
เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.วรนาถ รักสกุลไทย นักการศึกษาและกรรมการสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย เผยถึงแนวโน้มของเด็กไทยในทศวรรษที่ 21 ว่า เด็กจะขาดวินัย และความรับผิดชอบ เพราะแม้แต่เวลาไปโรงเรียน พ่อแม่ยังช่วยแบกเป้ สะพายกระเป๋า ถือปิ่นโต ห้อยกระติกน้ำแทนลูก ดังนั้นถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ มีระเบียบวินัย กล้าเผชิญกับปัญหา แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
อย่างไรก็ดี หนึ่งในงานที่ช่วยฝึกหน้าที่ และความรับผิดให้เด็กได้ดีนั้น คือ "งานบ้าน" เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกควรจะมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมในแต่ละวัย ฝึกให้เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เนื่องจากเด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น พ่อแม่ต้องทำให้งานบ้านเป็นเรื่องเล่นๆ สำหรับเด็ก ทำให้ลูกรู้สึกว่าอยากทำ และเชื่อว่าสามารถทำได้ โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การมีน้ำใจหยิบน้ำเย็นๆ มาให้ญาติผู้ใหญ่ดื่ม หรือให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กลับจากทำงานนอกบ้านมาเหนื่อยๆ
"เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบขึ้นไป สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างเข้าใจได้ แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งพ่อแม่ต้องมีความอดทนในการสอนงานบ้านให้กับลูก อย่าดูถูกความสามารถของลูก ให้เวลากับเขาได้ใช้ความพยายาม อาจมีการท้าทายแบบชักชวน เช่น การขัดรองเท้าว่าวันนี้ลูกขัดรองเท้าข้างซ้ายสะอาดกว่าข้างขวาอีกนะ แล้วจะทำยังไงให้มันสะอาดเหมือนกันดีค่ะ เด็กจะพยายามทำให้รองเท้าคู่นั้นสะอาดเหมือนกันได้" กรรมการสมาคมอนุบาลฯ อธิบาย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของเด็กอนุบาลรายนี้ได้ยกตัวอย่างจากครอบครัวของตัวเธอไว้เป็นแนวทางว่า สมัยก่อนครอบครัวเป็นชาวประมง มีกิจวัตรประจำวันหลังอาหารมื้อเย็นที่ทุกคนในบ้านต้องรับผิดชอบ ด้วยกันคือ นั่งล้อมวงกันเพื่อช่วยกันเก็บเศษไม้ใบหญ้าที่ติดมากับกุ้ง หอย ปู ปลาที่หามาได้ ทุกคนจะไม่คิดว่าเป็นการทำงานเลย
นอกจากนี้ ยังมีเกมที่ดึงเด็กให้สนุกกับงานบ้าน ชื่อว่า "งานบ้านตามล่ามหาสมบัติ" โดยเกมนี้ ดร.วรนาถ เล่าว่า คุณตาคุณยายมักจะชอบวางเงินไว้ตามใต้แจกัน หลังตู้เสื้อผ้า บนเก้าอี้ หลานๆ คนไหนขยันทำความสะอาด หรือว่าทำงานบ้านก็จะได้เงินไป เหมือนเป็นเกมตามล่ามหาสมบัติ สร้างแรงจูงใจในตัวเธอ และพี่น้อง ขยัน ที่จะทำงานบ้านอย่างเต็มที่ และสนุกในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ ทีมงานได้พูดคุยกับครอบครัวที่ให้ลูกมีส่วนร่วมกับงานบ้าน เริ่มจากครอบครัวของ "รุ่งนภา นิ่มน้อย" หรือ "ฝน" คุณอาของน้องบีม วัย 3 ขวบ เล่าว่า เธอเลี้ยงหลานคนนี้มาตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มี ย่า พ่อ แม่ น้า อา น้องชาย น้องสาว และหลาน (น้องบีม) โดยที่บ้านจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ส่วนมากผู้ใหญ่บ้านนี้จะออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนเด็กๆ จะอยู่ในความดูแลของเธอ ทั้งน้อง และหลาน ซึ่งหลักการเลี้ยงหลานของเธอ คือ ให้รู้จักหน้าที่ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเรียนรู้งานบ้านเป็นพื้นฐาน

ไม่ต่างจาก "ครอบครัวเห็นการไกล" ถึงแม้จะเป็นครอบครัวที่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการงานในบ้านอยู่แล้ว แต่คุณแม่บี-บงกช เห็นการไกล ก็ให้ความสำคัญในการฝึกให้ลูกสาว (นีน่า) วัย 3 ขวบ 3 เดือนทำงานบ้าน
"ที่บ้านมีแม่บ้าน 2 คน แต่พี่ก็สอนให้น้องนีน่ามีความรับชอบในหน้าที่ของตัวเอง อย่างการเล่นของเล่น พี่ก็จะบอกกับลูกทุกครั้งว่า ถ้าน้องนีน่าเล่นแล้วเก็บให้เป็นระเบียบนะคะ พอกลับมาเล่นอีกครั้ง ลูกก็จะหาของเล่นได้ง่ายกว่า ซึ่งลูกเข้าใจและจดจำ สร้างเป็นนิสัย เพราะทุกครั้งที่เขาหยิบของมาใช้ เมื่อใช้เสร็จเขาจะเก็บเข้าที่อย่างเป็นระเบียบ" คุณแม่บีเผย
ถึงตอนนี้ เธอบอกว่าเริ่มให้ลูกสาวหัดทำงานบ้านแล้ว โดยเฉพาะ เวลาที่อากาศร้อนๆ น้องนีน่าจะอาสาไปช่วยแม่บ้านซักผ้า พับผ้า หรือตอนเช้าก็แต่งตัวไปโรงเรียนเอง แม้ว่าเด็กวัย 3 ขวบ จะทำได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ แต่เธอก็เชื่อว่าจะเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักหน้าที่ได้
แม้ว่า "งานบ้าน" จะถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่เป็นงานที่สอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ถ้าพ่อแม่ทำให้เป็นเรื่องสนุก และเลือกทำอย่างเหมาะสม ถึงจะทำได้ไม่เต็มที่ อย่างน้อยลูกจะได้ซึมซับความรับผิดชอบ หน้าที่ และการช่วยเหลือคนอื่น ไม่เห็นแก่ส่วนตนเพียงอย่างเดียว
ที่มา http://www.mgronline.com/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000072288