"นมแพะ" สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้จริงหรือ?

"นมแพะ" สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้จริงหรือ? การเลือกนมให้กับลูกน้อย ถือว่าเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในการเลือกเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้จักแต่นมผงที่มีส่วนผสมมาจากนมวัว หรือแม้แต่นมพร้อมดื่มยูเอสที (UHT) ตามท้องตลาดก็ต้องเลือกชนิดที่มีส่วนผสมของนมวัวหรือพวกธัญพืชต่างๆ ด้วย จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งจะต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคย แต่การเลือกซื้อต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยว่า นมที่เลือกนั้นมีสารอาหารที่ลูกควรได้รับอย่างครบถ้วนหรือไม่ หรือเมื่อลูกดื่มแล้วจะเกิดอาการแพ้ไหม? ยิ่งตอนนี้มีผลิตภัณฑ์นมให้เลือกซื้อจำนวนมากจึงจำเป็นต้องพิถีพิถัน โดยเฉพาะ "นมแพะ" ที่หลายบ้านยังมีคำถามอยู่ในใจว่าสามารถให้ทารกดื่มได้จริงหรือ

"นพ. ธวัชชัย อรุณเรืองรัศมี" กุมารแพทย์ โรงพยาบาลรามคำแหง จึงไขข้อสงสัยเกี่ยวกับนมแพะให้ฟังว่า มีการนำนมแพะมาบริโภคกันตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ซึ่งเชื่อว่าโปรตีนในนมแพะช่วยให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีขึ้น โดยพบว่ามีคนป่วยจำนวนมาก ฟื้นจากอาการป่วยได้เร็วจากการดื่มนมแพะ เนื่องจากนมแพะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีขนาดเม็ดไขมันที่เล็ก จึงสามารถย่อยได้ง่าย หลังจากดื่มนมไปเพียงประมาณ 20 นาที ร่างกายก็สามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ทันที

ปัจจุบัน นมแพะได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงดูเด็กทารก จากการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนมแพะผงกับนมแม่ นมแพะถือว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับนมแม่มากที่สุด แต่อย่างไรนมแม่ก็มีสารอาหารที่ครบถ้วนและดีที่สุดสำหรับทารกอยู่แล้ว เนื่องจากในนมแม่มีโปรตีนที่ย่อยได้ง่ายทั้งหมดในเวลาที่รวดเร็ว ลูกน้อยจึงสามารถนำไปใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการและเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

"นมผงที่เตรียมจากนมแพะมีปริมาณแอลฟ่า เอสวัน เคซีน (Alpha-S1 casein) น้อยกว่านมวัวอย่างมีนัยสำคัญ (3% เทียบกับ 26%) ยิ่งไปกว่านั้น จากผลงานวิจัยในเชิงลึกพบว่าน้ำนมของแพะในนิวซีแลนด์มีปริมาณแอลฟ่า เอสวันเคซีนน้อยกว่าน้ำนมของแพะในแถบยุโรปและอเมริกาอีกด้วย โปรตีนชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นก้อนโปรตีนที่ถูกย่อยได้ยากเมื่อสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร การที่นมแพะมีปริมาณโปรตีนแอลฟ่า เอสวันเคซีนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับนมวัว แสดงถึงก้อนโปรตีนที่อาจเกิดจากนมแพะมีขนาดเล็กและมีความนุ่มกว่าก้อนโปรตีนที่เกิดขึ้นจากนมวัว ดังนั้นทารกและเด็กเล็กที่ได้รับนมผงที่เตรียมจากนมแพะจึงสามารถย่อยโปรตีนได้ง่ายและรวดเร็วกว่า" นพ. ธวัชชัย อธิบาย
ขณะเดียวกัน กุมารแพทย์ท่านนี้ยังบอกอีกว่า นมแพะประกอบด้วยอนุภาคไขมันที่มีขนาดเล็กกว่าอนุภาคไขมันในนมวัว เอนไซม์สามารถแตกสลายอนุภาคไขมันได้ง่ายกว่า และทำให้ย่อยได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังมีกรดไขมันสายยาวปานกลาง (Medium Chain Triglycerides, MCT) สัดส่วนสูง เนื่องจากน้ำย่อยไลเปสสามารถย่อยสลายอาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันสายยาวปานกลางให้เป็นกรดไขมันอิสระ ดังนั้นทารกและเด็กเล็กที่ดื่มนมแพะจะสามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ง่ายและรวดเร็วกว่านมผงดัดแปลงจากนมวัว และนมแพะยังมีปริมาณของโปรตีนแอลฟ่า เอสวันเคซีนที่น้อยมาก ทำให้มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมให้ร่างกายทารกมีประสิทธิภาพการย่อยสารอาหารโปรตีนชนิดอื่นได้มากขึ้นอีกด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเป็นภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ นมแพะยังมีนิวคลีโอไทด์ (Natural Nucleotide) 5 ชนิดที่คล้ายกับนมแม่ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดการเกิดการแพ้อาหาร มีสารโพลีเอมีนส์ (Polyamines) ช่วยลดปฎิกิริยาของการแพ้อาหารมี โกรทแฟคเตอร์ (Growth factor) ชนิดไอจีเอฟวัน (IGF-1) และทีจีเอฟ เบต้า (TGF- β) ช่วยให้เกิดการพัฒนาของระบบลำไส้และการย่อยสมบูรณ์ พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ครบถ้วน การที่นมแพะประกอบด้วยสารนิวคลีโอไทด์จำนวนมาก มันจะทำหน้าที่ในการป้องกันเชื้อแบคทีเรียไวรัสและปรสิตในทางเดินอาหาร ช่วยให้แบคทีเรียมีประโยชน์ชนิดบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ในลำไส้ของทารกเพิ่มขึ้น แต่จะกำจัดแบคทีเรียแกรมลบที่ก่อให้เกิดโรคชนิดเอนเทอโรแบคทีเรีย (Enterobacteria)

อย่างไรก็ตาม นพ.ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้จะมีผลิตภัณฑ์นมให้เลือกซื้อจำนวนมากในท้องตลาด แต่นมแม่ก็ยังถือว่าเป็นนมที่ดีที่สุดของทุกๆ ชีวิต ควรให้นมแม่เป็นทางเลือกที่หนึ่งของลูก แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ทดแทน ควรมีการเลือกอย่างละเอียดและต้องใส่ใจกับสารอาหารที่ลูกจะได้รับ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมองและร่างกายของลูกน้อยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องราคาต้องคำนึงให้เหมาะสมกันประโยชน์ที่ได้รับ โดยไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงเกินไป เพราะของแพงบางอย่างก็ไม่ได้ให้คุณค่าอย่างที่คาดหวังเอาไว้เลย

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์