ดูแลสุขภาพควบคุมความดันโลหิตสูง ห่างไกล 'ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา'

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ในความจริงแน่แท้สิ่งนี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องการของทุก ๆ คน ความรู้เข้าใจเท่าทันถึงต้นสายปลายเหตุก่อนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยเหล่านี้จึงมีความสำคัญยิ่ง

ความดันโลหิตสูง เป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นภัยเงียบคุกคามการดำเนินชีวิต รวมทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายทั้ง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจโต หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคไตเสื่อม ไตวาย นอกจากนี้
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ยังถือเป็นอีกภาวะหนึ่งที่มีผลมาจาก โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งกลไกการเกิดขึ้น ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ อาจารย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ว่า เมื่อเรามีโรคความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็จะทำให้หัวใจห้องล่างด้านซ้ายทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างด้านซ้ายหนา ตามมาด้วยหัวใจห้องล่างด้านซ้ายโตและหัวใจล้มเหลวในที่สุด

ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนามักพบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ห้องล่างด้านซ้าย ซึ่งที่พบกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงนาน ๆ แล้วไม่ได้รับการรักษา กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายก็จะทำงานหนักและหนาตัวขึ้น นอกจากนี้ภาวะผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนายังอาจเกิดจากโรคลิ้นหัวใจตีบซึ่งเป็นลิ้นที่กั้นหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่

“เวลาที่เราพูดถึงกล้ามเนื้อหัวใจหนามักพูดถึงหัวใจห้องซ้ายล่าง ซึ่งเป็นห้องหลักที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆของร่างกาย หากดูจากระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งโดยปกติเลือดเสียจะอยู่ที่หัวใจห้องขวาบนและห้องขวาล่าง จากนั้นจะส่งเลือดไปฟอกต่อที่ปอด เลือดดีก็จะกลับมาที่ห้องซ้ายบนและห้องซ้ายล่างตามลำดับ แล้วหัวใจห้องซ้ายล่างก็จะบีบตัวนำเลือดดีออกไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ซึ่งหากจะเปรียบ หัวใจห้องซ้ายล่าง เหมือนกับปั๊มน้ำ ปั๊มเลือดดีออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งในโรคความดันโลหิตสูงนั้น ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้นปั๊มดังกล่าวก็จะทำงานมากขึ้น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาขึ้น เลือดดีจากปอดและหัวใจห้องซ้ายบนก็ไม่สามารถลงมายังหัวใจห้องซ้ายล่างได้ เกิดการท้นของเลือดไปที่ปอดและเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายหรือเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหนามาก ๆ จะเกิดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายพองโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด”

การหลีกไกลปลอดภัยจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาและล้มเหลว จึงควรต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย รักษาโรคความดันโลหิตสูงนับตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการลดความเค็มในอาหารทุกชนิด การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การลดน้ำหนัก การพักผ่อนให้เพียงพอ และการทานยาลดความดันโลหิตเป็นประจำ

“โรคความดันโลหิตสูง พบได้บ่อยขี้นเมื่อมีอายุสูงขึ้นราว 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญ มีเพียงส่วนน้อยที่ปรากฏอาการ อย่างเช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปวดบริเวณท้ายทอย ฯลฯ การตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญซึ่งแพทย์จะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้”

นอกจากนี้ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ยังสามารถพบ ได้ในผู้ป่วยอีกกลุ่มโรคหนึ่งที่เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติแต่กำเนิด ( Hypertrophic Cardiomyopathy) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก โรคดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงแต่อย่างใด แต่เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรมซึ่งนับแต่เกิดมา กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างมีความหนากว่าปกติโดยไม่มีสาเหตุ

โรคดังกล่าวจะมีการหนาตัวของหัวใจห้องซ้ายล่าง โดยเฉพาะผนังที่กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างและขวาล่าง ซึ่งผนังจะหนามากจนอุดกั้นการไหลของเลือดจากหัวใจห้องซ้ายล่างออกไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่ จากสถิติพบว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติมาแต่กำเนิดดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันที่ พบบ่อยที่สุดในคนที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีลงมา ต่างจากกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 35 ปีขี้นไป มักจะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันจากเส้นเลือดหัวใจตีบตัน แต่อย่างไรก็ตามโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติแต่กำเนิดนี้พบได้น้อยและพบได้ไม่บ่อย

“ในโรคนี้จะมีการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่เกี่ยวเนื่องกับความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันถือได้ว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และถ้าตัดชิ้นเนื้อมาตรวจก็จะพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณนั้นหนาตัว ไม่เรียงตัวกันเป็นระเบียบและแทรกด้วยผังพืด”

การจะทราบได้ถึงความเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวอาจมีความยากลำบากด้วยไม่มีสัญญาณใดบ่งบอก เว้นแต่มีประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคหรือเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตามก่อนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยดังกล่าวแพทย์ท่านเดิมฝากคำแนะนำถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดและอาจมีอาการขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากครอบครัวใดเคยมีประวัติของโรคดังกล่าวและถ้าอายุยังไม่มากและมีอาการหน้ามืดหมดสติ เหนื่อยง่าย ฯลฯ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก่อนที่โรคดังกล่าวจะลุกลามเกินการรักษาแก้ไข.
ที่มา เดลินิวส์