อย่าเครียด...เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ/ดร.แพง ชินพงศ์ปัจจุบันคำว่า "เด็กพิเศษ" (Special Child) เป็นคำที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ และหลายคนคงมีความเข้าใจในความหมายที่แตกต่างกันออกไป จริงๆแล้วคำว่า “เด็กพิเศษ” นั้น มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
อีกทั้งยังต้องการความช่วยเหลือและการดูแลเป็นพิเศษยิ่งกว่าเด็กทั่วๆไป เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ด้านต่างๆ ซึ่งอาจไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาอย่างเด็กทั่วไปได้ หรือเป็นเด็กที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยเราสามารถแบ่งประเภทของเด็กพิเศษได้ ดังนี้
- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
1. ความบกพร่องทางสุขภาพ หมายถึง เด็กที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีร่างกายพิการ เช่น แขนขาลีบ แขนขาด้วนหรือเป็นโรคร้ายแรง
2. ความบกพร่องทางการได้ยิน หมายถึง เด็กที่มีปัญหาด้านการฟังหรือสูญเสียการได้ยิน เช่น หูตึง หูหนวก
3. ความบกพร่องทางการเห็น หมายถึง เด็กที่มีปัญหาด้านการมองเห็นภาพ เช่น มองเห็นไม่ชัดหรือตาบอดสนิท
- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้
หมายถึง เด็กที่มีระดับของ IQ ต่ำกว่า 70 เช่น เด็กเรียนช้าหรือเด็กปัญญาอ่อน เด็กในกลุ่มนี้จะขาดทักษะทั่วไปในการเรียนรู้ โดยไม่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการเรียนรู้ การดูแลช่วยเหลือตัวเอง การควบคุมตนเองหรือการสื่อความหมายกับผู้อื่นผ่านทางภาษาพูด ภาษาท่าทาง การฟังและการอ่าน ให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกับเด็กในวัยเดียวกันได้
- เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์
หมายถึง เด็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองให้อยู่ในสภาพปกติได้ บางกลุ่มอาการอาจมีพฤติกรรมเก็บกด ชอบแยกตัวจากผู้อื่น และบางกลุ่มอาการ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กสมาธิสั้น ซึ่งมักมีนิสัยไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบวิ่งวุ่น ปีนป่าย เล่นเงียบๆไม่ได้ ไม่สามารถรอคอย อีกทั้งไม่สามารถทำตามคำสั่งของคนอื่นได้ หรือเด็กออทิสติก ซึ่งจะมีพัฒนาการทางการพูดที่ล่าช้ากว่าเด็กปกติ ชอบทำกิริยาซ้ำๆ เช่น โยกหัวหรือโยกตัวไปมา สะบัดมือไม่หยุด หรือย้ำคิดย้ำทำ พูดจาซ้ำๆซากๆ บางครั้งพูดเป็นภาษาที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจได้ และโดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบอยู่ตัวคนเดียวมากกว่า
- เด็กพิการซ้ำซ้อน
หมายถึง เด็กที่มีความพิการมากกว่า 1 อย่างรวมอยู่ในคนๆเดียวกัน เช่น มีทั้งความบกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยิน หรือปัญญาอ่อนและพิการแขนขาด้วนด้วย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกของเราเป็นเด็กพิเศษ ควรจะทำอย่างไรต่อไป
1. พาไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เด็กพิเศษส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งอาจมีอาการหรือมีพฤติกรรมที่ปรากฏขึ้นมาในลักษณะที่เราไม่สามารถควบคุมเองได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาเยียวยาทางการแพทย์ช่วยจึงจะเป็นผล เช่น เด็กสมาธิสั้นหรือเด็กออทิสติก ต้องกินยาเพื่อปรับและควบคุมอาการไม่ให้กำเริบจนถึงระดับที่คลุ้มคลั่งหรือควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปรับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและเมื่อแพทย์สั่งยามาให้ลูก ก็ควรดูแลให้ลูกได้รับประทานยาอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ หากมีลูกเป็นเด็กพิเศษในกลุ่มของเด็กที่มีความพิการทางด้านร่างกาย เช่น แขนขาลีบ ตาบอดหรือหูหนวก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งอาจช่วยแก้ไขความบกพร่องได้ส่วนหนึ่ง หรือพาลูกไปเข้าโรงเรียนสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสอนคนหูหนวก เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างไม่รู้สึกลำบากหรือไม่รู้สึกแปลกแยก
2. ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กพิเศษนั้นมักต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจและความอบอุ่นในหัวใจให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง เพราะอาจจะมีปัญหาหลายอย่างตามมาอย่างคาดไม่ถึง ผู้เขียนรู้จักครอบครัวหนึ่งที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติก วันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ออกไปทำธุระนอกบ้านแล้วปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงตามลำพัง แต่พี่เลี้ยงกลับไปทำธุระอย่างอื่นแล้วทิ้งให้เด็กอยู่คนเดียว ปรากฏว่าเด็กจุดไฟเผาบ้าน ดีที่พี่เลี้ยงกลับมาดับไฟได้ทันก่อนที่ไฟจะลุกลามไหม้บ้านจนวอดวาย ดังนั้นอย่าปล่อยให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษต้องอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาดเพราะเขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้นั่นเอง
3. ให้เด็กทำกิจกรรมเสริมทักษะ เป็นต้นว่าให้เด็กออกกำลังกายอย่างง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่งเล่น โยนลูกบอลลงห่วง ให้เด็กทำงานศิลปะ เช่น วาดรูป ระบายสี ปั้น แปะรูปภาพ หรือให้เด็กทำกิจกรรมดนตรี เช่น ร้องเพลง เต้นระบำตามเสียงดนตรี เล่นดนตรี ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการสอนดนตรีกับเด็กพิเศษมาแล้วหลายคน พบว่าเป็นเรื่องน่าแปลกที่เด็กพิเศษประเภทออทิสติกนั้นมักจะมีความสามารถทางด้านดนตรีอย่างมากเลยทีเดียว เพราะมีเด็กออทิสติกหลายคนที่สามารถเล่นเปียโนได้ดีและเล่นได้จนจบเพลงโดยที่ไม่มีความผิดพลาด แม้ว่าเขาจะอ่านโน้ตไม่ได้เลยก็ตาม
การมีลูกเป็นเด็กพิเศษคงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลไม่น้อย ทั้งคิดมากสารพัดว่าทำไมลูกเราถึงเกิดมาเป็นแบบนี้ แต่ผู้เขียนอยากเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษว่า อย่าคิดโทษสิ่งใดเลยที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนี้ คิดเสียว่าเรามีคนๆหนึ่งที่พิเศษเหลือเกินมาอยู่ในความคุ้มครองดูแลของเราแล้ว เราก็ควรทำหน้าที่ดูแลเขาให้ดีที่สุด
ที่สำคัญคือทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความเข้าใจในกันและกันให้มากๆ หมั่นคอยดูแลจิตใจของกันและกันให้ดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่สามารถจะนำมาใช้ดูแลลูกคนพิเศษของเราให้เติบใหญ่และมีชีวิตที่ราบรื่นเป็นสุขได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อย่าไปคาดหวังมากนักว่าทำอย่างไรลูกของเราจะช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น หรืออีกนานแค่ไหนที่ลูกของเราจะมีพัฒนาการในด้านต่างๆที่ดีขึ้น เพราะเราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะไปกะเกณฑ์สิ่งใดกับเขาได้
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษทุกคนว่าให้รักเขาอย่างที่เขาเป็น อย่าไปสร้างเงื่อนไขหรือตั้งความหวังกับลูก เพราะนอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดแล้ว ยังจะทำให้ลูกอึดอัด เกิดความคับข้องใจ และอาจมีผลกระทบในแง่ลบต่อพฤติกรรมของเขาจนอาจจะทำให้อาการผิดปกติต่างๆที่เป็นอยู่นั้นถดถอยลงกว่าเดิมได้ ดังนั้นจึงอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ให้ความรักและความเอาใจใส่ก็ดีที่สุดแล้วสำหรับลูกคนพิเศษของเรา
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
อ่านละครเรื่อง นาคี
-
อ่านละครเรื่อง นาคี (ตอนล่าสุดคลิก) อ่านละครเรื่อง นาคี ละครเรื่อง นาคี
บทประพันธ์โดย ตรี อภิรุม ละครเรื่อง นาคี บทโทรทัศน์โดย สรรัตน์
จิรบวรวิสุทธิ์ ละครเ...