จุดเปลี่ยน อุดม แต้พานิช ตอนที่ 2

จุดเปลี่ยน อุดม แต้พานิช ตอนที่ 2
3 อยากนี้ ที่ทำให้มาบวช
“ที่อยากบวขก็เพราะว่า หนึ่ง คือ อยากทำอะไรให้แม่บ้าง ตั้งแต่เป็นเด็กจนโตมา ผมมีแต่เรื่องทำให้ท่านปวดร้าวทั้งนั้น คิดในใจว่า “จะมีอะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ได้บ้าง” ใจคิดอยากทำอะไรให้เขาชื่นใจ ก่อนที่เขาจะตาย สอง คือ อยากฝึกตนเอง ให้เป็นคนที่เข้าท่ากว่าที่เป็นอยู่ และ สาม คือ อยากพิสูจน์ว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เราเป็นชาวพุทธแต่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่จริงๆ ไม่เคยรู้เลยว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

หนึ่ง คือ อยากทำอะไรให้แม่บ้าง
สอง คือ อยากฝึกตนเอง
สาม คือ อยากพิสูจน์ว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

สามอย่างนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากบวชมาก ๆ เพื่อนผมจึงแนะนำให้ผมอธิษฐานจิตผมอธิษฐานจิตบ่อยๆ หลังจากนั้น ไม่เกิน 7 วัน เจ้าของบริษัทมาบอกว่า“ไม่ต้องทำหนังสือแล้ว เราจะปิดบริษัท”

เขานึกว่าผมจะเสียใจ ในใจผมนี้ ไชโย คิดว่า
‘แหม…. เราจะได้บวชคราวนี้เองสมปรารถนาแล้ว’

สมาธิเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผมจำได้
“ผมอยากบอกว่าสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ การทำเดี่ยวไมโครโฟน 3 หรือ 4 ชั่วโมง ต้องอาศัยสมาธิ สมาธิเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผมจำได้ ผมเองไม่ได้อยากมีภาพลักษณ์คล้ายกับว่า “โน้ตเป็นคนดี …. โน้ตใจบุญสุนทาน… นั่งสมาธิเป็นประจำ… โอ้.. โน้ตรักทุกคน” ไม่อยากเป็นอย่างนั้น แค่เป็นตูดหมึกธรรมดา แต่ผมอยากบอกว่า
สมาธิเป็นเคล็ดลับจริง ๆ ในการดำเนินชิวิต”
ซึ่งเรื่องประโยชน์ของสมาธินี้ โน้ตก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน Secret ฉบับเดือนธันวาคมว่า

….ความสำเร็จในการทำเดี่ยวไมโครโฟน คือ สมาธิ ลำพังตัวผมเองไม่มีปัญญาจำอะไรได้เยอะขนาดนั้นหรอก

แต่ผมเคยบวชมาก่อน เวลาต้องการลำดับความคิด หรือคิดอะไรไม่ออก ผมจะนั่งสมาธิ นั่งแค่ช่วงสั้นๆ ก็ช่วยได้
การทำเดี่ยวฯ เต็มไปด้วยปัญหา ผมไม่ได้แค่เขียนบทอย่างเดียว แต่เป็นทั้งผู้แสดง
และทำโปรดักชั่น พอถึงช่วงเขียนบทซึ่งเป็นหัวใจของการทำเดี่ยวฯ สมาธินี่แหล่ะช่วยแยกแยะว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ก่อนเขียนบททุกครั้ง ทีมงานรู้ว่าผมจะหายตัวไปนั่งสมาธิ ไม่ได้ไปนั่งเขียนบท แต่ไปนั่งนิ่งๆ ผมเชื่อว่า

กำลังกายเกิดจากการเคลื่อนไหว …. กำลังใจเกิดจากการหยุด

นึกถึงเมื่อไร ก็สุขใจ ที่เคยได้เป็นพระ
“ผมรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ ที่จะได้ห่มผ้าเหลือง จะได้เป็นพระ และจะมีแม่เรา ที่เราบวชให้เขา และที่เราทุ่มเทฝึกตัวเองมา คือ ทำให้แม่ได้ บวชให้แม่ได้

ถ้าถามว่าทำไมต้องฝึกตัวหนักอย่างนี้ด้วย
พระอาจารย์ก็จะตอบว่า “ต้องทำตัวเองให้รู้สึกว่าเรากราบตัวเองให้ได้ก่อน เพราะวันนั้นวันบวช แม่เราจะมากราบเรา ยายเราจะมากราบเรา ถ้าตราบใดที่เรายังกราบตัวเองไม่ได้ เราก็จะรู้สึกขึ้นมา”

ก่อนบวช… จะมีพิธีกรรมขอขมา นาคเตรียมบวชจะแต่งกายชุดขาวทั้งหมด และกล่าวคำว่า
“ อุกาสะ… ดังข้าพเจ้าทั้งหลาย… จะขอวโรกาส กราบลา พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อบรรพชา ณ บัดนี้…. ฯลฯ “

เป็นการขอขมาลาโทษ เป็นโอกาสที่เราจะได้กล่าวกับพ่อ แม่ของเรา ผมเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่เคยกล่าวคำขอโทษแม่ของผม เมื่ออยู่ในพิธีขอขมา ความรู้สึก ตาต่อตา แม่ที่ยอมรับ ปิติใจ ที่เห็นลูกเป็นคนดีของเขาอย่างน้อยก็ช่วงหนี่งในชีวิต ภาพต่าง ๆ ที่ผมทำไม่ดีกับแม่ เหมือนนั่งดูหนัง มันกรอกลับมาให้เห็น เรารู้สึกว่า

เราทำไม่ดีกับผู้หญิงคนนี้มามาก
เราทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ ทำไม่ดีกับเขามามากมาย
เท่านั้นเอง พอตาต่อตา ประสานกัน
น้ำตาก็ไหล มันเป็นทั้งความสุข ความปิติ
และอยากเป็นพระดี ๆ ให้แม่ได้บุญเยอะๆ

ประทับใจภาพหนึ่ง เช้าวันหนึ่งเราไปบิณฑบาต เห็นคุณยายคนหนึ่งไปเตรียมตักบาตร
พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าๆ แสงเรืองรอง คุณยายมือสั่นตอนใส่บาตรด้วยความมีอายุ บ้านคุณยายก็ฐานะไม่ค่อยดี แต่มีศรัทธาที่จะตักบาตร ตักข้าวปากหม้อเม็ดงาม ๆ มาถวายพระ ผมเห็นแล้วปิติน้ำตาจะไหล อธิษฐานในใจ ขอให้บุญที่ยายถวายภัตตาหารพระด้วยความนอบน้อม และประณีต และ บุญที่พระตั้งใจบวช อบรมตัวเองในครั้งนี้ทั้งหมด ขอผลบุญ ดลบันดาลให้คุณยายคนนี้ …. ไม่พบกับความยากจนอีกเลย ไปทุกภพ ทุกชาติ”

เลิกหลงทาง ตั้งหางเสือใหม่
“บวชแล้วได้แนวทางในการดำเนินชิวิตครับ ซึ่งแต่ก่อนไม่มี แต่ก่อนผมใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นเรือ ก็คือเรือที่อยู่ในท้องมหาสมุทร ที่ไม่มีหางเสือ ถามว่าอยู่บนผิวน้ำได้ไหม อยู่ได้ แต่ไม่มีเป้าหมาย
ล่องลอยไปเรื่อยเปื่อยไม่มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ

แต่การได้บวช เหมือนการที่เราได้ตั้งหางเสือแล้ว เช่นเรา จะไปเกาเสม็ด เราตั้งหางเสือไว้ว่า เราจะไปทางทิศนี้ จะช้า จะเร็ว เราจะไปถึงเกาะเสม็ด
แต่ถ้าชีวิตไม่ได้ตั้งหางเสือ ไม่รู้จะไปไหน สะเปะสะปะ บางคนไปหลงติดยาอยู่หลายปี มันเหมือนเผชิญกับการไปชนกับหินโสโครก ไปเจอพายุ ฝนตก เรือแตก ไม่มีเป้าหมาย ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เพื่อจะให้อยู่ในท้องทะเลนั้นเอง แล้วรอวันหนึ่งก็ตายไป ไปไม่ถึงเป้าหมาย

แต่มาบวชนี่ รู้สึกว่าชีวิตได้แนวทางในการดำเนินชีวิต ถึงแม้ออกไปจะไม่ใช่คนดีเลิศประเสริฐนัก แต่อย่างน้อยเรามีธรรมะไว้เป็นที่พึ่งเช่น เราอกหัก มีทุกข์ แก้ปัญหาบางเรื่องไม่ได้ มีปัญหาใหญ่ๆ เรามีธรรมะมาสอนตัวเรา เรามีบุญ มีกุศล มีความดีงามที่เป็นเส้นทางอยู่ ก็เลยรู้สึกว่า ชีวิตนี่มันไม่เหงา ถ้าเป็นการโดดร่ม เรามีร่มสำรองอยู่บ้าง ไม่ใช่ร่มใหญ่ขาดปั๊บ แล้วเราก็ไม่รู้ว่า เราจะไปลงที่ไหน ธรรมะเสมือนสิ่งนั้นเองที่คอยประคองชีวิตอยู่ ก็มีสโลแกน ผมใช้ว่า เด็กซิ่ง อิงธรรมะครับ”
คำถามคาใจวัยรุ่น
ถาม ถ้าผมติดหญิงล่ะ ทำไงดี
ตอบ ให้มาบวชเสียก่อน สึกออกไปหญิงจะติด ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่ไม่ชอบผู้ชายดี ยกเว้นตอนเขาบอกเลิกกัน เมื่อเราบวชออกมาแล้ว ความคิดความอ่าน ความไตร่ตรอง จะสุขุมขึ้น จะมองโลกในแง่ดี แทนที่จะมองในแง่ร้าย ไม่ใช่แค่คิดบวก ไม่คิดลบ แต่คิดเป็นด้วย

ถาม ถ้าผมติดเหล้า เบียร์ล่ะ
ตอบ ควรจะมาด่วนเลยครับ

ถาม ถ้าผมติดเพื่อนล่ะ
ตอบ เราเกิดมาไม่ใช่เกิดมาเพื่อเพื่อน เราเกิดมาเพื่อตัวเราเอง การบวชนั้น บวชให้แม่ก็ให้ แต่ที่ให้มากที่สุด คือ ให้ตัวเราเอง เวลาเราตายใครก็ช่วยไม่ได้ เช่น ตอนตายมีสายระโยงรยางค์ เหนี่ยวรั้งไว้เต็มตัว มีไหมครับ หากมีเพื่อนมาขอว่า “ยมบาล … คนนี้ซี้มากเลย ขอไว้ได้ไหม” ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ

เรามาคนเดียว ตายคนเดียว การบวชเป็นเรื่องที่เราควรเห็นแก่ตัว มาบวชแล้วเราดีขึ้น เพื่อนเราก็จะดีขึ้นด้วย อยู่ใกล้ใครมันจะแผ่ไปถึงคนนั้นด้วย เพื่อนจะดีไปด้วย เพื่อนน่าจะอนุโมทนาด้วย ถ้ารักกันจริงเพื่อนก็น่าจะมาบวชเป็นเพื่อนไปด้วย เหมือนเพื่อนผม คุณเฉลิมพล เป็นกัลยาณมิตรให้ผมและมาบวชเป็นเพื่อนผมด้วย เรามาเจอกันที่ชมรมพุทธฯ ราม ก็ช่วยประคับประคองกันไป และนี่เรียกว่ากัลยาณมิตร
คนที่เป็นเพื่อนเราจริงๆ เราควรจะมาบวชเป็นเพื่อน ถ้าบวชไม่ได้จริงๆ ต้องมาช่วยสนับสนุน

ถาม ถ้าอยากบวชแต่ไม่ใช่ตอนนี้ล่ะ
ตอบ เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร ปีหน้าเราบอกว่าเราจะบวช บางทีเราไม่รู้ว่าเราจะตาย ผมยกตัวอย่าง มีเพื่อนที่ทำกราฟฟิก เรียนมาด้วยกัน เป็นคนนั่งสมาธิ ที่บ้านชอบทำบุญ เพื่อนบอกว่า “กูว่านะ … ปิดเทอมจะพาแม่ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ เห็นทุเรียนอยากซื้อไปให้แม่กิน” เหมือนธรรมดาที่เราพูดถึงแม่กัน
วันรุ่นขึ้นแม่ตายกะทันหัน หลับแล้วตายไปเลย เขาช็อกมาก เพราะแม่ไม่ได้เป็นโรคอะไร แม่เป็นคนสุขภาพจิตดี อยู่ๆ ก็ตาย เขาโทรมาร้องไห้กับผม บอกว่า “กูเสียใจมาก….. กูบอกว่ากูจะพาแม่ไปนั่น ไปนี่ จะหาอะไรมาให้เขากิน
เขาไปซะแล้ว นี่กูไม่มีโอกาสทำให้แม่อีกแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ มึงดูแลแม่มึงดี ๆ นะ”

ผมอยากบอกว่า เราไม่รู้ว่า พ่อแม่ของเราจะตายเมื่อไร คนสนิทของเราจะตายเมื่อไร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ ให้ดอกไม้ต้องให้ขณะที่เขาดมได้“

ฉะนั้นทำอะไรได้ตอนนี้…. ทำ….ถือคติไปเลย…. ใช้ชีวิตทำปัจจุบันให้ดีที่สุดแล้วอนาคตมันจะดูแลตัวของมันเองครับ
ที่มา มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย

- เส้นทาง “โน้ส อุดม” สู่ศรัทธาธรรมกาย
- จุดเปลี่ยน อุดม แต้พานิช ตอนที่ 1
- จุดเปลี่ยน อุดม แต้พานิช ตอนที่ 2