วิธีแก้ดีขึ้น..แต่ยังเสี่ยง ‘กระดูกสันหลัง’ ‘ระวัง’ไว้ก่อน..ดีที่สุด

วิธีแก้ดีขึ้น..แต่ยังเสี่ยง ‘กระดูกสันหลัง’ ‘ระวัง’ไว้ก่อน..ดีที่สุด
“ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของกระดูกสันหลัง การจะรักษากระดูกสันหลังให้ใช้งานได้ยาวนาน ข้อควรระวังคือต้องงดเว้นกิจกรรมที่ต้องยกของหนัก ก้มตัวบ่อย ๆ ที่อาจทำให้กระดูกสันหลังข้ออื่น ๆ มีปัญหาตามมาได้ ระวังการอยู่ในสถานที่ซึ่งมีการสั่นสะเทือนมาก ๆ
การนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ การขับรถเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังมีปัญหาขึ้นมาอีกได้ เพื่อความปลอดภัยควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด” ...นี่เป็นการระบุของ พญ.สุชีลา จิตสาโรจิตโต ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ เกี่ยวกับ “กระดูกสันหลัง”

’กระดูกสันหลัง“ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ ’สำคัญมาก ๆ ต่อร่างกายมนุษย์“ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีวิธีรักษาอาการผิดปกติของกระดูกสันหลังด้วยวิธีใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ใช่ว่าจะประมาทได้!!

ทั้งนี้ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุถึง “กระดูกสันหลัง” ไว้ว่า... กระดูกสันหลัง คือกระดูกแกน ตั้งแต่ส่วนต้นคอลงไปจนถึงส่วนก้น ภายในมีไขสันหลังซึ่งอยู่ในช่องไขสันหลังอีกที ตามกายวิภาคศาสตร์ของกระดูกสันหลังนั้น จะประกอบด้วย... องค์ประกอบของกระดูกสันหลังหนึ่งชิ้น, กระดูกสันหลังส่วนคอ, กระดูกสันหลังส่วนอก, กระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว, กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ, ส่วนก้นกบ, ช่องเปิดระหว่างกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ กระดูกสันหลังนอกจากเป็นโครงสร้างแข็งแรงที่ปกป้องแกนของไขสันหลังแล้ว ยังเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อของหลัง และยังเชื่อมต่อกับ
กะโหลกศีรษะ กระดูกสะบัก กระดูกเชิงกราน และกระดูกซี่โครงอีกด้วย

’กระดูกสันหลัง“ ในคนที่ร่างกายปกติ จะมี 33 ชิ้น ซึ่งจำแนกตามตำแหน่งและลักษณะได้ดังนี้คือ... กระดูกสันหลังส่วนคอ มี 7 ชิ้น อยู่ในช่วงลำคอ กระดูกสันหลังส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลำคอและศีรษะ, กระดูกสันหลังส่วนอก มี 12 ชิ้น อยู่ในส่วนอก มีลักษณะพิเศษคือจะมีจุดเชื่อมต่อสำหรับกระดูกซี่โครง ซึ่งเป็นโครงร่างสำคัญของช่องอก, กระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว มี 5 ชิ้น อยู่ในช่วงเอว มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกายท่อนบน และมีส่วนเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อที่เป็นผนังทางด้านหลังของช่องท้องด้วย, กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ จริง ๆ มี 8 ชิ้น แต่จะเชื่อมรวมกัน และต่อกับกระดูกเชิงกราน โดยมีช่องเปิดเพื่อเป็นทางผ่านของเส้นประสาทที่ไปยังบริเวณเชิงกรานและขา, กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ เป็นการเชื่อมกันของกระดูก 3-4 ชิ้น เป็นกระดูก 1 ชิ้น รูปสามเหลี่ยม ที่ปลายด้านล่างสุด

สำหรับ โรคและความผิดปกติของกระดูกสันหลัง นั้น ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้ว่า... เป็นสิ่งที่อาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งต่างก็เป็นกรณีที่มีความสำคัญในทางการแพทย์อย่างมาก โดยตัวอย่างความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ก็เช่น กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังมีความโค้งในแนวซ้ายขวาผิดปกติ นอกจากนี้อาจมีการบิดหรือหมุนออกไปจากแนวเดิมของกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลังแตกหัก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วน ซึ่งความร้ายแรงของอาการไม่ได้เกิดจากการแตกหักเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความเสียหายของโครงสร้างภายในช่องภายในกระดูกสันหลังและเนื้อเยื่อโดยรอบด้วย, หลังค่อม เป็นความผิดปกติของความโค้งในกระดูกสันหลังส่วนอก มักเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นโดยเฉพาะวัณโรค ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าไปในกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังที่ติดเชื้อเกิดการงอ

กล่าวสำหรับการรักษาโรคและความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ในปัจจุบันก็มีวิธีใหม่ ๆ ออกมา อย่างเช่นการ ผ่าตัดรักษาโรคปวดหลัง แบบแผลเล็กข้างลำตัว โดยไม่เลาะกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งวิธีนี้ นพ.ทายาท บูรณกาล ผอ.สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้ความเข้าใจ สรุปได้ว่า... เป็นเทคนิคการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็กข้างลำตัว (Direct Lateral Interbody Fusion : DLIF)

การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้จะลดความเจ็บปวดในการผ่าตัด เสียเลือดน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม โดยเทคนิคนี้อาศัยเครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด ส่งผ่านท่อขนาดเล็กราว 1 นิ้ว ติดตามการทำงานของเส้นประสาทและไขสันหลัง และนำใส่อุปกรณ์หนุนหมอนรองกระดูกไปแทนที่หมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาเดิม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้น ๆ แข็งแรงขึ้น รับน้ำหนักร่างกายได้ดีขึ้น การปวดหลังจึงลดลง

นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนไปด้านหน้า หรือภาวะกระดูกสันหลังคดในผู้ป่วยสูงอายุอย่างได้ผล โดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อหลังยาวตลอด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปวดหลังเรื้อรัง ภาวะพังผืดเกาะเส้นประสาท ภาวะสกรูหลุดหลวม หรือภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดแบบเดิม

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะมีเทคนิควิธีใหม่ ๆ ในการรักษาโรคและอาการผิดปกติของกระดูกสันหลัง แต่ก็ ใช่ว่าจะประมาทในเรื่องของกระดูกสันหลังได้ ซึ่งกับเทคนิคผ่าตัดใหม่ที่ยกตัวอย่าง ก็ยังคงต้องให้ความสำคัญกับ ข้อควรระวังเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่นกัน ดังนั้น ดีที่สุดคือระวังมิให้กระดูกสันหลังเกิดปัญหา!!

อ่อนแรง ชา ปวด ไปจนถึงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาต

คือผลร้ายจากการที่กระดูกสันหลังเกิดผิดปกติ

ระวังไว้ก่อนดีกว่าแก้ไข...นี่ยังคงเป็นสัจธรรม.
ที่มา เดลินิวส์