วิธีหาเงินบนโลกไอที ตอน ปิดเทอมแล้วมาหาเงินกัน

วิธีหาเงินบนโลกไอที ตอน ปิดเทอมแล้วมาหาเงินกัน วัยรุ่นยุคนี้รู้ดีว่าประสบการณ์และรายได้ระหว่างเรียนไม่ได้หาได้จากการทำงานพาร์ทไทม์อย่างเดียว แต่สามารถหาได้จากโลกออนไลน์ด้วย วันนี้นักศึกษาที่กำลังมองหาช่องทางทำเงินบนโลกไอทีอย่าพลาด เพราะคำตอบว่าจะเริ่มที่ไหน เริ่มยังไงได้บ้าง และทำไมถึงต้องเริ่มในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย รออยู่แล้วในบทความนี้ ***เป็นนักศึกษาก็หารายได้จากอินเตอร์เน็ตได้
(บทความโดย อัศนี เปลี่ยนพันธ์ http://guiltwolf.com)

ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นช่วงชีวิตที่สั้นมาก ผ่านไปเดี๋ยวเดียวก็จะจบกันแล้ว นักศึกษาหลายคนรู้สึกว่าต้องการอะไรมากกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประสบการณ์ แน่นอนว่าอินเตอร์เน็ตคือทางเลือกยอดนิยมของประสบการณ์การหารายได้เสริม

บอกคนเลือกที่จะหาแผ่นป้ายตามบอร์ดคณะ หรือตามบอร์ดสาธารณะที่พูดถึงการหารายได้ทางอินเตอร์เน็ต เช่น “หารายได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต” หรือ “ใช้อินเตอร์เน็ตหารายได้วันละ xxx บาท” เพราะเมื่อผมสนใจติดต่อไปก็มักจะได้รับคำตอบคือให้ไปเข้าประชุมธุรกิจ และผมไม่เคยมีเวลาเข้าประชุมกับเขาเลย

ผมคิดว่า น่าจะมีการหารายได้ทางอินเตอร์เน็ตที่เป็นตัวตนมากกว่านี้และไม่ต้องเข้าประชุมธุรกิจ นั่นคือการใช้อินเตอร์เน็ตในการหารายได้ด้วยตนเอง เช่นการเป็นตัวแทนขายสินค้า ทำเว็บไซต์เพื่อติดแบนเนอร์ หรือกระทั่งสอนพิเศษ!

แต่ก่อนที่จะเริ่มทำอะไร เราสามารถแบ่งการดำเนินการเพื่อทำให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งหารายได้เสริมระหว่างเรียนออกมาได้เป็นข้อๆ เพื่อให้เป็นไปได้อย่างคาดที่หวังไว้

1.วางแผน - เริ่มจากการวางแผนว่าเราจะทำอะไร ยังไง มีเวลาเท่าไรในการทำ สิ่งที่เราทำนั้นจะคุ้มกับสิ่งที่เราจะเสียไปมากน้อยเท่าใด? รบกวนเวลาเรียนของเรามากจนเกินไปหรือไม่? เพราะว่าเราเป็นนักศึกษาผู้ที่มาเพื่อศึกษา ในบางคราวเราต้องเลือกว่าเราจะเลือกอะไรเป็นหลักก็ขอให้เลือกหน้าที่หลักของตัวเอง

2.เข้าใจ - ต้องเข้าใจก่อนว่าการหารายได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตไม่สามารถทำให้เราร่ำรวยหรือออกผลให้เราเป็นจำนวนมากได้ภายในช่วงข้ามคืน ทุกอย่างต้องค่อยๆเป็นและค่อยๆไป เคยมีเพื่อนของผู้เขียนบางคนที่เข้าใจว่าการหารายได้ทางอินเตอร์เน็ตเมื่อทำแล้วจะต้องได้รายได้กลับคืนทันทีที่ลงมือทำ ทำให้บางคนที่เริ่มทำเห็นรายได้ที่เป็นผล (Rusult) ออกมาน้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย ทำให้รู้สึกท้อใจและเลิกไปบ้างก็มี

3.หาข้อมูลและตอบคำถามตัวเอง - เริ่มต้นจากการหาข้อมูลจากแหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูลต่างๆว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นเป็นอย่างไรบ้าง? มีความเป็นไปได้แค่ไหน? มีผู้ที่มีประสบการณ์ว่าอย่างไรบ้างและเว็บไซต์นั้นๆได้อะไรจากที่เราบ้างหลังจากที่เราได้ไปทำลงไป ไม่มีอะไรที่ฟรี 100% ขนาดเว็บไซต์ Google เองที่หลายๆท่านคิดว่าฟรีก็ยังได้ข้อมูลการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อนำไปพัฒนาระบบค้นหาและการแสดงโฆษณาให้ดียิ่งๆขึ้น

4.ลงมือ - ลงมือปฎิบัติตามแผนที่ได้วางเอาไว้ แผนที่มีไม่ได้ทำให้เรามีรูปแบบการทำงานที่ตายตัวแต่มีไว้เพื่อเป็นแนวทางให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ทำไปเรื่อยๆแบบไม่มีจุดหมาย

5.มองดู - มีคำกล่าวเอาไว้ว่า “เรามักมองตัวเราเองด้วยดวงตาของเรา แล้วเราเคยมองตัวเราด้วยดวงตาผู้อื่นหรือเปล่า?” ลองมองดูและวิเคราะห์ด้วยตัวเราเองว่าสิ่งที่เราทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่? บางครั้งการถามผู้รู้ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว เพราะการถามทางผู้ที่เคยผ่านทางมาแล้วย่อมเร็วกว่าเราไปเริ่มลองผิดลองถูกเอง

โดยตามปกติในชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้น นอกจากจะเรียนและเรียน แล้วยังทำกิจกรรมอีกด้วย เพื่อไม่ให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยนั้นน่าเบื่อจนเกินไป การทำกิจกรรมยังให้ประสบการณ์ชีวิตดีๆ ที่ในบ้างครั้งในห้องเรียนอาจให้เราไม่ได้ แล้วยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่มีแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปให้กับเราอีกด้วย ซึ่งบางครั้งเรื่องที่คาดไม่ถึงอาจทำให้เราได้แง่มุมใหม่ในการหารายได้ก็ได้

ก่อนอื่น ผู้เขียนขอแนะนำลองเปิดเว็บบล็อก (Weblog) ของตัวเองขึ้นมาสักเว็บ (ในกรณีของผู้เขียนก็เป็นเว็บไซต์ http://guiltwolf.com) ซึ่งเอาไว้พูดเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังจะทำๆอยู่บางทีก็เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้ด้วยการพิมพ์ การรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นๆ นอกจากจากเปิดมุมมองใหม่ๆได้แล้วยังช่วยให้เราได้ระบายได้อีกด้วย หรือถ้าพูดกันตรงๆก็มีไว้อวดนั้นแหละ

แต่ถ้าพูดถึงตัวอย่างของการนำไอทีหรืออินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยให้นักศึกษาอย่างเราๆ หารายได้ระหว่างเรียนได้และเห็นภาพได้ชัดเจนและโดยตรงก็คงเป็นการรับสอนพิเศษ ทุกๆวันนี้ผมเห็นนักศึกษาจำนวนมากพยายามหารายได้เสริมด้วยการสอนพิเศษและก็มีเว็บไซต์ที่เห็นโอกาสเหล่านี้ โดยเปิดเป็นตัวกลางระหว่างผู้สอนพิเศษ (นักศึกษา) กับผู้เรียน ซึ่งนั่นก็ทำให้รายได้ออกมาค่อนข้างดีและ win-win (หรือที่เรียกว่าชนะทั้งคู่) ของทั้งสองฝ่ายระหว่างตัวกลางและผู้สอนพิเศษ

ตัวอย่างเช่น ผมเปิดบริการรับจัดหาครูสอนพิเศษให้ เปิดเป็นตัวกลางให้ผู้ที่อยากสอนพิเศษหารายได้เสริมและนักเรียนหรือผู้ที่สนใจหาครูสอนพิเศษ ตัวเว็บเองก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเช่นให้นัดกันหรืออาจติดต่อให้ก็ได้ ซึ่งทางเว็บที่เป็นตัวกลางอาจจะได้ค่าคอมมิชชั่นหรือที่เรียกว่าค่าหัวคิวในการจัดครูสอนพิเศษอีกด้วย

ตัวอย่างรองลงมาที่เห็นเป็นจำนวนมากอีกอย่าง ก็คือการหารายได้โดยการสร้างเว็บไซต์ บล็อก (Weblog) หรือสร้างคอมมูนิตี้ (Community หรือเรียกว่าชุมชน) เกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจ ขึ้นมาเพื่อเป็นแบ่งบันความรู้ของเรา หรือรวบรวมคนที่สนใจในเรื่องเดียวกับเรา แล้วเปิดรับติดโฆษณาลงไปในเว็บไซต์นั้นๆเพื่อทำการหารายได้เสริมให้กับเว็บไซต์

การสร้างคอมมูนิตี้ เราต้องหาจุดเด่นในตัวเองให้รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรแตกต่างจากคนอื่น สำหรับนักศึกษาก็ควรทำเว็บที่ตัวเองถนัดหรือในเรื่องที่ตัวเองชอบ และไม่ทำให้เสียเวลามากจนเกินไปเพราะผมยังเน้นในหัวข้อที่กล่าวไว้คือ เรามีหน้าที่ยังต้องเรียนอยู่ (ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงให้เห็นแก่เรียนจนไม่สนใจเพื่อนฝูง)

การสร้างเว็บบล็อกขึ้นมาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหารายได้ที่นิยมกันมาก เพียงผู้ที่ทำเว็บบล็อกนั้นต้องการเผยแผ่ในเรื่องที่ตัวเองสนใจหรือเรื่องที่ตัวเองถนัดแล้วติดแผ่นป้ายโฆษณาก็ทำให้หารายได้ได้อย่างง่ายดายแล้ว และการดูแลรักษาง่ายกว่า Community ตรงที่ไม่ต้องคอยดูแลสมาชิกหรือคอยหาอะไรใหม่ๆแปลกๆมาลงเพื่อให้สมาชิกอยู่ใน Community นานๆ

และอีกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมและทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำคือการทำ Affiliate (หรือที่เรียกว่าพันธมิตรทางการค้า/นายหน้า) หลักการทำงานของระบบ Affiliate คือการที่เรานำสินค้าหรือบริการของเจ้าของสินค้าและบริการมาลงที่เว็บของเราเมื่อมีผู้สนใจซื้อสินค้าหรือบริการเราก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่นหรือที่เราเรียกว่าเงินที่ปันผลให้มาการทำ ซึ่งโดยตามปกติิิ สินค้า หรือ บริการของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นจะเป็นลิงค์ที่พาเชื่อมต่อไปยังหน้าสินค้านั้นๆของตัวเองโดยที่ผู้ที่ทำการโฆษณาจะได้รับผลตอบแทนหลังจากที่มีผู้ซื้อสินค้าสนใจ

ช่องทางเชื่อมมีตั้งแต่ลักษณะของลิงค์ ป้ายโฆษณา หรืออื่นๆแล้วแต่ทางเจ้าของสินค้ากำหนด โดยสินค้าที่นิยมขายมักจะเป็นสินค้าทั่วๆไปเช่น รองเท้า ของเล่น หรืออื่นๆ แต่ส่วนบริการส่วนใหญ่จะเป็นบริการให้พื้นที่เช่นทางอินเตอร์เน็ต,ของที่จับต้องไม่ได้เช่น Software (หรือโปรแกรม) หรือที่ง่ายกว่านั้นก็จะเป็น การตอบแบบสอบถามหรือการตอบแบบฟอร์มที่ทางเจ้าของสินค้าและบริการทำเอาไว้

ในบ้านเราก็มีการตอบแบบฟอร์มแบบนี้เช่นกัน (แต่ไม่แน่ใจว่ามีการทำเป็นแบบ Affiliate หรือไม่) คือการนำของรางวัลมาสุมแจกให้กับผู้ที่ตอบแบบสอบถามเป็นรางวัล ซึ่งทำให้มีผู้ตอบแบบสอบถามมาเป็นจำนวนมากเพราะสนใจในของรางวัล โดยทางเจ้าของสินค้าก็จะนำข้อมูลจากการกรอบแบบฟอร์มหรือผลสำรวจเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตลาดต่อไป

การทำ Affiliate เป็นการหารายได้ที่ค่อนข้างนิยม ถึงขนาดมีคนตั้งบริษัทเพื่อทำเรื่องนี้โดยตรงเลยก็มี การทำ Affiliate ทำได้ไม่ยากแต่ก็ต้องใช้เวลาและประสบการณ์

หาทีมดึงเพื่อนช่วย

ขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่นักศึกษาอยางเราๆจะสร้างทีมงานขึ้นมาช่วย เพราะในบางครั้ง เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ในช่วงที่เป็นนักศึกษาอยู่

นี่แหละที่ผมรู้สึกว่าเราสามารถสร้างทีมงานในระดับมิตรภาพได้โดยที่ไม่ต้องเซ็นสัญญากันให้ยุ่งยาก อาจแค่บอกให้เพื่อนๆมาช่วยแล้วอาจแบ่งผลกำไรจากการประกอบการให้ตามสมควร แต่การนำเพื่อนมาช่วยทำงานต้องดูเป็นข้อๆ

1.เพื่อนไม่ใช่พนักงาน - บางคนให้เพื่อนมาช่วยทำงานแล้วสั่งอย่างเดียว บางครั้งเราต้องเข้าใจก่อนว่าเพื่อนบางคนไม่ได้ทำเพราะตัวเงินอย่างเดียว บางคนทำเพราะอยากช่วยด้วยความสนุก-มิตรภาพ การสั่งอย่างเดียว(หรือนิสัยชอบสั่ง) อาจทำให้ทีมล่มได้ง่ายๆ แถมอาจทำลายมิตรภาพที่สร้างกันมาเสียอีก

2.เพื่อนเป็นคน - เราไม่ได้ทำงานกับเครื่องจักรเรากำลังทำงานกับคน คนที่เป็นมนุษย์จริงๆที่มีความรู้สึก และสมองสั่งการด้วยเหตุผล ในบางครั้งอยากให้รู้ว่าการหารายได้ระหว่างเรียนอยากให้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริงจังของชีวิตและไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ถ้าทำไม่สำเร็จหรือใครทำผิดพลาดลงไป แต่ อยากให้ถามถึงกันบ่อยๆว่าเป็นยังไงบ้าง? มีปัญหาอะไรไหม? คนเราเข้าใจกันได้ง่ายด้วยการถามเพื่อช่วยความรู้สึกและเราทำงานกับคนต้องใส่ใจเรื่องความรู้สึกกันด้วย

3.ทำตัวเป็นแกนนำแต่อย่าทำตัวเป็นเป็นเจ้านาย - การทำอะไรร่วมกับเพื่อนบางทีเราจะทำตัวเป็นเจ้านายเพื่อนไม่ได้ ในการทำงานร่วมกับเพื่อนเราต้องใส่ใจความรู้สึกเพื่อนๆมากๆ เพราะเรามักจะดูตัวเราในสายตาของตัวเองว่าดีพอแล้ว โอเคแล้ว แต่บางครั้งเปลี่ยนมุมมองบ้างว่าถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกยังไง

4.แบ่งบันเรื่องผลประโยชน์ให้ชัดเจน - คุยกันให้เรียบร้อยว่าจะแบ่งผลประโยชน์กันยังไงบ้าง คำกล่าวที่ว่า “เรื่องเงินๆทองๆไม่เข้าใครออกใคร” นี่เป็นเรื่องจริง บางครั้งเราต้องคุยกันให้เรียบร้อยเพราะบางงานคนนี้ทำงานหนักคนนี้ทำเบา จนบางครั้งทำให้คนที่ทำงานหนักก็ท้อหนีหายไปบ้างก็มีเพราะว่าผู้ที่ทำงานหนักแต่ได้รับผลประโยชน์เท่ากับคนที่ทำงานเบาก็คงจะรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

5.เรียนเป็นหลัก - เรามีหน้าที่หลักเป็นการเรียน ไม่อยากให้เห็นว่าการหารายได้เสริมระหว่างเรียนเป็นหลักของการมาเรียนที่มหาลัย

6.อย่าให้เงินมาบดบังมิตรภาพ - เงินซื้อมิตรภาพไม่ได้ เงินเป็นแค่ตัวกลาง การทำงานก็ทำให้เรารู้จักเพื่อนของเรามากขึ้น เช่นเดียวกับการทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย ชวนเพื่อนมาทำก็ชวนหากเขาสนใจอย่าไปบังคับเขา ถ้าเขาไม่เต็มใจ

โดยรวมๆแล้วผู้เขียนรู้สึกว่าการทำงานเป็นทีมนี้ง่ายกว่าที่คิดมาก แต่ก็ขอให้รู้จักดูแลเอาใจใส่เพื่อนๆของเรา

ขอย้ำว่าการหารายได้ทางอินเตอร์เน็ตก็ทำให้เรามีประสบการณ์เช่นเดียวกับการทำงาน Part-Time ที่ทำให้เราได้เห็นได้รู้อะไรใหม่ๆและบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเฝ้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ผู้เขียนเคยฟังสัมนาที่เกี่ยวกับธุรกิจมาหลายครั้ง (เพราะเพื่อนชวนแกมบังคับ) สิ่งที่วิทยากรพูดให้ผู้เขียนฟัง (อาจเพื่อการสร้างแรงบรรดาลใจ...?) คือ “ใครบอกว่าวัยเรียนเป็นวัยเที่ยว เขาก็จะได้ทำงานไปตลอดชีวิตหลังจากเที่ยวเสร็จแล้ว ส่วนคนที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจบออกมาก็จะสบายไม่ต้องมาทำงานไปตลอดชีวิตอีก” ผู้เขียนคิดว่าไม่จริง เวลาแค่ไม่กี่ปีไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอะไรมากมายขนาดนั้น และทุกอย่างล้วนอยู่ที่การกระทำของเราแทบทั้งนั้น

โดยภาพรวมแล้วการหารายได้ระหว่างการเรียนด้วยอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และทำได้หากเรารู้จักการแบ่งเวลา เราจะสามารถหารายได้ได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเวลากับมันมากจนเกินไป และเรายังสามารถเลือกเวลาทำงานได้ มีอิสระภาพในการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว

----

“นิทานจะยาวสักเท่าใดนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่นิทานเรื่องนี้จะจบลงเช่นไรต่างหาก” คำขวัญปิดท้ายจาก JK ครับ

ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์