วิธีหาเงินบนโลกไอที (43) : เลิกตกงานด้วยเฟสบุ๊ก

วิธีหาเงินบนโลกไอที (43) : เลิกตกงานด้วยเฟสบุ๊ก ประโยชน์ของเฟสบุ๊กไม่ได้อยู่ที่เกมสนุก-เมาท์สนั่นอย่างเดียว แต่สามารถช่วยให้คนตกงานพ้นจากวิกฤตวิจัยฝุ่นได้จริง ต่อไปนี้คือวิธีการที่คุณทุกคนจะสามารถทำตามเพื่อแปลงเครือข่ายสังคมทุกค่ายให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการหางานทำได้อย่างไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวง

***Social Media กับการหางาน
โดย กานดา สุภาวศิน (Twitter: @pakada)

ในยุคปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จัก Social Media สื่ออันทรงพลังรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดโอกาสในหลายๆ ทาง ทุกวงการล้วนแล้วแต่กระโดดเข้ามาใช้ Social Media ทั้งสิ้น เนื่องด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ User Content Generated และ Influence of Referral

ประเด็นร้อนประเด็นฮิตที่จะพูดถึงในวันนี้ คือ Social Media ช่วยในการหางานได้จริงหรือ จากประเด็นนี้เลยขอแบ่งยุคและวิธีการหางานโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่

ช่วงที่1 การประกาศตำแหน่งงานด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ (Print Media) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือ/นิตยสารรายปักษ์ สื่อนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและถือเป็นสื่อพื้นฐานที่ คนหางาน กับ งานหาคนมาพบเจอกัน

ช่วงที่2 กำเนิดเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ยุคนี้เป็นยุคที่เกิดเว็บไซต์หางานต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตำแหน่งงานมากมายถูกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ด้วยต้นทุนการประกาศที่ต่ำกว่าสื่อสิ่งพิมพ์อยู่มาก และมีผู้ค้นหาตำแหน่งงานและสมัครงานผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยแนวโน้มการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการประกาศตำแหน่งงานมีจำนวนลดลงมาก หลายบริษัทที่รับประกาศตำแหน่งงานในสื่อสิ่งพิมพ์พยายามผันสื่อของตัวเองให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์กันมากขึ้น

ช่วงที่3 ยุค Web 2.0 จนถึงปัจจุบัน หลายท่านอาจจะคุ้นหูกับคำว่า Web 2.0 ไปแล้ว เรามาทบทวนกันอีกสักครั้งหนึ่งว่า Web 2.0 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดย O'Reilly Media ได้กล่าวถึง การให้บริการในรูปแบบ Web-based Generation ที่สองไว้ ดังนี้

• Social networking sites เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบรรดาผู้คนมากหน้าหลายตาที่พร้อมใจกันสร้างสรรค์/แชร์คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ภาพถ่าย ภาพวิดีโอ สื่อประสมต่างๆ จากเพื่อนสู่เพื่อน ตัวอย่างของไซต์ที่ฮอตฮิตในประเทศไทย ได้แก่ Facebook, Hi5, Youtube, LinkedIn

• Wikis เป็นเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้เข้าเยี่ยมชมทุกคนมีสิทธิ์ในการเพิ่มเติม/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สามารถใช้งานร่วมกันได้เสมือนร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ Wikipedia

• Communication tools เครื่องมือการติดต่อสื่อสารนี้รวมไปถึง อีเมล และยังขยายวงกว้างคลอบคลุมไปถึง RSS feed, podcasting, instant messaging, SMS, Blog หรือ แม้แต่ Twitter เอง

• Folksonomies อนุกรมวิธานที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง ซึ่งใช้ในการแบ่งหมวดหมู่และค้นคืน หน้าเว็บ รูปภาพ ตัวเชื่อมโยงเว็บ และ เนื้อหาบนเว็บอื่นๆ โดยใช้วิธีการติด Tag ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Social Bookmarking

ยุค Web 2.0 นี้จัดได้ว่าเป็นยุคที่ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์ และมีการนำมาแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างกว้างขวางและไม่จำกัด โดยหลายบริษัท องค์กร ได้มีการสร้างกลุ่ม/เครือข่ายของตนเองขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ทั้งนี้เพื่อหวังผลการบอกต่อ / แบ่งปัน / Retweet จากเพื่อนสู่เพื่อน ในแง่ของบุคคลที่ต้องการหางานก็เช่นกัน ได้มีการพยายามสร้างโปร์ไฟล์ หรือประวัติของตนเองขึ้นมาเพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าตนเองต้องการสิ่งใดบ้าง

Social Media กับการหางาน เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการหางานนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการแนะนำเพื่อนบอกต่อเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ (Referral) และจากสถิติ User Demographic ของกลุ่มผู้ใช้งาน Social Media พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ตกอยู่ช่วงอายุเฉลี่ย 24-54 ปี ซึ่งสอดรับกับกลุ่ม White Collars Worker หรือกลุ่มวัยทำงานนั่นเอง จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า Social Media สอดรับกับการหางานมากแค่ไหน
** ปัจจุบัน Social Media มีอยู่เยอะแยะมากมายจนนับไม่หวาดไม่ไหว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวไหนควรใช้บ้าง? **


ปัจจุบัน Social Media มีอยู่เยอะแยะมากมายจนนับไม่หวาดไม่ไหว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวไหนควรใช้บ้าง?
** Social Media มีอยู่เยอะแยะมากมาย แล้วจะใช้ตัวไหนที่เหมาะสมสำหรับการหางาน **


ในเบื้องต้น ขอแนะนำ Facebook , Twitter, LinkedIn และ YouTube มาดูเหตุผลกันดีกว่าว่าทำไม

Facebook
หากคุณกรอกโปร์ไฟล์ส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เฟสบุ้กเป็นอีกช่องทางนึงที่มีระบบสืบค้นที่ค่อนข้างตรงและแม่นยำ ลองนึกภาพตามว่า หากบริษัทแห่งหนึ่งต้องการหาบุคลากรที่มาจากบริษัทคู่แข่ง หรือ จากสถาบันการศึกษาเฉพาะที่กำหนดไว้ แค่พิมพ์ชื่อบริษัทหรือสถานศึกษาลงไป และทำการสืบค้น รายชื่อโปร์ไฟล์ของผู้ที่เกี่ยวข้องก็แสดงปรากฏในลิสต์เพียงไม่กี่วินาที

Twitter
เนื่องจากทวิตเตอร์เป็น Communication Tool ที่มาแรง และทรงอิทธิพลในยุคปัจจุบันมากที่สุดตัวหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 190 ล้านคนทั่วโลก สื่อสารผ่านข้อจำกัดที่พิมพ์ได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน 140ตัวอักษร เราสามารถติดตาม (Follow) กลับทางเดียว โดยที่คนคนนั้นไม่จำเป็นต้อง Follow เราอยู่ ซึ่งต่างจาก Social Media ประเภทอื่น ๆ ที่จะต้องมีเน็ตเวิร์กร่วมกันหรือเป็นตกลงเป็นเพื่อนกันก่อนจึงจะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกันและกันได้ และ เนื่องด้วยการตาม Timeline ของบุคคลมากหน้าหลายตาทำให้เราเหมือนรู้จักใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลนั้นไปโดยปริยาย ทวิตเตอร์จึงเป็นเครื่องมือที่บรรดาบริษัท/องค์กร/บริษัทจัดหางานต่าง ๆ พร้อมใจกันใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ค่อนข้างประสบความสำเร็จและสามารถเข้าถึง เกิดการบอกต่อจนเกิดจำนวน Follower ที่เพิ่มขึ้น
** Twitter ของ @Yokekung ที่มีการทำ Image Background เพิ่มเติม Bio ได้อย่างน่าสนใจ **


LinkedIn
LinkedIn ถือเป็น Social Media ที่จัดการด้านการหางานโดยตรง นอกจากจะช่วยในการพบเห็นประวัติ โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างหน้าฝากประวัติ หรือโปร์ไฟล์ของตัวเองให้ดูโดดเด่น โดยเท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเขียนประวัติในลักษณะเป็นทางการ ต่างจากการเขียนประวัติใน Social Media อื่น ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นโปร์ไฟล์ที่น่าสนใจแก่ตลาดหรือองค์กร ซึ่งองค์กรเหล่านั้นสามารถเข้าถึงเจ้าของโปร์ไฟล์ ได้โดยตรงด้วยระบบค้นหา

YouTube
ยูทูปเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ในหลายๆ องค์กรพยายามที่จะนำมาประกอบกับการสัมภาษณ์งาน เช่น การให้ผู้สมัครงานอัปโหลดวิดีโอแนะนำตัวเองแบบสั้นๆ และส่งลิงค์มาให้พิจารณาก่อนที่จะมาสัมภาษณ์จริง ทั้งนี้เพื่อพิจารณาลักษณะหน้าตา บุคลิกภาพ และ ท่วงทำนองการสื่อสาร

เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เวลาหางานผ่าน Social Media

เมื่อรู้แล้วว่าเราควรใช้ Social Media อันไหนบ้าง ทีนี้เรามาลองพิจารณากันรายตัว เริ่มตั้งแต่

Facebook
- เขียนประวัติให้ครบถ้วน ทั้งในด้านการศึกษา สถานที่ทำงาน การเขียนโปร์ไฟล์ครบก็เพิ่มโอกาสในการ แต่ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งตัวคุณและข้อมูล ไม่จำเป็นต้องกรอกประวัติส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงตัวคุณได้โดยตรง เช่น เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล เนื่องจากเฟสบุ้กมีการให้ใช้กล่องข้อความเพื่อการสื่อสารระหว่างกันอยู่แล้ว

- โพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอแสดงความเป็นตัวตน แสดงความสามารถพิเศษ เพื่อให้บริษัทสามารถศึกษาความเป็นตัวตนของคุณได้

- ไม่อ้างอิง ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด ด้วยการไม่เข้าร่วม กลุ่มทางด้านการเมือง เนื่องจากบางบริษัทฯ มองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ต้องการให้พนักงานของตนเข้าไปมีส่วนร่วม

- เข้าร่วมกลุ่ม เข้าร่วมกิจกรรม ของหน่วยงาน/องค์กรที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณ และ ไม่ขัดต่อหลักจริยธรรม

Twitter
- เนื่องจากการเขียนประวัติส่วนตัว (Bio) ในทวิตเตอร์มีข้อจำกัดในการเขียนได้ไม่เกิน 160 ตัวอักษร การเขียนประวัติข้อมูลส่วนตัวจะต้องทำอย่างกระชับบ่งบอกตัวคุณเอง การทำงาน กิจกรรมยามว่าง ความสนใจ อย่างสั้น ๆ ได้ใจความ

- ใส่ภาพ Avatar ที่เป็นภาพจริงของคุณในลักษณะปกติ บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณ

- ทำ Image Background โดยเพิ่ม Bio ที่น่าสนใจในตัวคุณลงไปเพิ่มเติม ยกตัวอย่าง กรณี @yokekung มีการเพิ่ม Text ลงใน Image Background พูดถึง ลักษณะงานที่สนใจ รวมทั้งเขียน URL ผลงานของตนเอง เพื่อให้ Visitor สามารถตามลิงค์เพื่อเปิดดูต่อได้

- ควร Follow บุคคลที่คิดว่า ลักษณะโปร์ไฟล์น่าสนใจ และไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดจริยธรรมอันดีของสังคม

LinkedIn
- กรอกข้อมูลให้ครบทุกอย่าง ในรูปแบบทางการ และดูเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน

- หากสามารถทำให้บุคคลอื่นๆ เข้ามาเขียน Recommendation ในตัวเรา ในผลงานของเรา เพื่อสร้างให้โปร์ไฟล์ของคุณให้ดูดีและมีความน่าเชื่อถือ

- เชื่อมต่อโปร์ไฟล์ของตนเอง ด้วยการติดต่อขอ Connection กับบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความสามารถ

YouTube
หากความสามารถอันบรรเจิดของคุณสามารถโลดแล่นบนวิดีโอเพียงสั้นไม่กี่นาทีได้ อย่ารีรอที่จะสร้าง ตัดต่อ และโพสต์ออกมา เพื่อแสดงศักยภาพในตัวคุณอีกมุมมองหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและประสบความสำเร็จ คือ สาวเกาหลีที่ชื่อ คิม โยว ฮี หรือ ที่ทุกคนใช้คำว่า Apple Girl ในการค้นหาวิดีโอของเธอ โดยเธอมีความสามารถพิเศษทางด้านการดนตรี โดยการนำ ไอโฟนหลายๆ เครื่องใช้ในการทำเพลงเสมือนอัดเพลงอยู่ในห้องสตูดิโอ เธอได้ทำการเล่นดนตรีและโพสต์วิดีโอการแสดงขึ้นยูทูป อีกต่อมาไม่นานเธอก็ได้งานที่เธอถนัด เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในเกาหลี

ทั้งนี้ทั้งนั้น การโพสต์ข้อมูลขึ้น Social Media ควรคิดก่อนโพสต์ทุกครั้ง เพราะข้อมูลทุกอย่างสะท้อนล้วนแล้วแต่เป็นกระจกเงาสะท้อนด้านดีหรือด้านเสียของคุณ ดังคำกล่าวของท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัค โอบาม่า ที่กล่าวเตื่อนสติวัยรุ่นอเมริกันทุกคนให้ระมัดระวังคำพูดก่อนที่จะโพสต์ข้อความต่าง ๆ ลงเฟสบุ้กเพราะในอนาคตข้างหน้าเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน หรือ กำลังมองหางาน ข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในเฟสบุ้กหรือทวิตเตอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจจ้างงานจากนายจ้าง และข้อมูลทุกอย่างล้วนอยู่ในผลลัพธ์การค้นหาแทบทั้งสิ้น

ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการหางานด้วย Social Media

จากเหตุผลร้อยแปดประการดังกล่าวข้างต้น ขอสรุป 3 ข้อสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

1.เขียนประวัติโปร์ไฟล์ตนเองให้ถูกต้อง ครบถ้วน แสดงศักยภาพของตัวเองเท่าที่มี และเหมาะสมกับ Social Media แต่ละประเภทโดยเขียน โพสต์รูปภาพ วิดีโอทุกอย่างบนพื้นฐานความจริง สิ่งไหนไม่ดีเป็นข้อด้อยของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเขียนบรรยายสรรพคุณสิ่งนั้นออกมา และระมัดระวังการเขียน ตอบโต้ และโพสต์ข้อความในแง่ลบหรือพาดพิงถึงผู้อื่น จำไว้ว่าทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานชั้นดีในอนาคตการทำงานของคุณ

2.พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบริษัทหรือองค์กรที่หมายปอง เรียกง่ายๆ ว่า บางครั้ง เราจำเป็นต้องเสนอตัวและสร้างสถานการณ์ขึ้นมาด้วย เช่น กรณีการสอบถามตอบโต้กับบริษัทนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงดึงดูดและจุดสนใจให้กับบริษัทรู้จักเรามากยิ่งขึ้น

3.ใช้ประโยชน์และข้อดีจากเครื่องมือ Social Media แต่ละประเภท จำไว้ว่าคุณยิ่งถือครอง Social Media และเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันมากเท่าไหร่ จะเพิ่มโอกาสให้นายจ้าง หรือ บริษัทจัดหางานค้นหาและแกะรอยข้อมูลของคุณได้มากยิ่งขึ้นผ่านเสิร์ช เอนจินต่างๆ ขอยกตัวอย่างกรณีเสิร์ชในกูเกิลคำว่า Pawoot ผลลัพธ์การค้นหา จะพบทั้ง Facebook, Twitter, Youtube, Foursquare และ Blog ต่างๆ มากมาย




** ผลลัพธ์การค้นหาใน Google **


แล้วในมุมมองของบริษัทจัดหางานในประเทศไทยหละ มีการนำ Social Media ไปใช้บ้างหรือยัง

จากการสำรวจการใช้ Social Media ในธุรกิจจัดหางานและสรรหาบุคลากร พบว่าบริษัทรับประกาศตำแหน่งงาน (Job Posting Company) บริษัทจัดหางาน (Recruitment Agency) หรือที่ใครหลายคนนิยมเรียกติดปากว่า Head Hunter หรือแม้กระทั่งบริษัท หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ได้มีการนำ Social Media ใช้เพิ่มมากขึ้น โดยลักษณะการกระจายข้อความส่วนใหญ่จะเป็นการประกาศตำแหน่งงานว่าง คุณสมบัติของผู้สมัครงานที่สนใจ ความรู้ทางด้านการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งมีการวาง URL เพื่อลิงค์กลับเข้าไปยังเว็บไซต์ของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครงานสามารถเข้าเว็บไซต์เพื่อสมัครงานได้โดยตรง

และเนื่องจากในปัจจุบัน หากเราอยากรู้จักคนหนึ่งคน สิ่งที่เราทำอันดับแรกอาจเป็นการเสิร์ช ชื่อคนคนนั้นจากกูเกิล และก็ไม่แปลกใจที่ผลการค้นหาอันดับต้นๆ นั้นมาจาก Social Media แทบทั้งสิ้น บริษัทจัดหางานต่างๆ จึงใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางในการสืบค้น ตรวจสอบประวัติของคุณก่อนเรียกสัมภาษณ์เช่นกัน อีกทั้งหากสังเกตแบบฟอร์มสมัครงานปัจจุบันของหลายๆ องค์กร ก็จะพบว่ามีช่องเพิ่มเติมให้กรอก URL ส่วนตัว, Facebook Account , Twitter ID

ดังนั้น ใครที่กำลังมองหางานกับบริษัทเป้าหมาย ก็อย่าลืม Follow หรือ ไปกดปุ่ม Like บริษัทนั้น ๆ ไว้ เพื่อให้มีข้อมูลงานตำแหน่งใหม่ๆ Feed เข้ามาใน Wall หรือ ใน Timeline ของคุณอย่างสม่ำเสมอ เผื่อมีตำแหน่งงานที่น่าสนใจตรงกับคุณสมบัติของคุณ หรือเป็นตำแหน่งงานที่สามารถส่งต่อไปยังเพื่อน ๆ ในเครือข่ายของคุณได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการ (How To)ในการสร้างโอกาสในการนำเสนอ ให้คุณในการถูกเรียกสัมภาษณ์จากนายจ้างได้เร็วขึ้น มีโอกาสในการเรียกสัมภาษณ์ แต่สุดท้ายแล้วการจะได้งานหรือไม่ได้งานนั้นจะอยู่ที่ศักยภาพของคุณ ดังนั้น นอกจากจะมีโปร์ไฟล์ ใน LinkedIn ที่สวยเนี้ยบเฉียบหรูดูทางการ มีข้อมูลบนเฟสบุ้กที่บ่งบอกความเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณ มีการทวีตข้อความดีๆ ใน Twitter มีวิดีโอในยูทูปที่ดูโดดเด่น แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่คุณขาดไม่ได้คือ ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หรือ สร้างความมั่นใจ รวมทั้งแสดง Talent ที่มีอยู่ในตัวคุณให้ฉายแววออกมาสู่สภาพความเป็นจริงเมื่อนายจ้างเรียกสัมภาษณ์เข้าตำราทำ Marketing ดี Product ก็ต้องดีด้วยนะคะ

ขอให้โชคดีในการหางานตรงใจทุกคน หาคนตรงใจทุกงาน
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์