เด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ สมองมีการเรียนรู้มากที่สุด อย่าปล่อยให้ ... "สายแล้วสายเลย"

เด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ สมองมีการเรียนรู้มากที่สุด อย่าปล่อยให้ ... "สายแล้วสายเลย"
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า จากรายงานสถิติจำนวนประชากรเมื่อปี 2550 โดยสำนักบริหารการทะเบียน สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ประเทศไทยมีเด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี จำนวน 4.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นวัยที่จะต้องได้รับการเลี้ยงดู เอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้ให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านโภชนาการ การเลี้ยงดู การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ เพราะเป็นวัยที่มีการเรียนรู้มากที่สุดในวงจรชีวิตมนุษย์ สมองเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ โดยมีการสร้างเครือข่ายของสมองและพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบเซลล์ประสาทมากกว่าช่วงอื่นๆ ของชีวิต

“การเลี้ยงดูที่มีคุณภาพจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง มีพัฒนาการสมดุลทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจและอารมณ์ ซึ่งการให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาเด็กแม้เพียง 1 ปี ในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน เด็กจะมีความสามารถและพัฒนาการที่สูงขึ้น” นพ.ประเสริฐกล่าว

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ยังมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของระบบบริการสาธารณสุขในท้องถิ่น และศูนย์เด็กเล็ก มีความสำคัญ ต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในประเทศไทย ของ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 พบว่า มีศูนย์เด็กเล็กทุกสังกัดทั่วประเทศรวม 20,043 แห่ง โดยอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย จำนวน 17,821 แห่ง นอกนั้นอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน มีเด็กอายุระหว่าง 2 ขวบครึ่ง - 5 ขวบ อยู่ในศูนย์เด็กเล็กทุกสังกัด ประมาณ 942,583 คน คิดเป็นร้อยละ 37 ของจำนวนเด็กปฐมวัยในประเทศไทย

จากการสำรวจพบว่ามีศูนย์เด็กเล็กจำนวนหนึ่ง ยังขาดความพร้อม ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน การดูแลเด็กเล็ก โดยศูนย์เด็กเล็กในสังกัด อปท. จำนวน 17,821 แห่งทั่วประเทศนี้ พบว่า ศูนย์เด็กเล็กร้อยละ 40 มีของเล่นไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก ร้อยละ 37 ของเล่นที่มีอยู่ มีสภาพชำรุด รอการซ่อมแซม ร้อยละ 24 ห้องน้ำ มีสภาพชำรุด ขณะที่ร้อยละ 3.8 มีปัญหาที่ไม่สามารถจัดหาที่นอนให้เด็กนอนได้

สำหรับปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในศูนย์เด็กเล็ก คือ การพลัดตกหกล้ม คิดเป็นร้อยละ 37.5 อุบัติเหตุจากเครื่องเล่นสนาม คิดเป็น ร้อยละ 28.6 ส่วนด้านสุขภาพและพัฒนาการ มีเด็กฟันผุ สูงถึงร้อยละ 92 ไม่จัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ร้อยละ 2.4 มีหนังสือนิทานไม่เพียงพอ ร้อยละ 60 จัดกิจกรรมเล่านิทานให้เด็กฟังทุกวัน ร้อยละ 35.6 ในด้านผู้ดูแลเด็ก พบว่า ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ร้อยละ 51 ขาดความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก

“ศูนย์เด็กเล็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่มีความพร้อมในการดูแล จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยในอนาคต เพราะเด็กจะมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่ล่าช้า ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะด้านที่ช้าคือภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานของสติปัญญา” นพ.ประเสริฐกล่าว

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การพัฒนาการเด็กปฐมวัยนี้รอไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคือ “สายแล้วสายเลย” รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น เร่งบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนาปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน โดยศูนย์เด็กเล็กต้องได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ การพัฒนาบุคลากร ดูแลเด็กเล็กประจำศูนย์ การส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก อุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก เช่น ของเล่น หนังสือ เครื่องดนตรี ฯลฯ อันจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง มีพัฒนาการสมดุล ทั้งทางร่างกายและสติปัญญามากขึ้น

ที่มา วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11:43:50 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์