การออกแบบที่ว่างสำหรับเด็ก

การออกแบบสำหรับเด็ก ๆ นั้นต่างกับการออกแบบประเภทอื่นอย่างไร ก่อนอื่นมาทำความรู้จักเด็กก่อนดีกว่า ถ้าเรามองดูช่วงอายุของเด็กในแง่การออกแบบแล้วไม่ได้มีการแยกแยะอย่างจริงจัง เราแบ่งตามช่วงวัยเรียน วัยเด็กก็คือช่วงอายุในวัยประถมจนถึงประมาณมัธยมต้นและมีความแตกต่างจากวัยรุ่น ในช่วงวัยรุ่นนั้นหลายคนอาจมีหลายอย่างที่แตกต่างไปจากสมัยเด็กโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นการออกแบบสำหรับเด็กนั้นย่อมต้องให้ความสำคัญในรายละเอียดให้มาก เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลปาลินา (ติวานนท์) บริหารโดยคุณปารวดี หงษ์ประยูร ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่อเด็กทางด้านพัฒนาการ ความปลอดภัย ประโยชน์ใช้สอย และสุนทรียภาพ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก อาทิ

1. ออกแบบอาคารให้ไร้เหลี่ยม ในส่วนเสาและผนังปูนต่าง ๆ จะให้มนกลม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการที่เด็กวิ่งเล่น

2. ห้องเรียนออกแบบให้เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านร่างกายและสมอง อย่างเช่นผนังห้องเรียนมีวอลเปเปอร์ ภาพการ์ตูน ภาพสัตว์ต่าง ๆ ภาพต้นไม้ เป็นต้น

3. พื้นสนามเด็กเล่นมีลวดลายสีสันสดใส

4. ลูกขึ้นบันไดจะเตี้ยและลูกนอนจะใหญ่มากขึ้นเพื่อป้องกันเด็กลื่นล้มในการขึ้นลงบันได

5. ประตูเข้า-ออกห้องเรียนมีสองทาง คือมีทางด้านหน้าห้องเรียนและหลังห้องเรียน

6. รางกันตกระเบียงสูงประมาณ 120 เมตร เพื่อป้องกันเด็กปีนป่าย

7. ไม่มีประตูห้องส้วมเพราะสามารถมองเห็นเด็กที่อยู่ข้างในห้องได้ หากเกิดอุบัติเหตุก็สามารถช่วยเหลือได้ทันที

8. สุขภัณฑ์ในห้องน้ำจะมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับเด็กเพื่อสะดวกในการใช้สอย

9. ระบบสระว่ายน้ำใช้ระบบเกลือ เพราะถ้าใช้แบบคลอรีน เด็กบางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้

นอกจากห้องเรียนและการใช้ชีวิตโรงเรียนแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่จะพบเด็ก ๆ เหล่านี้ในพัฒนาการการเรียนรู้ต่อไปคือการเรียนพิเศษเพิ่มเติม ขอแนะนำ Brain School สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชั้น 8 ฝั่งสำนักงาน บริหารโดยคุณครูผึ้ง

มีห้องเรียนจำนวน 6 ห้องในพื้นที่ประมาณ 170 ตารางเมตร ออกแบบมาเพื่อพัฒนากระบวนการความคิดของเด็ก ๆ อย่างเป็นระบบโดยออกแบบประตูห้องเรียนหลากสี เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ในการเข้าเรียน ผนังถูกตกแต่งด้วยลวดลายสีสันสดใสน่ารัก ทั้งนี้มุมภายในห้องเรียนถูกลบเหลี่ยมลบมุมด้วยคิ้วพลาสติกสำเร็จรูปเพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากเด็กวิ่งเล่นซุกซน ส่วนห้องน้ำในเซ็นทรัลลาดพร้าว ในโซนชั้นเรียน จะมีห้องที่มีไว้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ

ปัจจุบันในบ้านเรามีกฎหมายบังคับใช้เหมือนต่างประเทศมากขึ้นในการออกแบบสำนักงาน ห้างร้านต่าง ๆ ปั๊มน้ำมันและพื้นที่สาธารณะทั่วไป จะต้องมีพื้นที่และสัดส่วนให้เหมาะสมกับเด็ก คนชรา และคนพิการ เพื่อสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย

ทั้งนี้ผู้เขียนอยากรณรงค์ให้ทุกสถานที่มีพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ ไว้ในการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อเด็กไทยในอนาคต.

การออกแบบที่ว่างสำหรับเด็ก
ที่มา เดลินิวส์