที่ชอบคนพูดเพราะๆ มากกว่า ดังนั้น ขอให้คุณแม่เก็บเสียงที่มีอำนาจไว้ใช้ในยามจำเป็นจะดีกว่า ซึ่งนานๆ ครั้งใช้ที หมอเชื่อว่าได้ผล ดีกว่าใช้กันทุกวัน ทุกเวลา" คุณหมอแนะนำ
การที่พ่อแม่รับมือกับพฤติกรรมของลูกได้ดี โดยการวิเคราะห์ และปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นการสร้างสันติสุขในตัวลูกอย่างถาวร และโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ดังนั้นการใช้คำสั่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การปรับพฤติกรรมลูก พ่อแม่ต้องเข้าใจถึงปัญหา และต้องร่วมปรับไปพร้อมกับลูก แล้วพฤติกรรมของลูกที่พ่อแม่หนักใจ จะค่อยๆ ลดหายไป
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000029615