วิธีหาเงินบนโลกไอที (33) : ว่าด้วยเรื่อง"เกมบนเฟสบุ๊ก"

วิธีหาเงินบนโลกไอที (33) : ว่าด้วยเรื่อง"เกมบนเฟสบุ๊ก" ปัจจุบัน Facebook มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคน เป็นผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ชาย 1.5 ล้านคน ผู้หญิง 2 ล้านคน ผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดคือนักศึกษาและวัยทำงานตอนต้น ทั้งที่เมื่อต้นปี 2552 มีคนไทยบน Facebook เพียงแค่ 2 แสนคนเท่านั้นเอง คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเกมบน Facebook ที่ดึงดูดคนไทยให้เข้าไป “ปลูกผัก” หรือ “ทำอาหาร” จนติดกันงอมแงม

ยักษ์ใหญ่วงการ Social Games ของโลก ผู้ผลิตเกมบน Facebook ในระดับโลกมีอยู่ 2 ค่ายใหญ่คือ Zynga จากอเมริกา และ Playfish จากอังกฤษ ทั้งสองบริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เหมือนกัน ด้วยระยะเวลาเพียง 2-3 ปี ก็เติบโตเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่บนโลก Social Games

ปัจจุบัน Zynga มีเกมกว่า 30 เกม ที่รู้จักกันดีคือเกมปลูกผัก FarmVille ซึ่งมีจำนวนผู้เล่นทั่วโลกสูงถึง 80 ล้านคนต่อเดือน (มากกว่าจำนวนสมาชิก Twitter) เป็นผู้รับชำระเงินออนไลน์ที่มียอดรับเงินสูงเป็นอันดับ 2 ของ PayPal เป็นรองเพียงแค่ eBay เท่านั้น โดยในปี 2552 มีผู้เล่นเกมจ่ายเงินให้กับ Zynga ผ่านทาง PayPal สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปซื้อไอเท็มในเกม รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Zynga ออกไปในแนวผู้เผยแพร่เกม (Publisher) คือเปิดให้ผู้พัฒนาเกมรายอื่นสามารถนำเกมของตัวเองมาต่อเข้ากับระบบของ Zynga และให้ Zynga เป็นผู้ทำการตลาดให้
ส่วน Playfish มีเกมในสังกัดน้อยกว่า Zynga เนื่องจากมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตเกม (Producer) เกมของ Playfish ทุกเกมจะมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็น Playfish อยู่ นั่นก็คือการออกแบบตัวละครที่ดูน่ารักสดใส ซึ่งทำให้สาวๆ ทั่วโลกต่างก็ชื่นชอบเกมเลี้ยงสัตว์อย่าง Pet Society เมื่อปลายปี 2552 Electronic Arts (EA) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเกมยักษ์ใหญ่ของโลกได้เข้าซื้อกิจการ Playfish ด้วยมูลค่าสูงถึง 275 ล้านดอลลาร์ เร็วๆ นี้เราก็จะได้เห็นเกม Fifa Super Stars บน Facebook

ปัจจัยความสำเร็จของ Social Games

ก่อนหน้ายุค Social Games คือยุคของเกมออนไลน์ ผู้เขียนเชื่อว่าคนจำนวนมากเคยได้ยินคำว่าเกมออนไลน์ แต่ไม่เคยเล่นเลย (ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน) เนื่องจากเกมออนไลน์ส่วนใหญ่มีความซับซ้อนสูง ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์เกมในเครื่องคอมพิวเตอร์ ต้องเติมเงินเพื่อเล่นเกม ความนิยมของเกมออนไลน์จึงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมที่ใช้เวลาหลังเลิกเรียนในร้านเกม

แต่ Social Games สามารถเข้าถึงจำนวนผู้เล่นที่มากกว่าได้ เนื่องจากเป็นเกมที่เล่นผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้เลยโดยไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์อะไร ความซับซ้อนของเกมก็มีไม่มาก ใช้เวลาศึกษาไม่นานก็เล่นเป็น และเป็นเกมที่เล่นได้ฟรี ฐานผู้เล่นจึงขยายจากกลุ่มวัยรุ่นมาถึงวัยทำงาน (ส่วนตัวผู้เขียนรู้จักผู้บริหารหญิงวัย 50 ปีขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่งที่เข้าไปอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองใน Pet Society ทุกวัน)

นอกจากเรื่องของความง่ายในการเข้าถึงและความง่ายในการเล่นแล้ว Social Games ยังมีจุดเด่นเรื่องการกระจายตัวไปสู่ผู้เล่นหน้าใหม่โดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์บน Facebook อีกด้วย ถ้าเราเล่นจนผ่านหนึ่งด่าน เกมจะบอกให้เราเผยแพร่ข้อความว่าเราผ่านด่านแล้วในหน้ากระดานข้อความของเรา ซึ่งจะทำให้เพื่อนๆ ของเรารู้ทันทีว่าเราเล่นเกมอะไรอยู่ และเขาอาจจะเข้ามาเล่นด้วย นอกจากนี้เกมมักจะบอกให้เราส่งคำเชิญชวนเพื่อนให้เข้ามาเล่นเกมด้วยกัน บางเกมมีการให้ไอเท็มพิเศษเมื่อเราชวนเพื่อนมาเล่นได้ครบตามจำนวนที่กำหนดด้วย ผู้พัฒนาเกมจึงมีโอกาสเข้าถึงฐานผู้ใช้ 400 ล้านคนบน Facebook ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดอะไรเลย อาศัยการบอกต่อของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว
รายได้ของธุรกิจ Social Games

ร้อยละร้อยของ Social Games เปิดให้ผู้เล่นเข้าไปเล่นได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ ไม่ต้องเติมเงินเพื่อรับสิทธิ์เข้าไปเล่น แล้ว Social Games มีรายได้จากทางไหนบ้าง?

รายได้ทางแรกก็คือการเปลี่ยนเงินในโลกจริงให้เป็นเงินในเกมเพื่อนำไปซื้อไอเท็ม มีการประมาณการว่ามูลค่าของเงินใน Social Games ในปีนี้จะสูงถึง 1,600 ล้านดอลลาร์

รายได้ทางที่สองคือการขายโฆษณาในเกม ที่ผ่านมา Microsoft เคยโฆษณา Bing ในเกม FarmVille โดยให้ผู้เล่นเกมคลิกเป็นแฟนของ Bing เพื่อแลกกับเงินในเกม ผลก็คือ Bing มีแฟนเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 คน ผู้เล่นเกมได้เงินไปใช้ซื้อไอเท็ม ส่วน Zynga ก็ได้เงินจากผู้เล่นซึ่งได้มาจาก Microsoft อีกที

รายได้ทางที่สามคือการขายแอปบน Smart Phone เช่น Who Has The Biggest Brain? ซึ่งเป็นเกมลับสมองของค่าย Playfish แรกเริ่มเดิมทีเปิดให้เล่นฟรีบน Facebook โดยมีรายได้จากการติดโฆษณา Google AdSense ในเกม ต่อมามีการออกแอปบน iPhone ซึ่งสามารถใช้เล่นเกมและส่งคะแนนกลับขึ้นไปบน Facebook ได้ โดยที่แอปมี 2 เวอร์ชั่น คือแบบเล่นฟรีด้วยรูปแบบเกมที่จำกัด กับแบบเสียเงินซื้อเพื่อแลกกับรูปแบบเกมที่หลากหลายกว่า

รายได้ทางที่สี่เกิดจากการขายสินค้าเพื่อให้ผู้เล่นนำสินค้ามาเปลี่ยนเป็นไอเท็มในเกม อย่างเช่นเกม Oishi Café City ที่ผู้เล่นจะต้องซื้อชาเขียวโออิชิเพื่อนำกล่องซึ่งมีบาร์โค้ดสองมิติ (QR Code) มาส่องที่เว็บแคมเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารในเกม

นอกจากเรื่องของรายได้แล้ว นักการตลาดของหลายแบรนด์ใช้ Social Games เป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ หรือสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ได้หวังรายได้ทางตรงแต่อย่างใด

กรณีศึกษาธุรกิจไทยนำ Social Games ไปใช้ทางการตลาด

ด้วยความร้อนแรงของ Social Games ในไทย ทำให้หลายธุรกิจสนใจที่จะสร้างเกมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาเล่น โดยหวังผลให้เกิดการบอกปากต่อปากออกไป

ช่วงต้นปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยส่งเกม KBank Millionaire ลงบน Facebook กติกาของเกมนี้ให้ผู้เล่นตอบคำถาม 5 ข้อ ถ้าตอบถูกทุกข้อจะได้คะแนนสะสม 10,000 คะแนน หนึ่งวันเล่นได้แค่ 2 รอบ แปลว่าจะได้คะแนนไม่เกินวันละ 20,000 คะแนน ใครได้คะแนนสูงสุด 15 คนในแต่ละสัปดาห์ ก็จะได้รับรางวัล (ผู้เขียนเคยได้ที่ 3 ได้รางวัลบัตรของขวัญ 800 บาทไปซื้อของในห้างคาร์ฟูร์) และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดหลังจากจบแคมเปญ จะได้ Netbook ฟรีหนึ่งเครื่อง แต่เอาเข้าจริงแล้ว เกมนี้ไม่ใช่การแข่งขันตอบคำถาม แต่เป็นการแข่งขันชวนเพื่อนมาเล่นเกม เพราะมีกติกาอีกข้อหนึ่งบอกว่าถ้าใครชวนเพื่อนมาเล่นเกมนี้ได้สำเร็จ 1 คน จะได้คะแนนสะสมเพิ่ม 10,000 คะแนนทันที โดยไม่จำกัดจำนวนด้วย จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายนับหมื่นรับรู้ว่าตอนนี้ธนาคารกสิกรไทยมาอยู่บน Facebook แล้ว

เครือโออิชิก็ส่ง Social Games มาบน Facebook หลายเกม ที่รู้จักกันดีก็คือ Maneki Neko Fortune Cats ( http://apps.facebook.com/fortunecats/ ) เพื่อใช้โปรโมทชาเขียว Matcha เกมนี้เล่นง่ายๆ เพียงแค่คลิกที่ขาหน้าของแมวมาเนะกิเพื่อเขย่าขวด Matcha จากนั้นจะได้รับคำทำนายชีวิตในวันนี้และเผยแพร่คำทำนายออกไปให้เพื่อนๆ ดูได้ เกมง่ายๆ แบบนี้แต่มีคนเล่นเป็นหมื่นภายในเวลาสั้นๆ เป็นเพราะคนไทยกับเรื่องดูดวงเป็นของคู่กันอยู่แล้ว

อีกหนึ่งเกมของโออิชิที่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเกมที่ให้ความรู้ผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจคือเกม Yakiniku Burnn ( http://apps.facebook.com/aminoplus/main/game/burnn ) กติกาของเกมนี้จะให้ผู้เล่นเป็นสาวสวยที่ไปกินเนื้อย่าง ผู้เล่นมีหน้าที่คีบเนื้อดิบลงเตา ย่างให้สุกทั้งสองด้าน (แต่อย่าให้ไหม้) แล้วคีบใส่จานเพื่อกิน เมื่อกินไปสักพักตัวละครจะแสดงสีหน้าอึดอัด ผู้เล่นก็จะต้องให้ตัวละครดื่ม Amino Plus เพื่อช่วยลดความอึดอัดลง ผู้เขียนก็เพิ่งเรียนรู้จากเกมนี้ว่า Amino Plus เหมาะสำหรับดื่มตอนกินเนื้อย่างนี่เอง

อนาคตสดใสของอาชีพนักพัฒนา Social Games

ในยุคที่ผ่านมา การสร้างเกมเพื่อตีตลาดระดับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะสนามนี้เป็นสนามของรายใหญ่ที่มีทุนหนา ยากที่นักพัฒนาเกมรายเล็กจะแทรกตัวเข้าไปได้ แต่ในยุคของ Social Games ไม่จำเป็นต้องมีทุนมหาศาลก็สามารถสร้างเกมที่คนเล่นกันทั่วโลกได้ ขอเพียงแค่มีความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น

มีตัวอย่างของกลุ่มนักพัฒนา Social Games คนไทยคือกลุ่ม LevelUp! Studio ( http://www.levelup.in.th/ ) ซึ่งประกอบด้วยนิสิต 4 คน จากวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่รวมตัวกันเปิดบริษัทพัฒนาเกม โดยปล่อยเกมบน Facebook เกมแรกที่พัฒนาโดยคนไทยไปเมื่อปีที่แล้ว ชื่อเกมว่า Planet that have many creatures ( http://apps.facebook.com/lvup_planet/ ) ซึ่งมีผู้เล่นจากทั่วโลกถึงหนึ่งแสนคนภายในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ทีม LevelUp! Studio ยังเป็นผู้พัฒนาเกม Yakiniku Burnn ของโออิชิอีกด้วย

นอกจากตลาดระดับโลกแล้ว ตลาดในประเทศไทยก็มีโอกาสมากมายเช่นกัน หลายแบรนด์สินค้ากำลังอยากมีเกมบน Facebook เป็นของตัวเอง แต่หาคนพัฒนาให้ไม่ได้ จนเมื่อปลายเดือนมีนาคม สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยได้จัดงาน WebPresso (จิบกาแฟคนทำเว็บ) เพื่อพูดคุยเรื่อง Social Games โดยเฉพาะ โดยมุ่งหวังว่านักพัฒนาเว็บชาวไทยจะตระหนักถึงโอกาสนี้ พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อตอบรับความต้องการของแบรนด์สินค้าต่างๆ และสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สายตาคนทั้งโลก
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์