แผ่นป้าย'คำอวยพรอักษรจีน'เสริมโชคลาภ...สิริมงคล

ช่วงนี้เยาวราชกำลังคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน บ้างก็หาซื้อของไหว้ บ้างก็มองหา “แผ่นป้ายคำมงคล” เพื่อนำไปติดไว้ที่บ้าน

เรื่องราวการเขียนคำอวยพรของชาวจีนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนจีนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและมีความหมายอย่างยิ่ง นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูกุล อาจารย์พิเศษภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เซียนพู่กันจีนอันดับหนึ่งของประเทศไทย เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนคำอวยพรจีนให้ฟังว่า แรกเริ่มของการเขียนคำอวยพรจีนเกิดจากการเขียนคำอวยพรคู่ที่เรียกว่า ตุ้ยเหลียน

การเขียนกลอนคู่ หรือ ตุ้ยเหลียน นั้น ประพันธ์โดย หลินต้าชิน หรือ หลิ่มไต่คิม ในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นจอหงวนคนเดียวของชนแต้จิ๋วในยุคราชวงศ์หมิง มีลักษณะเป็นข้อความ 2 วรรค ที่มีดุลของเสียงและความหมาย กล่าวคือ มีจำนวนคำหรืออักษรเท่ากัน มีความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างสละสลวย คำในทุกตำแหน่งเป็นคู่สมดุลกันอย่างกลมกลืน ความหมายก็เป็นสิริมงคลโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกันก็ได้ เพราะมีเสียง หนักเบาที่สมดุลกัน ทำให้มีความไพเราะเป็นร้อยกรองอยู่ในตัวอยู่แล้ว เข้าลักษณะที่เรียกว่า กลอนเปล่า นั่นเอง

หลักในการติดคำกลอนคู่ หรือตุ้ยเหลียน มีอยู่ว่า กลอนบาทแรกจะต้องติดด้านขวาของผู้อ่าน และบาทที่สองจะติดทางด้านซ้ายของผู้อ่าน ถือเป็นเพชรงามในวรรณกรรมการประพันธ์อย่างหนึ่งของจีน สามารถใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลตรุษจีน เรียกว่า ชุนเหลียน นอกจากใช้ในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เนื่องในโอกาสวันเกิดได้อีกด้วย

นับจากนั้นก็กลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และมีการเขียนตัวอักษรที่เป็นมงคลต่าง ๆ ตามมา โดยคำที่นิยม กันมาก คือ คำว่า ฝู ในภาษาแต้จิ๋ว อ่านว่า ฮก ถือเป็นอักษรที่มีความหมายเป็นมงคลมากที่สุดตัวหนึ่งของอักษรจีน

ตามความหมายดั้งเดิมจาก คัมภีร์หานเฟยจวื่อ ได้กล่าวไว้ว่า ฝู หมายถึง บุญวาสนา หรือโชควาสนา พร้อมด้วยทรัพย์ ยศศักดิ์และอายุยืน ซึ่งต่อมา ภายหลังได้แยกคำว่า ยศ ศักดิ์ ออกมาเป็น ลก หรือ ลู่ ส่วนความหมายของ อายุยืน คือ คำว่า สิ่ว หรือ โซ่ว และ คำว่า ฮก หรือ ฝู จึงมีความหมายเพียงแค่ ทรัพย์หรือโชคลาภ ซึ่งหากรวมกันแล้วจะเป็น ฮก ลก ซิ่ว เรียกว่า ตรีพิธพรของจีน ที่มีความหมายเป็นมงคลอย่างยิ่ง ซึ่งก็คล้ายกับจตุรพิธพรของไทย คือ พรสี่ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ นั่นเอง

แต่บางบ้านก็จะติดคำว่าฝู กลับหัว ซึ่งเกิดจากการเล่นคำพ้องเสียง เพราะเมื่อเขียนอักษรฝูกลับหัว จะอ่านว่า ฝู เต้า แปลว่า ตัวฝูกลับหัว ซึ่งตรงกับคำพ้องเสียงของคำว่า ฝู เต้า ที่แปลว่า ความสุข โชคลาภ วาสนามาถึงบ้านเราแล้ว

การเขียนคำกลอนคู่ หรือ คำอวยพร มักนิยมใช้กระดาษแดงและอักษรสีดำ โดยจะเห็นว่าแตกต่างจากประเทศไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่จะนิยมเขียนคำอวยพรด้วยอักษรสีทอง ซึ่งตรงนี้ อ.นิธิวุฒิ อธิบายให้ฟังว่า ไม่ถือว่าเป็นการเขียนที่ผิด แต่เพิ่งจะมาเปลี่ยนตัวอักษรเป็นสีทองเมื่อ 30-40 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่เริ่มมีการผลิตสีต่าง ๆ ขึ้นมา ทำให้คำอวยพรมีความงดงามเพิ่มมากขึ้น จากความแวววาวของสีทอง จึงเริ่มมีการใช้สีทองแทนสีดำในการเขียนคำอวยพร

“ตามหลักแล้ว หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ในประเทศจีนก็ยังใช้กระดาษแดงและใช้หมึกสีดำในการเขียนคำมงคลต่าง ๆ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า กระดาษแดง ความหมาย คือ ความเป็นมงคล ส่วนหมึกสีดำ อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นงานอวมงคลหรืองานศพ งานเศร้าหมอง จริง ๆ แล้ว สีที่คนจีนถือว่าเป็นอวมงคล คือ สีขาว ไม่ใช่สีดำ แต่คนไทยใช้ความรู้สึกที่เกิดกับวัฒนธรรมไทยที่มองว่าสีดำเป็นสีอวมงคล ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่

สีดำเป็นสีหมึกจีน ที่เรียกได้ว่าเป็นสีดั้งเดิม ซึ่งอยู่ในรัตนะทั้งสี่ ซึ่งประกอบด้วย กระดาษ พู่กัน แท่นฝนหมึก และจานฝนหมึก ในสมัยก่อนการจะเขียนหนังสือจะต้องทำหมึกขึ้นมาไม่ได้มีเป็นขวดเหมือนในสมัยนี้ โดยจะต้องใช้แท่นฝนหมึกผสมกับน้ำ ฝนกับจานฝนหมึกจนกลายเป็นน้ำหมึกออกมาแล้วจึงนำมาเขียน ฉะนั้น การที่ใช้หมึกสีดำเขียนนั้น ก็สื่อถึงการใช้ภูมิปัญญาของคนจีนสมัยโบราณ ที่บ่งบอกถึงผู้มีความรู้ สีดำสำหรับคนจีนจึงไม่ใช่สีอวมงคล”

นอกจากการเขียนตุ้ยเหลียน หรือ คำกลอนคู่ คำมงคล รวมทั้ง คำอวยพรต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันนิยมเป็นตัวอักษร 4 ตัว ที่บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลองในเทศกาลวันตรุษจีนแล้ว ยังเป็นการอำนวยพรซึ่งกันและกัน ซึ่งคำอวยพรนั้นล้วนเป็นคำอวยพรที่เป็นมงคลทั้งสิ้น

“เป็นคำอวยพรให้มีความสุข ครอบครัวมีแต่ความเป็นสิริมงคล การค้าเจริญรุ่งเรือง รํ่ารวย ทุกคนในบ้านปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง เป็นการส่งมอบความสุข ความเป็นสิริมงคล ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงให้กับผู้อื่นด้วย ถือเป็นวิธีที่ประหยัดและง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน นับเป็นการสืบสานวัฒนธรรมจีนได้อย่างมั่นคงวิธีหนึ่ง”

การเขียนคำอวยพร ในสมัยก่อนจะใช้ผู้ที่มีความสามารถในการเขียนพู่กันเป็นผู้เขียนให้ แต่ในปัจจุบันผู้มีความรู้ในการเขียนอักษรพู่กันจีนมีน้อยลง ทำให้มีการไปจ้างเขียนกันเกิดขึ้นซึ่งแหล่งใหญ่ก็คือ ย่านเยาวราช โดยจะพบเห็นได้บ่อยครั้งในช่วงเทศกาลต่าง ๆ

อ.นิธิวุฒิ กล่าวด้วยว่า เมื่อเขียนคำอวยพรเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนิยมนำมาติดที่ประตูหน้าบ้าน เพราะประตูหมายถึง การเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ที่ประตูที่เราจะต้องผ่านเข้าไป จึงเป็นจุดที่คนจีนนิยมนำไปติดกัน โดยจะติดให้เห็นเด่นชัด หมายถึงว่า คนที่เข้าไปในบ้านก็มีความเป็นมงคล เมื่อออกจากบ้านก็มีความเป็นมงคล คนที่มาพบเห็นก็มีความเป็นมงคล ทุกคนก็จะมีความสุขที่สื่อออกมาจากความหมายของตัวอักษรในนั้นด้วย

ส่วนใหญ่จะนิยมติดกันก่อนวันตรุษจีน 1 วัน หรือเมื่อไหว้เจ้าเสร็จแล้วค่อยติดก็ได้ เพื่อรับโชคเข้ามาในวันปีใหม่ ซึ่งใครจะเป็นผู้ติดก็ได้ แต่ที่นิยมกันก็จะเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน อาทิ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับการติดคำอวยพรจีนนั้น เมื่อติดไปได้สักระยะหนึ่ง พอซีด ๆ ช่วงกลางปี ก็จะเอาออกกันแล้ว เมื่อถึงตรุษจีนปีหน้าก็เขียนใหม่ โดยมีความเชื่อว่า ยิ่งเขียนใหม่ก็ยิ่งมีความสุขทุก ๆ ปี ไม่จำเป็นต้องติดให้เป็นถาวรวัตถุ ปีใหม่ก็เขียนใหม่ ทำใหม่ขึ้นมา จะเป็นป้ายเล็กหรือป้ายใหญ่ก็ตามขนาดประตูของบ้าน ไม่ได้บ่งบอกอะไร โดยทุกตัวอักษรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถือเป็นสิ่งมงคลทั้งสิ้น.

ทีมวาไรตี้
ที่มา เดลินิวส์