
(โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย บก. นิตยสาร GMBiZ และ MKT Magazine)
จำได้ว่ากว่าสามปีมาแล้วที่ผมถามอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ในงานแถลงข่าวการซื้อหุ้นใหญ่มติชนและบางกอกโพสต์ว่า "ทำไมแกรมมี่ที่อยู่ในธุรกิจ High Margin ถึงคิดกระโดดเข้าสู่ Sunset Industry อย่างธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นมีมาร์จิ้นต่ำอย่่างยิ่ง อีกทั้งเมื่อเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์ไปแล้ว หากผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเก๋าๆออกไปหมด ก็จะเหลือแต่ตัวตึก อาคารหรือโรงพิมพ์ ซึ่งเปรียบเสมือนมีร่างกายที่ไร้วิญญาณ
ผ่านมาสามปีเศษ ชะตากรรมของธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์นั้นน่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะหากดูจากทิศทางและแนวโน้มจากนี้ไปแล้วอาจกล่าวได้ว่า "หนังสือพิมพ์กำลังจะสูญพันธุ์" เพราะการเติบโตของอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายหนังสือพิมพ์ตกลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ก็สองจิตสองใจว่าจะเอาอย่างไรกับอินเตอร์เน็ตกันดี เพราะก่อนหน้านี้ผู้บริหารค่ายหนังสือพิมพ์ไม่เคยมีค่ายไหนเลยที่จะมียุทธศาสตร์อินเตอร์เน็ต ยกเว้นก็แต่เพียงค่ายผู้จัดการที่ thaiday.com ทุ่มทรัพยากรเต็มที่กับการปั้น manager.co.th ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มุทุนเมื่อใด รู้แต่เพียงว่าเทรนด์กำลังมา ถ้ากระโดดเข้าไปเกาะเทรนด์ก่อนคนอื่น ชัยชนะก็อยู่แค่เอื้อม!!!
หลังจาก manager.co.th ก้าวเดินอย่างเต็มรูปแบบก่อนจนกระทั่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งในเว็บข่าว ส่งผลสะเทือนต่อเว็บหนังสือพิมพ์อื่นๆที่ทำแบบมีเพื่อมี ไม่ได้มีเพื่อเป็นยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ในที่สุด Manager Online ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการมียุทธศาสตร์อินเตอร์เน็ตที่แจ่มชัดนั้น สามารถผลักให้ตนเองเป็นผู้นำในโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าโลก Off Line จะประสบความพ่ายแพ้ก็ตาม
ความสำเร็จของ Manager Online ส่งผลสะเทือนต่อยักษ์หนังสือพิมพ์ค่ายๆต่างอย่างยิ่งและเป็นการตอกย้ำ "ยุคสมัยใหม่" กำลังก้าวมาถึงแล้ว
ในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงสองปีหลังหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าต่างทยอยปิดตัวกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตามรัฐต่างๆในสหรัฐอเมริกา เนื่องเพราะคนอ่านและโฆษณาน้อยลงอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งขาดทุนกันอย่างหนัก
รูเพิร์ต เมอร์ด็อกซ์ เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ที่ล่าสุดไปซื้อ Wall Street Journal ด้วยราคาแพงหู่ฉี่ ถึง 5 พันล้านเหรียญ ทั้งๆที่ตระกูลเจ้าของไม่อยากขาย แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์มาจนได้
เมอร์ดอกซ์นั้นเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ก็ไม่มีฉบับไหนที่ Prestige เลย ดังนั้นการอยากเป็นเจ้าของ Wall Street Journal คือความปรารถนาลึกๆอยู่ในใจ
Wall Street Journal มีความเหนือกว่าหนังสือพิมพ์อื่นๆก็คือ ฉบับออนไลน์นั้นมีสมาชิกที่เสียเงินรายเดือนหรือรายปี มีสมาชิกนับล้านและเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ตอนแรกเมอร์ดอกซ์เชื่อในโมเดลฟรี เขาต้องการให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง WSJ ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เช่น New York Time เคยให้ดูฟรีแล้วต่อมาเก็บสตางค์ แต่ก็ได้ไม่มาก หลายฉบับเวอร์ชันออนไลน์คนอ่านกันเยอะ แต่พอจะเก็บสตางค์มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมเสียสตางค์ เพราะเคยได้ฟรี
อีกเหตุหนึ่งก็คือ Google รวบรวมข่าวสารจากสำนักต่างๆทั่วโลกให้อ่านฟรีกันอยู่แล้ว
นโยบายฟรีเช่นนี้ทำให้เมอร์ดอกซ์ฉุนขาด เพราะไม่เพียงทำให้เสียรายได้ แต่จะทำให้ผู้อ่านเสียนิสัย คิดว่า Content ก็คือของฟรี ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ผลก็คือเมอร์ดอกซ์ลุกขึ้นมาประกาศว่าเขาจะประกาศให้โลกรู้ว่า "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" โดยทุบไปที่ "เจ้าพ่อของฟรี" คือ Google เพราะหากชนะ Google ได้ก็เท่ากับว่าทุบไปที่หัวใจ "ของฟรี"
เมอร์ดอกซ์ต้องการทำถึงขนาดที่ว่าไม่ให้ Google Search หาหนังสือพิมพ์ในเครือของเขาในเว็บ Google และต้องการทำพันธมิตรกับ Bing ซึ่ง Google ก็ไม่ขัดข้อง แต่ทว่าในทางกฎหมายอาจไม่อนุญาตให้เมอร์ดอกซ์ทำเช่นนั้น จนป่านนี้เมอร์ดอกซ์ก็ยังไม่สามารถพิชิต Google ได้ ส่วน Google นั้นก็เปิดศึกกับชาวบ้านไปทั่ว ตั้งแต่รัฐบาลจีน ไมโครซอฟท์ จนกระทั่งแอปเปิลอดีตพันธมิตรเก่าที่ปัจจุบันรบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ในระดับโลกนั้น ยังไม่มีวิธีแก้วิกฤตของหนังสือพิมพ์อย่างเป็นรูปธรรม ยอดผู้อ่านเวอร์ชันกระดาษตกลงไปเรื่อยๆ โฆษณาลดลงโดยเฉพาะ Classified AD หน้าสมัครงาน แทบจะไม่เหลือเลย รายได้จากโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ในรูปแบบ Display AD ก็ไม่สามารถชดเชยได้ ชะตากรรมของหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศก็คือนสพ.ท้องถิ่นค่อยๆทยอยปิดตัวไป เพราะคนจะอ่านทางเน็ตเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนังสือพิมพ์ระดับโลกNew York Times Financial Time Wall Street Journal ฯลฯ ยังพอประคับประคองตัวเองอยู่ได้ แม้ว่าธุรกิจจะค่อยๆเหี่ยวไปเรื่อยๆก็ตาม
จวบจนกระทั่งสตีฟ จ๊อบส์ แห่งแอปเปิลได้ให้ความหวังด้วยการเปิดตัว iPad(ไอแพด) Tablet PC ซึ่งว่ากันว่าเจ้าไอแพดตัวนี้แหละจะช่วยชุบชีวิตหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่กำลังจะตายให้ฟื้นคืนชีกขึ้นมาได้ เพราะโฆษณาจะบรรจุอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งต่างจากอินเตอร์เน็ตเวอร์ชั่นที่ไม่สามารถแทรกโฆษณาไปได้
ก่อนที่จะเลยไปไกล ขอกลับมาที่ตลาดประเทศไทย
ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนอ่านหนังสือพิมพ์ค่อนข้างน้อย ถ้าให้เลือกระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์และดูข่าวทีวีซึ่งส่วนใหญ่ก็เอาหนังสือพิมพ์มาอ่านนั่นเอง คนไทยส่วนใหญ่จะเลือกดูทีวีมากกว่า นี่คือเหตุสำคัญที่ทำให้นักเล่าข่าวอย่างสรยุทธ์ซึ่งก็เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มาก่อน จะมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากกว่าบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์รายวัน
ชะตากรรมของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับต่างประเทศมากนัก นั่นคือคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงไปทุกวัน หนทางในการหารายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำของหนังสือพิมพ์ก็คือการผลิตข่าวสั้นผ่านเอสเอ็มเอส ส่วนใหญ่เก็บเดือนละ 39 บาท ไทยรัฐ โพสต์ทูเดย์ มติชน ผู้จัดการ ฯลฯ ต่างให้บริการแบบนี้กันทุกค่าย ผลก็คือจากเดิมรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อทุกค่ายทำกัน ทั้งทีวี สำนักข่าวต่างๆ ซึ่งก็หมายความว่าต่างแย่งเค้กก้อนเดียวกัน
ในด้านเว็บไซด์ดังที่ได้เกริ่นมาแล้วเช่นกันว่า เพิ่งจะมีการทำอย่างจริงๆจังกันไม่กี่ที่ผ่านมานี้เอง ค่ายผู้จัดการทุ่มเทอย่างเต็มที่กับ manager.co.th แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ทว่ายอดขายหนังสือพิมพ์ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย หมายความว่าผู้อ่านเลือกเสพผ่าน Manager Online มากกว่าจะเสพผ่านกระดาษ เท่ากับว่าได้อย่างเสียอย่าง
นโยบายของผู้จัดการนั้นให้อ่านทุกอย่าง ไม่มีการปกปิด ไม่ให้นักท่องเน็ตอ่าน เพราะยิ่งมีคนอ่านก็หมายความว่าโฆษณาจะเข้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ค่ายกรุงเทพธุรกิจที่เคยให้อ่านฟรีเหมือนกับผจก.นั้น เริ่มไม่ให้อ่านเวอร์ชั่นกระดาษบนหน้าอินเตอร์เน็ตอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่คัดสรรบางข่าวให้อ่านเท่านั้น เช่นเดียวกับมติชนที่ไม่ให้อ่านฉบับกระดาษบนหน้าอินเตอร์เน็ตอีกต่อไป มีเพียงบางเท่านั้นที่เปิดให้ดูฟรี
โพสต์ทูเดย์ไม่สนใจเวอร์ชั่นอินเตอร์เน็ตเสียด้วยซ้ำ มีให้อ่านเพียงวันเดียวและไม่ให้อ่านย้อนหลัง ต่อมาโพสต์ทูเดย์ยอมรับแล้วว่าเวอร์ชั่นอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญ ก็ปรับปรุงหน้าเว็บไซด์ ทำให้ดูดีมากยิ่งขึ้นแต่หาข่าวอ่านยากขึ้นทุกวันเช่นกัน
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับค่ายใหญ่เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าอินเตอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อโมเดลการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์แบบดั้งเดิม ดังนั้นแต่ละค่ายจึงฉีกไปทำ Multimrdia ทุกค่ายต่างมีสื่ออื่นๆผสมเข้ามาเพื่อความอยู่รอด เนชั่นทำวิทยุ ทีวี เช่นเดียสกับโพสต์ ไม่ต้องพูดถึงค่ายผจก.ที่มีเอเอสทีวีก่อนหน้านั้นแล้ว
คำถามก็คือเกิด Synergy ระหว่างสื่อต่างๆกระนั้นหรือ
ฝ่ายทีวีกับหนังสือพิมพ์อาจจะคุยกันไม่ลงตัว แต่ทว่าในอุดมคติแล้วการมีทุกสื่อไว้ในมือจะทำให้น้ำหนักในการเจรจาต่อรองมีมากกว่ามีสื่อเพียงชนิดเดียว
กระทั่งสื่อทางสังคมเช่น FaceBook Twitter สื่อหลักเหล่านี้ก็กระโจนเข้ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายเดอะเนชั่นเอาจริงเอาจังกับ twitter อย่างมาก เพราะเป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารของทางค่ายตนและยังสามารถนำไปบูรณาการกับสื่อดั้งเดิมที่ตนมีอยู่ เพื่อเสนอเป็น Solution เมื่อเวลาไปนำเสนอต่อลูกค้า
กล่าวโดยสรุปการดิ้นสู้กับอินเตอร์เน็ตโดยการผนวกตนเองเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือการนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาใช้เพื่อหวังเพิ่มรายได้นั้น ในทางความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมในเชิงรายได้เท่าใดนัก
และหากจะมีก็ไม่สามารถมาทดแทนต่อรายได้โฆษณาที่หายไปจากเวอร์ชันกระดาษได้ อนาคตของหนังสือพิมพ์เมืองไทยจึงค่อนข้างมืดมนนัก
ครั้งจะให้ไอแพดมาเป็นเครื่องมือชุบชีวิตนั้นในต่างประเทศก็ยังเป็นปัญหาว่าผู้คนทั่วโลกจะหันมาอ่านหนังสือพิมพ์บนไอแพดกันหรือเปล่า หากไม่อ่านแล้วจะทำกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายหนังสือพิมพ์เล็กๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ในที่สุด แต่ทว่าบางค่ายก็พออยู่ได้แม้ว่าจะถูกกกดดันอย่างหนักก็ตาม
สุดท้ายในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ก็แต่เพียงยักษ์ใหญ่ 1-3 ในแต่ละหมวดหมู่เท่านั้น ที่เหลืออาจต้องค่อยๆทยอยปิดตัวลงไปในที่สุด เพราะทนแรงกดดันที่สูงเพิ่มขึ้นทุกวันไม่ไหว
ท้ายของท้ายที่สุด ถ้ายังไม่มีโมเดลที่จะตอบโจทย์ในเรื่องการเหนี่ยวรั้งการล่มสลายของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษก็กำลังจะสูญพันธุ์
วิธีหาเงินบนโลกไอทีตอน สิ่งพิมพ์และไอที ฆ่ากันหรือส่งเสริม
ที่มา www.mgronline.com