สมุยวันนี้...กับวิถีเดิมๆ ที่เหลืออยู่คู่การท่องเที่ยว

สมุยวันนี้...กับวิถีเดิมๆ ที่เหลืออยู่คู่การท่องเที่ยว ในช่วงก่อนปี 2520 ขณะที่เกาะภูเก็ตกำลังจรัสจ้า ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่าไข่มุกแห่งอันดามัน ช่วงนั้นสมุย ยังเป็นเกาะที่คนไทยรู้จักกันเพียงว่า มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากเกาะภูเก็ต และเกาะช้าง จ.ตราด คือมีพื้นที่ทั้งสิ้น 247 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างฝั่งสุราษฎร์ธานี ออกไปทางทิศตะวันออกกลางอ่าวไทยประมาณ 84 กิโลเมตร

กับเป็นเกาะที่มีเนื้อหาปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนระดับชั้นประถมในยุคนั้น ว่าเป็นแหล่งที่มีมะพร้าวมากสุดในประเทศไทย

ในอดีตเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวท้องถิ่นขนานแท้ โดยมีเส้นทางคมนาคมติดต่อตัวจังหวัดอยู่เพียงทางเดียว คือเดินทางด้วยเรือยนต์โดยสารแบบสองชั้น ที่วิ่งจากท่าเรือบ้านดอน ถึงท่าเรือหน้าทอน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของตัวเกาะ

เรือโดยสารที่ว่านี้จะแล่น ออกไปจากท่าบ้านดอนในช่วงเย็น ใช้เวลาแรมคืนอยู่กลางทะเลให้ผู้โดยสารเอนนอนกันบนเสื่อสาดภายในห้องโดยสารบริเวณชั้นบน ส่วนชั้นล่างจะเป็นห้องบรรทุกสินค้า และจะถึงท่าเรือหน้าทอนก็เมื่อเช้าตรู่หลังไก่ขันวันรุ่งขึ้น

เด็กหนุ่มชาวเกาะสมุย หลายคนในยุคนั้น ถ้าต้องการจะขึ้นไปเรียนหนังสือบางกอก พวกเขาจะไม่นิยมนั่งเรือโดยสาร ข้ามฝั่ง ไปต่อขบวนรถไฟสายใต้ที่สถานีพุนพิน เพราะมันยากลำบากหลายขั้นตอน สู้ขออาศัยเรือสินค้าเดินทะเล ที่แวะเข้าไปขนมะพร้าวเข้าไปส่งที่เมืองหลวงไม่ได้ ดูจะสะดวกรวดเดียวจบ

ถึงกระนั้นก็ต้องรอนแรมอยู่กลางอ่าวไทยกันนาน กว่าสองวันสองคืนเป็นอย่างน้อย จึงจะถึงจุดหมาย
เกาะสมุยมีปรากฏการณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวเกาะอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อสาวงามนางหนึ่งซึ่งเป็นลูกหลานชาวเกาะนามว่า “บุญตา ศรีแผ้ว” เกิดไปคว้าตำแหน่งรองนางสาวไทย จากการประกวดในงานวชิราวุธมาได้ ทำเอาชื่อของเกาะสมุย โด่งดังไม่แพ้ผลผลิตมะพร้าว ตรงที่มีสาวงามงามถึงขั้นเป็นรองนางงามระดับชาติ!

ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะ แน่นอนว่าอาชีพดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมานาน ก็ตรงการทำสวนมะพร้าวเป็นหลัก รองลงมาทำประมงส่งขายตลาดบ้านดอน มากกว่าจะป้อนให้คนเกาะสมุยบริโภคกันเอง

ครรลองของคนที่ดำรงชีวิตอยู่บนเกาะนี้ มีเรื่องเล่ากันว่าพ่อแม่จะเลือกสืบทอดการทำสวนมะพร้าวให้กับลูกหลาน โดยเลือกเฟ้นจากพฤติกรรมของลูกเป็นเกณฑ์ตัดสิน คนไหนขยันหมั่นเพียรในการทำกิน ก็ยกสวนที่อยู่ใกล้ขอบถนนให้

คนไหนดูท่าเกกมะเหรกเกเร ก็ดัดสันดานให้รู้ถึงความยากลำบาก ด้วยการยกสวนมะพร้าวที่อยู่ห่างขอบถนนและอยู่ลึกติดริมทะเลให้ ท้ายที่สุดแล้วเป็นยังไงเดี๋ยวมาดูกัน?

เกาะสมุยถึงคราเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมสิ่งแวดล้อมไป เมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภท แบ๊กแพ็กจากซีกโลกตะวันตก นิยมเดินทางมาหาไอแดดและแสงตะวัน จากริมฝั่งทะเลตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ลงมาจนถึงเกาะภูเก็ต จนภูเก็ตเริ่มเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ พวกเขาดั้นด้นมาจนค้นพบแนวหาดหลายแห่ง เช่น หาดเฉวง อ่าวละไม ที่เกาะสมุย ว่าเป็นสวรรค์อันสงบเหมาะสำหรับการพักผ่อนแบบนิคมอาบแดด ที่ไม่มีวัตถุหรือผู้คนเข้าไปรบกวนเหมือนภูเก็ตในวันต่อ ๆ มา

ข่าวการค้นพบหาดทรายและทะเลที่งดงาม ได้ถูกสื่อสารกันแบบปากต่อปากในหมู่สมาชิกด้วยกัน จึงทำให้กลุ่มคนประเภทนี้มีแต่จะขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินริมหาด ซึ่งไม่เคยมีใครอยากจะเข้าไปจับจองเพื่อลงทุน กลับกลายเป็นทำเลทองชวนให้น่าลงทุนขึ้นมาทันที หาดทรายที่เคยสงบก็เริ่มแปลงสภาพเป็นมีกระท่อมให้เช่าพัก กับร้านอาหาร สถานบันเทิงขึ้นมาแซม และมีแต่ จะพัฒนารูปแบบการลงทุนขึ้นไปเรื่อย ๆ

ยามนั้น...ทั้งหาดเฉวงและอ่าวละไม ได้เริ่มกลายเป็นแหล่งรวมตัวของนักท่องเที่ยว นิยมเปลือยกายอาบแดด แล้วก็แน่นอนการลงทุนเพื่อรองรับก็ไม่ต่างจากเกาะภูเก็ต คือเริ่มมีการก่อสร้างกระท่อมเรือนนอนแบบง่าย ๆ โดยใช้ไม้จากต้นมะพร้าวนั่นแหละมาต่างเสา แล้วก็เหลาเอาใบกับก้านมะพร้าวมาเหน็บเป็นฝาถึงหลังคา เปิดให้เช่าพักคืนละ 20-30 บาท

เคยมีนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กโดยสารเรือไปถึงเกาะสมุย เช้ามืด จากนั้นก็ตรงรี่ไปหาที่พักแถบเฉวง ละไม แรก ๆ เจ้าของตั้งท่าปฏิเสธ เพราะเรือน พักเช้านั้นเต็มหมดทุกห้อง ลูกค้าตื๊อที่จะขอพักให้ได้ เจ้าของจึงจำเป็นต้องตอบรับ แต่ขอให้ไปเดินเที่ยวเพื่อพักรอเวลาไปก่อน สักสามชั่วโมงแล้วค่อยกลับมา

พอถึงเวลานัดหมายนายแบ็กแพ็กคนนั้นก็ได้ห้องพักตามต้องการ จากที่เจ้าของลงทุนลงแรงสร้างมันใหม่จนเสร็จภายในเวลาสามชั่วโมง!

และจากวันนั้นเรื่อยมา... เกาะสมุยก็มีสภาพการเติบโตที่เลียนแบบเกาะภูเก็ตทุกอย่าง เมื่อกองทัพของนักลงทุนต่างยาตราเข้าไปตระเวนหาที่ดิน ผืนงาม ซึ่งก็ไม่พ้นที่ดินสวนมะพร้าวริมหาดเป็นเป้าหมายสำคัญ ถึงวันนั้นเองที่บรรดา ลูก ๆ ระดับหางแถวชาวเกาะสมุย เริ่มขยับฐานะขึ้นเป็นเศรษฐี จากการขายที่ดินแปลงงามให้กับนักลงทุน ไร่หนึ่งมูลค่าหลักแสนหรือล้านต้น ๆ

แต่การเป็นเศรษฐีเกิดใหม่ของคนเหล่านี้ จะครองฐานะนานแรมเดือนหรือแรมปี ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการกับเม็ดเงินที่ได้มา คนไหนรู้คุณค่าก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นมาถึงวันนี้ คนไหนได้เงินมาแล้วใช้จ่ายอย่างเทกระจาด ท้ายที่สุดก็ต้องบากหน้ากลับไปเป็นลูกจ้าง ให้กับนักลงทุนบนที่ดิน ซึ่งตนเคยเป็นเจ้าของมาก่อน!

ช่วงระยะเพียงสองถึงสามทศวรรษ เกาะสมุยจึงได้กลายเป็นมหานครแห่งการท่องเที่ยวไปในที่สุด มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวปีละกว่าแสนคน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้าไปปีละกว่าแปดแสนคน ทำให้เกาะสมุยมีรายได้ทางการท่องเที่ยวปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และมีโรงแรมที่พักทุกระดับอยู่ 468 แห่ง 17,603 ห้อง กับกำลังจะเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้อีก 2,000 ห้อง

ยิ่งกว่านั้นในวันนี้สมุย มีแต่จะเติบโตอย่างไม่ยั้งหยุด เมื่อมีเที่ยวบินเชื่อมเมืองหลวง กับภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงบินตรงมาจากต่างประเทศ รวมแล้วกว่า 32 เที่ยวต่อวัน กับมี เรือเฟอร์รี่เข้ามาเสริมบทบาท ขนทั้งคนและรถอีกวันหนึ่ง ไม่รู้ว่า กี่ร้อยกี่พันคัน เกาะสมุย แห่งนี้จึงเหมือนไร้พรมแดนกางกั้น กับแผ่นดินใหญ่เหมือนแต่ก่อน
หลายคนถึงเกิดคำถามว่า วิถีเดิม ๆ ของเกาะสมุย นั้น ได้จางหายกันไปหมดแล้วอย่างนั้นหรือ?
ขอตอบว่าไม่จริง ด้วยขณะนี้หากมีการค้นหาจะพบว่า ชุมชนคนเกาะสมุยจำนวนไม่น้อยยังยึดมั่นอยู่กับการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เห็นได้จากแม้อิทธิพลของสถานประกอบการแบบสะดวกซื้อติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อคน รุ่นใหม่ ต่างดาหน้าเข้าไปให้บริการกันอยู่ที่นั่นมากมายก็จริง

แต่ตลาดสดประจำวันยามเย็นตรงบ้านหน้าทอน ก็ยังเป็นแหล่งที่บรรดาชาวเกาะ ถือเป็นแหล่งจับจ่ายผักปลาอาหาร เพื่อการดำรงชีพในแต่ละวันกันอย่างไม่เสื่อมถอย หรือแม้แต่คนเฒ่าคนแก่ ที่เคยเก็บเกี่ยวเอาพืชผักในเรือกสวนมาขายแต่ก่อนเก่า ถึงวันนี้ก็ยัง คงดำเนินชีวิตอยู่เยี่ยงนั้น

แหล่งการทำประมงที่เคยยึดเป็นกิจประจำวันกันมานาน ตรงหมู่บ้านแม่น้ำของชาวไทย-มุสลิม ถึงวันนี้พวกเขาก็ยังคงยึดมั่นทำกิน แถมยังสามารถส่งต่อให้กับสถานประกอบการ กับค้าขายให้คนเกาะกันเองอีกต่างหาก

ส่วนสวนมะพร้าวที่มีท่าทีว่าจะร่อยหรอ เพราะมะพร้าวที่นี่เคยมีกว่า 8 หมื่นไร่ ต้องหายไปเพราะการปรับพื้นที่ปลูกสร้าง อาคารโรงแรม รีสอร์ท และถูกหนอนบ้างด้วงบ้างทำลายอีกรวมกว่า 20,000 ต้นต่อปี แต่ชุมชนบ้านขามซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ก็ยังไม่ย่อท้อและเหนียวแน่นอยู่กับอาชีพนี้ สู้โดยอุตส่าห์สร้างผลผลิตออกมามิได้ขาด

ยิ่งกว่านั้นภาครัฐในท้องถิ่นรวมถึงภาคเอกชน ก็ยังรวมกลุ่มกันจัดทำ “โครงการคืนมะพร้าวสู่เกาะสมุย” ด้วยการนำเอาต้นกล้า 99,999 ต้น มาแจกจ่ายให้ชาวเกาะสมุยช่วยกันขยายพันธุ์ ไม่เว้นกระทั่ง นักท่องเที่ยวได้ช่วยกันปลูกก่อนเดินทางกลับบ้าน

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็ตรงถนนคนเดินบริเวณบ้านหน้าทอน ที่วันนี้แม้ถนนคนเดินจะเป็นของใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว แต่ถนนคนเดินส่วนนี้ยังมีโอกาสได้เห็นคนรุ่นก่อน ๆ นำเอาสินค้าประเภทของกินพื้นบ้าน ที่คนรุ่นใหม่สมัยนี้แทบไม่เห็นหรือรู้จัก มาทอดมาปิ้งย่างให้ดู และชิมโดยไม่คำนึงถึงผลกำไรจากการขาย

หากแต่พวกเขาคิดถึงเฉพาะผลกำไรจากการได้สร้างตำนานเก่าก่อนของเกาะสมุย ให้คนหัวดำหัวสียุคนี้ได้เห็น และรู้จักกันมากกว่า!.

ทีมวาไรตี้

ที่มา dailynews