รับมืออย่างไร เมื่อลูกไม่ชอบทำ "การบ้าน"

ภาพของเด็ก ๆ ที่รู้จักหน้าที่ด้วยการเปิดกระเป๋าหยิบการบ้านขึ้นมาทำหลังกลับจากโรงเรียนโดยไม่ต้องบอกนั้น เป็นภาพที่พ่อแม่หลาย ๆ ท่านปรารถนาจะให้เกิดกับลูกของตัวเองบ้าง เพราะบางคนกว่าจะเรียกให้ลูกทำการบ้านได้นั้นแทบจะหมดเรี่ยวหมดแรงไปตาม ๆ กัน

วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีเทคนิคดี ๆ จาก พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มาฝากเป็นแนวทางกัน

โดย พญ.สุธิรา เผยว่า การบอกให้ลูกทำการบ้าน เป็นความหวังดีของพ่อแม่ที่อยากฝึกให้ลูกเป็นเด็กมีวินัย หากแต่ในขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจด้วยว่า ลูกอาจเครียด หรือมีปัญหาในรายวิชานั้น ๆ อยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นหากลูกไม่ชอบทำการบ้าน ลองทำตามเทคนิคดังต่อไปนี้กันดูครับ เริ่มจาก

- สร้างบรรยากาศในชั่วโมงทำการบ้านให้อบอุ่น ถ้าลูกทำไม่ได้ ควรเป็นเข้าไปช่วยในเบื้องต้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เช่น วันนี้ลูกมีการบ้านวิชาศิลปะ แต่เบื่อที่จะลากเส้น ระบายสี คุณอาจเข้าไปช่วยลูกระบายสี โดยทำให้เป็นเรื่องสนุก จากนั้นคอยชื่นชม และให้กำลังใจลูกอยู่ข้าง ๆ แต่ไม่ควรนั่งกดดัน หรือเข้มงวดกับลูกมากจนเกินไป

- ให้ลูกได้พักบ้าง โดยอาจจะหาอาหารว่าง หรือกิจกรรมให้ลูกได้เล่นระหว่างพัก เช่น เกม ซึ่งไม่ควรให้ลูกนั่งทำติดต่อกันหลายชั่วโมง เพราะลูกจะเบื่อ และเมื่อถึงเวลาทำการบ้านในครั้งต่อไป เด็กจะไม่อยากทำ

- อดทนกับสีหน้าอันบูดเบี้ยวของลูก ถ้าดูแล้วว่าลูกไม่ได้เครียดกับวิชานั้น ๆ มากเกินไปขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทน และให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ ร้องไห้ เครียด ควรให้ลูกได้ทำอย่างอื่นแทนก่อน จากนั้นค่อย ๆ ต่อรองให้กลับมาทำการบ้านใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ขณะนั่งที่ลูกนั่งทำการบ้านอยู่นั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรร่ายกับลูกยาวเกินไป เช่น "ลูกรู้ไหม การที่หนูทำการบ้าน เป็นการฝึกความอดทนนะ ลูกต้องมีวินัยกับตัวเองนะ ถ้าแค่นี้ลูกทำไม่ได้ ตอนโตจะไปทำอะไรได้" แต่ควรพูดให้กระชับ และสั้น เช่น "เก่งจังเลยลูก โอ้โห เยี่ยมเลย แม่เอาใจช่วยอยู่นะ สุดยอดไปเลย" โดยลีลา และสีหน้าเป็นกุญแจสำคัญที่ควรแสดงให้ลูกรู้สึกเชื่อจริง ๆ ว่าเขาทำได้

สำหรับเด็กบางคนที่มีรายละเอียดสูง เช่น ทุกอย่างต้องเรียบร้อย ห้ามสกปรก ถ้าเขียนไม่สวย หรือวาดไม่สวยจะไม่อยากทำ เด็กในกลุ่มนี้ คุณหมอบอกว่า เป็นกลุ่มที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านหนักใจเหมือนกัน เพราะจะมองที่ผลลัพธ์เป็นหลัก วิธีที่ดีที่สุด คือ พูดยืดหยุ่นกับลูก เช่น "ไม่เป็นไรลูก แม่ว่าโอเคละ สวยไม่สวยขึ้นอยู่ที่ลูกได้พยายาม นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด" เป็นต้น

อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านมีคำถามอยู่ในใจว่า แล้วจะช่วยลูกทำการบ้านได้จนถึงเมื่อไร คำถามนี้ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นให้ตอบว่า ควรดูที่เด็กเป็นสำคัญว่าเขามีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ถ้าความรับผิดชอบเริ่มต้นที่ศูนย์ คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อย ๆ สอนไปทีละระดับ เมื่อลูกเริ่มทำได้ หลังจากนั้นลองให้ลูกได้ทำด้วยตัวเอง

ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่บางท่านในการสอนการบ้านลูก แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าใช้ใจในการสอน เพราะอย่างน้อย ๆ การชื่นชม และให้กำลังใจลูกอย่างต่อเนื่อง สามารถเปลี่ยนชั่วโมงทำการบ้านของลูกให้มีความสุขได้

นอกเหนือจากวิธีดังกล่าวแล้ว หากผู้อ่านท่านใดมีเทคนิค หรือแนวทางอื่น ๆ ที่เคยใช้แล้วได้ผล นำมาแลกเปลี่ยนกันได้ ทางเรายินดีน้อมรับด้วยความขอบคุณครับ
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์