แนะเทคนิค "สร้างกำลังใจ" ในวันหดหู่

แนะเทคนิค "สร้างกำลังใจ" ในวันหดหู่
หากท่านผู้อ่านหรือคนใกล้ตัวของท่านผู้อ่านกำลังมีปัญหาด้านการเงิน สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ปวดหัวกับข้อสอบโอเน็ต และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังกับตัวเอง วันนี้ ทีมงานเราพบเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณหรือคนที่คุณรักผ่านพ้นกับสถานการณ์อันเลวร้ายดังกล่าวนี้ได้ค่ะ ซึ่ง 9 เทคนิคที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง ลองไปติดตามกันดูค่ะ1. อย่าโทษตัวเอง

นำข้อนี้มาวางไว้เป็นข้อแรก เพราะการโทษตัวเองเป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้ซึ่งเผชิญหน้ากับความผิดหวัง - ความเศร้าหมองมักทำก่อนข้ออื่น ๆ ดังนั้น หากสามารถเลิกโทษตัวเองได้ คน ๆ นั้นก็จะสามารถก้าวข้ามความตึงเครียดที่เผชิญอยู่ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ที่กำลังทุกข์มองว่าภาวะดังกล่าวก็ไม่แตกต่างจากการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็ง ที่ต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือมุมมองก็จะทำให้เขารับมือกับภาวะซึมเศร้านี้ได้ง่ายมากขึ้น

2. หาใครสักคนเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ

แม้ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาจะไม่เหมือนกับอาการขาหัก - แขนหักที่ทุกคนมองเห็นและพร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ในยามนี้ การมีใครสักคนให้เราได้ปรึกษาสามารถช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นเร็วกว่าการเก็บความทุกข์เอาไว้กับตัวเองคนเดียวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี การจะหาคนปรึกษาในยุคนี้อาจต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คนบางคนก็ไม่พร้อมจะรับฟังและให้การสนับสนุนคุณ แถมบางครั้งอาจไม่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นเสียอีก ในกรณีนี้ ลองมองหาคนสนับสนุนที่สามารถให้ความรักคุณได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เช่น พ่อแม่ สามี-ภรรยา หรือเพื่อนสนิทที่รู้จักนิสัยคุณดีมาเป็นผู้รับฟัง เพราะเขาเหล่านั้นอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่ชีวิตคน ๆ หนึ่งจะพึงมี

3. เลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน

หากตอนนี้คุณมีอาการซึมเศร้าอยู่และต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ คำแนะนำที่จำเป็นก็คือ พยายามเลื่อนการตัดสินใจนั้นออกไปก่อน เพราะความรู้สึกหดหู่สามารถส่งผลกระทบต่อมุมมองและการตัดสินใจของตัวบุคคลนั้น ๆ ให้เป็นไปในแง่ลบได้ ดังนั้น การรีบตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ หรือเรื่องสำคัญในตอนนี้ดูจะไม่เป็นผลดีมากนัก เพราะอาจทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายลงกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรยืดการตัดสินใจต่าง ๆ ออกไปจนกว่าจิตใจของคุณจะดีขึ้น

แต่หากการตัดสินใจนั้นต้องทำโดยเร่งด่วน หรือไม่สามารถผัดผ่อนออกไปได้ ก็ควรขอคำแนะนำจากกัลยาณมิตร หรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเพื่อพิจารณาร่วมด้วย จะช่วยให้การตัดสินใจนั้น ๆ เกิดขึ้นบนมุมมองที่มีความหลากหลายมากขึ้น

4. ยิ่งเศร้าหมองยิ่งต้องดูแลสุขภาพ

อาจเป็นเรื่องยากที่จะฉุดคนไม่มีกำลังใจให้ลุกไปออกกำลังกาย แต่ถ้าหากจะปล่อยให้ความเศร้าเข้ายึดครองพื้นที่ทุกมุมของชีวิตก็คงเปรียบเหมือนการไม่ยอมแก้ไขให้สถานการณ์ที่น่าหนักใจนี้พ้นผ่านไป การหมั่นออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้อาการเศร้าหมองในชีวิตผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย

5. ปฏิบัติหน้าที่ตามกิจวัตรประจำวัน

การที่ปล่อยตัวเองจมอยู่กับความเศร้า และละเลยกิจวัตรประจำวันอาจทำให้ชีวิตของคุณดูแย่มากขึ้น จะดีกว่าหากยังคงทำสิ่งต่าง ๆ นั้นต่อไป เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ให้อาหารสุนัข รดน้ำต้นไม้ เพราะหากคุณมีสมาธิจดจ่อกับงานต่าง ๆ ที่ทำจะช่วยให้ลืมเรื่องที่ทำให้สิ้นหวัง - โศกเศร้าลงได้บ้าง
6. นอนหลับ

ความเครียดกับความเศร้าก็เหมือนไก่กับไข่ ที่บางครั้งความเครียดก็มาเยี่ยมเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และบางครั้งเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอก็นำมาซึ่งความเครียด หากตอนนี้ทุกอย่างเข้ามารุมเร้าเยอะจนรับมือไม่ไหว การหยุดทุกอย่างเอาไว้แล้วนอนหลับพักผ่อนไปก่อนก็จะช่วยให้สภาพจิตใจหลังจากตื่นขึ้นมาดีขึ้น และมีสติไตร่ตรองมากขึ้น

7. อย่าทำจนเกินตัว

หลายครั้งที่คนเราจะเกิดความเครียดเพราะต้องรับมือกับหลายสิ่งหลายอย่างมากจนเกินไปในช่วงเวลาสั้น ๆ คำแนะนำในข้อที่ 7 คือการมองภารกิจเหล่านั้นให้เล็กลง พยายามไม่รับงานเพิ่มเข้ามา จากนั้นก็ค่อย ๆ สะสางงานเก่า ๆ ที่ค้างอยู่ให้หมดไป หรือลองแบ่งงานชิ้นใหญ่ ๆ ให้มีขนาดเล็กลง ทำไปทีละชิ้น ๆ จนครบ ก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้เช่นกัน

นอกจากนั้น การยอมรับความสามารถของตัวเองในช่วงที่เกิดอาการเครียด - หดหู่ว่าไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนช่วงที่สมองปลอดโปร่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ลองลดความคาดหวังกับตัวเองลงเหลือสัก 75 - 80 ปอร์เซ็นต์ดูบ้างก็คงไม่ผิดกระไร เพราะความเครียดนี้ก็เป็น

8. ทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่เราทุกคนรับประทานเข้าไป นอกจากจะช่วยบำรุงร่างกายแล้วยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย ดังนั้น ยิ่งอยู่ในภาวะหดหู่ก็ยิ่งสมควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ดี บำรุงเลี้ยงสมองให้คิดแต่สิ่งดี ๆ ได้

9.หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พบปัญหาในชีวิต แล้วหันไปพึ่งยาเสพติด เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หวังว่าการพึ่งพายาเสพติดเหล่านั้นจะช่วยให้จิตใจกลับมาดีได้ดังเดิม แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้อาการซึมเศร้าต่อเนื่องยาวนานมากกว่าเดิมแล้ว ยังมีผลต่อร่างกายในระยะยาวด้วย เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน หรือหากเสพเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยก็ยังมีผลเสียต่อหน้าที่การงานด้วย

เรียบเรียงข้อมูลจาก Health.com