วิธีเลี้ยงลูก "แนวเก่า-แนวใหม่" เลี้ยงอย่างไรให้ลงตัว

วิธีเลี้ยงลูก "แนวเก่า-แนวใหม่" เลี้ยงอย่างไรให้ลงตัวเมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ร่ำรวยทางเทคโนโลยี และอยู่ในวงล้อของการแข่งขันที่ "เม็ดเงิน" และ "ปัญญา" คือตัวแปรสำคัญของความอยู่รอด ทำให้การเลี้ยงลูก ต้องเผชิญกับความซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะความโหดร้ายของสังคม ทั้งคน และความสะดวกสบาย ทำให้หลายบ้านเกิดคำถามคาใจขึ้นว่า "แล้วจะเลี้ยงลูกแนวเก่า หรือแนวใหม่อย่างไรให้ลงตัว และไม่สับสน"

กับเรื่องนี้ "ธิดา พิทักษ์สินสุข" หรือ "ครูหวาน" ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้มุมมองในงานเปิดตัวห้องเรียนพ่อแม่ที่โรงเรียนฤธิยะวรรณาลัยฝ่ายประถม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเลี้ยงลูกของครอบครัวสมัยก่อน มีข้อดีตรงที่เป็นครอบครัวขยาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นการสอนด้วยการเห็นแบบอย่างจากปู่ย่าตายาย เช่น ลูกจะเห็นแม่ปฏิบัติต่อคุณยาย เห็นการใช้ชีวิต ทำให้เด็กเป็นอย่างที่พ่อแม่เป็น มากกว่าเป็นแบบที่พ่อแม่บอกให้เป็น

"พ่อแม่สมัยก่อน จะให้เด็กได้ใกล้ชิดกับของเล่นใกล้ตัวอย่างธรรมชาติ เด็กจึงไม่ค่อยติดอยู่กับวัตถุนิยม ไม่เรียกร้องอะไรมากนัก แต่จุดอ่อนคือ กรอบการเลี้ยงลูกสมัยก่อน แน่นเกินไป ลูกจะต้องอย่างนั้น อย่างนี้ ดังนั้นอิสระในการคิด หรือใช้ชีวิตจึงมีน้อย" ครูหวานเล่า

พอมาถึงยุคสมัยใหม่ ครอบครัวใหญ่ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น สังคมซับซ้อน และมีความน่ากลัวแฝงอยู่มาก เด็กจึงต้องเผชิญกับความโหดร้ายทางสังคม ทั้งคน และวัตถุ ทำให้การเลี้ยงลูก ต้องถูกเปลี่ยนไป

ครูหวาน บอกว่า การเลี้ยงลูกยุคใหม่ พ่อแม่ต้องใช้สติให้มากกว่าสมัยก่อน ซึ่งบางครั้งสภาพสังคมอาจทำให้พ่อแม่ขาดสติ และใช้เงินกับงานเป็นตัวตั้ง พ่อแม่จึงเอาลูกไม่อยู่ ทำให้การเลี้ยงลูกกลายเป็นการเลี้ยงแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการตามใจ เพื่อให้ผ่านๆ ไป เด็กจึงขาดทิศทางในการคิด อยู่กับความสุขเกินจริง

ดังนั้น แนวการสอนสมัยเก่า อาจจะใช้ไม่ได้ผลในสังคมปัจจุบัน จึงต้องยืดหยุ่นไปตามวิถีของสังคมด้วย โดยให้อิสระให้ลูกเรียนรู้ และตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น ขณะที่แนวการสอนบางเรื่อง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี นั่นคือ การสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำงาน เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่เป็นผู้บังเกิดเกล้า ไม่ใช่เป็นลูกบังเกิดเกล้าเหมือนอย่างที่พ่อแม่ยุคใหม่หลายคนกำลังหลอมให้เป็น เด็กจึงขาดน้ำใจ ไม่เกรงใจคน เพราะเน้นไปที่ปัญญาของลูกเป็นหลัก จนลืมส่วนสำคัญของคุณธรรมที่เป็นต้นทุนของชีวิตไป "สมมติว่าลูกกำลังอ่านหนังสืออยู่ เห็นคุณพ่อกวาดบ้าน จึงลุกขึ้นมาช่วย แต่แม่กลับบอกว่า ไม่ต้องลูก อ่านหนังสือไปเถอะ ตรงนี้ถือว่าคุณแม่กำลังเลี้ยงลูกให้ขาดจิตอาสา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกบ้านจะต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นความรู้ กับทุนชีวิตให้ควบคู่กัน รวมทั้งการได้คุยกับลูก ให้แง่คิด ชวนลูกคิด นั่นจะช่วยให้เด็กฉลาดคิด และฉลาดใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคุณธรรม นำไปสู่การครองชีวิตในสังคมที่ซับซ้อนได้อย่างเข้มแข็ง มีความสุข และเอาตัวรอดเป็น พร้อมกับเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี" ครูหวานยกตัวอย่าง

ไม่เพียงเท่านี้ ความงามในสิ่งของรอบตัวลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่จะต้องชักนำ และชักจูงลูก ครูหวานเล่าว่า "ลองนึกดู เวลาลูกเดินออกไป แล้วคุณยายสอนวิธีดูมะม่วงสุก แล้วหนูได้มะม่วงอร่อยกลับบ้าน หนูจะรักคุณยายคนนี้ไหม หนูเดินไปถึง เจอคุณตา คุณตาก็สอน ซึ่งทุกๆ คนเอื้ออาทรต่อกันหมด ตรงนี้พ่อแม่ต้องเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ลูกได้เรียนรู้จากคุณตา คุณยายเหล่านั้น หรือใครก็ได้ในชุมชน หรือสังคม ทำให้ลูกเห็นว่า คนรอบข้างให้ความรัก แล้วเด็กจะเห็นคุณค่าในตัวเอง และเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว เห็นความงาม ความดี ไม่ต้องไปแสวงหาไกล โดยให้ลูกเดินห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว"

คงต้องยอมรับกันได้แล้วว่า การเลี้ยงลูกแนวเก่า ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบ ฝึกให้เด็กรู้จักทำงาน เริ่มจากงานบ้าน และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ยังคงหลอมเด็กให้เก่ง และแกร่ง ขัดแย้งกับยุคสมัยใหม่ ที่ความเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเด็ก เพราะถ้าขาดต้นทุนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะความฉลาดในการใช้ชีวิต เด็กจะไม่สามารถรับมือกับสังคมยุคใหม่ในโลกใบใหญ่ได้อย่างมีสติกลายเป็นเด็กอ่อนต่อโลกที่ป่วยใจได้ทุกเวลา และทุกสถานที่


ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์