ให้ความสุขในแบบที่ "ผู้สูงวัย" ต้องการ ทำได้ไม่ยาก "คุณภาพชีวิตที่ดี" เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนต่างปรารถนากันทั้งนั้น เพราะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข แต่สำหรับผู้สูงอายุ วัยที่กำลังวังชาเข้าสู่เวลาร่วงโรย ร่างกายก็ทรุดโทรมไปตามสังขาร แถมโรคภัยไข้เจ็บก็เข้ามาเยี่ยมเยือนและรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะโหยหาคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนอย่างทุกเพศทุกวัยมีความต้องการเช่นกัน และอะไรกันแน่คือความหมายของ "คุณภาพชีวิตที่ดี" ในแบบที่ผู้สูงอายุต้องการ?
ทีมงาน Life & Family ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง "การงานอาชีพกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย" จาก นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มผ.มส.) เผยว่า ตลอดชีวิตกว่า 85 ปี ที่ใช้เวลาในการเรียนรู้ พูดคุย ถกเถียง และขบคิดเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ จนสามารถตกผลึกเป็นข้อสรุปว่า คุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่ผู้สูงอายุต้องการ คือ การมีความสุขและได้รับคำสรรเสริญจากสังคม โดยอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 3 ปัจจัย คือ
ประการที่หนึ่ง การมีสุขภาพที่ดี โดยสุขภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสุขภาพทางกาย แต่หมายรวมถึงสุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา ดังนั้นการมีร่างกายแข็งแรง โดยไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ย่อมไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขอย่างสมบูรณ์ได้
ประการที่สอง การมีส่วนร่วมในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ตามอัตภาพเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น รวมทั้งต่อสังคม ปัจจัยนี้สำคัญต่อผู้สูงอายุ เพราะทำให้สังคมและตัวผู้สูงอายุเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่ใช่วัยที่ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้ กลายเป็นภาระของลูกหลานและสังคมที่ต้องคอยช่วยเหลือพวกเขาเพียงอย่างเดียว
ประการสุดท้าย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับการมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วยความมั่นทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สิน และความมั่นคงทางครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านของครอบครัว ซึ่งในสังคมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หากครอบครัวดี รักใคร่เอาใจใส่กัน คนในครอบครัวก็จะมีความสุขไปด้วย ซึ่งสังคมไทยต้องการปัจจัยนี้มากที่สุด
ถึงกระนั้น ปัจจัยเหล่านี้เปรียบเสมือนผ้ายันต์ ที่รับรองว่าหากปฏิบัติตามอย่างสมดุลและสม่ำเสมอ จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแบบฉบับที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุทุกคน หากลูกหลานยังทอดทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่ตามลำพัง หรือกลายเป็นสมาชิกคนใหม่ของสถานสงเคราะห์บ้านพักคนชราให้เห็นจนชินตา
นอกจากนั้นยังมีอีกคำถามที่ต้องการคำตอบจากสังคม ว่าจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นให้บังเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครจะเป็นคนสร้างมันขึ้นมา คนจำนวนไม่น้อยอาจถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล ที่ต้องเข้ามาแบกรับภาระ หรืออาจต้องเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ควรหันมาดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุในครอบครัว หากมองในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ก็ยังพบว่ามีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง แล้วสิ่งไหนที่จะรับรองคุณภาพชีวิตที่ดีของคนวัยชราได้
อย่างไรก็ตาม นพ.บรรลุ สะท้อนมุมมองที่แตกต่างว่า คุณภาพชีวิตที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากตัวผู้สูงอายุเอง ไม่ใช่เริ่มที่คนอื่น "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" คนเราจะเป็นเช่นไร ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวเราได้กระทำลงไป หากผู้สูงอายุทุกคนหรือแม้แต่คนในวัยอื่นรับไปปฏิบัติ ก็ย่อมพบกับความสุขได้อย่างไม่ยากเลย
แต่จะดีไม่น้อย ถ้าลูกหลานไม่ปล่อยปะละเลยผู้สูงอายุในบ้าน เพื่อตอบแทนที่ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เกิด และให้ท่านมีความสุขมากที่สุดในบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเชื่อว่าท่านยังต้องการให้ลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ พูดคุย ดูแลเอาใจใส่ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ไม่เฉพาะแต่เพียง "วันผู้สูงอายุ" เพียงวันเดียวเท่านั้น
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...