วิธีหาเงินบนโลกไอที (40) : ปลูกผักให้งอกเงิน

วิธีหาเงินบนโลกไอที (40) : ปลูกผักให้งอกเงิน ในวิกฤติยังมีโอกาส สงครามยังสร้างวีรบุรุษ ฉะนั้นในยุคที่เกมปลูกผัก ทำฟาร์ม และเกมหรรษาอื่นๆบนเว็บเครือข่ายสังคมได้รับความนิยมถ้วนหน้า ก็ย่อมมีโอกาสงามสำหรับธุรกิจแฝงอยู่ ***สร้างรายได้ให้ธุรกิจคุณด้วย Social Games

ในตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เกม ปลูกผัก, มาเฟีย วอร์, เรสเตอรอง ซิตี้ หรือเพ็ด โซไซตี้แล้ว เกมทั้งหลายเหล่านี้ เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า เกมเครือข่ายสังคม หรือ Social Games (แต่หลาย ๆ คนคงเรียกเกมเหล่านี้ว่าเกมเฟสบุ๊กไปแล้ว) เกมเหล่านี้ได้รับความนิยมและสามารถสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งอุปกรณ์พกพาหลากชนิดต่างต้องการเกมเหล่านี้ให้สามารถมาเล่นบนเครื่องตัวเองได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เจ้าดังค่ายผลไม้อย่างแอปเปิล

อะไรคือ Social Games

Social Games นั้นเป็นเกมที่พัฒนาจากการเกมออนไลน์หลายรูปแบบบนการมาหรือแจ้งเกิดของเว็บเครือข่ายสังคม เกมเหล่านี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงย้ายจากการอยู่บนอินเทอร์เน็ต เข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเช่น Facebook ซึ่งมีผู้ใช้ในปัจจุบันมากกว่า 500 ล้านคนแล้ว

Social Games จึงกลายเป็นของเล่นเครือข่ายสังคม ที่หลายคนเข้ามาร่วมเล่น ร่วมแบ่งปันทรัพยากรที่ตัวเอง ร่วมถึงร่วมมือกันเพื่อให้อุปสรรคของแต่ละคนในเกมนั้นผ่านพ้นไปได้

ทำไม Social Games ถึงได้รับความนิยม

Social Games นั้นได้รับความนิยมเพราะสามารถร่วมเล่นกับเพื่อนก็ได้ (แม้ว่าเพื่อนจะไม่ได้เล่นอยู่ก็ตาม แต่อวตาร์เพื่อนก็ยังคงมีอยู่ในโลกของเกม) โดยเพื่อนเหล่านี้ก็คือเพื่อนในเครือข่ายของตนเองที่มีอยู่ ทำให้ความสนิทสนมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเล่นไปแล้วเกมจะสร้างอุปสรรคให้เกิดขึ้น ซึ่งอุปสรรคนี้สามารถแก้ได้อย่างง่ายได้ โดยการหาของจากการแลกกับเพื่อนหรือชวนเพื่อให้ได้ของนั้นมา นอกจากนี้การเล่นนี้ทำให้เกิดการแข่งขันไปโดยปริยายว่าใครจะขึ้นไปอยู่ระดับไหนของเกม ซึ่งจะตัวเกมนั้นจะมีอันดับของผู้ที่ทำคะแนนอยู่ว่าเป็นอย่างไร ทำให้เพื่อน ๆ หลายคนนั้นทุ่มเวลาเล่นจนไม่ได้พักผ่อนกันเลยทีเดียว

ที่สำคัญอีก 2 อย่างคือ Social Games นั้นใครไม่เล่นหรือไม่รู้จักก็อาจจะตกกระแสไม่อินเทรนด์ กันไป ทำให้เวลาเพื่อน ๆ พูดก็อาจไม่เข้าใจไปกันบ้าง ซึ่งสุดท้ายนั้นคือการลองเล่นได้เลย เพราะเกมเหล่านี้ไม่ต้องดาว์นโหลด หาซื้อแผ่นมาติดตั้ง เพราะเกมเหล่านี้เปิดให้ผู้เล่นได้เข้าไปเล่นฟรี
ทำอย่างไรถึงจะเอา Social Games มาใช้กับธุรกิจคุณ

จากรายงานปี 2009 ล่าสุดนั้นพบว่าตลาด Social Games นั้นมีมูลค่าประมาณ 639 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2014 นั้นตลาด Social Games น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแน่นอน ทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดที่สดใสที่หลายธุรกิจเข้าไปจับจ้องว่าจะเข้าไปแสวงหาแหล่งขุมทองใหม่ได้อย่างไร

ในธุรกิจของสินค้านั้นการประชาสัมพันธ์หรือทำการตลาดผ่านโลกของ Social Media นั้นสำคัญตรงจุดประสงค์ว่าจะทำอะไรกับ Social Media นั้น ๆ การมี Social Games ก็เช่นกัน ต้องคำนึงถึงว่าเม็ดเงินที่จะลงทุนไปกับการสร้าง Social Games นั้น มีความเหมาะสมกับธุรกิจคุณหรือส่งเสริมธุรกิจคุณได้หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วบางทีธุรกิจนั้นอาจจะไม่ได้ต้องการเกมที่มีความอลังการและซับซ้อนเหมือนอย่าง Social Games ก็ได้ ซึ่งสามารถแบ่งได้ง่าย ๆ จากวัตถุประสงค์ของเกมว่าต้องการอะไร เช่น

1.หากคิดว่าจะเป็นกิจกรรมสั้น ๆ สร้างขึ้นโปรโมทสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แล้วละก็ สามารถใช้เกมธรรมดา ที่ไม่ใช้ Social Games มาทำก็ได้ เพราะกิจกรรมสั้น ๆ นั้นเล่นแล้วจบเลย ผู้เล่นได้ของรางวัลหรือได้รับรู้ข่าวสารตามที่ต้องการ ซึ่งเกมประเภทนี้จะมีผู้เล่น เล่นเพียงๆ แค่เพื่อให้จบภารกิจตามที่ต้องการไป เมื่อได้แล้วก็จะหยุดเล่น

2.หากคิดว่าต้องการทำรายได้อย่างจริงจัง หรือเป็นกิจกรรมที่มีช่วงระยะเวลายาว ๆ แล้วละก็ Social Games นั้นจะเริ่มเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะสามารถดึงคนให้อยู่เล่นได้ตลอดเวลา จนกว่าช่วงกิจกรรมจะหมดลงหรือสามารถ นำมาใช้ใหม่มื่อมีกิจกรรมอะไรในกลุ่มเดียวกันเกิดขึ้น หรือแม้แต่ใช้เกมนี้มาสร้างรายได้เสริมของผลิตภัณฑ์ตัวเอง ซึ่งเหมือนสมัยก่อนที่หลาย ๆ แบรนด์ดังนั้นเข้าไปทำร้านค้าในในโลกเสมือนอย่าง Second Life เพียงเพื่อเข้ามาขายสินค้าเสมือนในโลกของเกมนั้น ซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไปในอีกทางหนึ่งแก่บริษัท อีกทั้งยังสามารถทำโฆษณาไปด้วยได้ในตัว

เมื่อรู้จุดประสงค์ที่แน่ชัดแล้ว ก็ต้องมาคิดถึงว่าเกมแบบ Social Games นั้น จะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่อะไร ซึ่งบริษัท Social Games ยักษ์ใหญ่อย่าง Zynga ผู้ทำเกม Farmville นั้นระบุว่าเกมที่จะประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่ปัจจัยไม่กี่ประการซึ่งมีดังนี้

•การใช้ชีวิตหรือประสบการณ์ที่คนรู้อยู่แล้วมาทำเกม เพราะทำให้คนนั้นเรียนรู้น้อยว่าเกมจะดำเนินอย่างไร ไม่ต้องมาเสียเวลามานั่งเรียนรู้ และเริ่มเล่นเกมได้ทันทีหรือมองแล้วดูออกว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะดำเนินไปทางไหนได้
•สร้าง Social Value ขึ้นเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สารเคมีในสมองที่เรียกว่า Oxytocin ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความพึงพอใจเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมหลั่งออกมาจากสมองเช่นกัน ทำให้ผู้คนที่เล่นเกมนั้นจะรู้สึกดีและมีโอกาสสูงที่จะกลับเข้ามาเล่น
•หากมีกิจกรรมวันพิเศษในโลกจริง ก็อย่าได้พลาดที่จะเอา Social Games นั้นมีกิจกรรมดังโลกนั้นตาม เพราะจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองไม่ขาดกิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่งในโลกจริงไป และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมวันพิเศษต่าง ๆ ได้ตลอด
•สร้างการอัพเดทตลอดเวลา อย่าทำให้เกมนั้นน่าเบื่อทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเล่นอะไรเหมือน ๆ เดิมทุกวัน ซึ่งการอัพเดทนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ซับซ้อน เพียงแค่เป็นการมีของใหม่ในเกมก็เพียงพอแล้วในหลายครั้ง
•สร้างการคลิกหรือใช้เวลาอยู่หน้าจอในการเล่นให้น้อยที่สุด เพราะในช่วงเวลาแห่งข่าวสารที่วิ่งมาหาเราอย่างรวดเร็ว การนั่งอยู่หน้าจอเพื่อเล่นเกมทั้งวันนั้น จะทำให้เสียเวลาในการทำอย่างอื่นไปหมด ยิ่งต้องมีการกดเมาส์หลาย ๆ ครั้งแล้วจะทำให้คนเล่นรู้สึกว่าเกมนั้นยากมาก แต่หากเกมนั้นคลิกไม่กี่คลิกในการออกคำสั่งและสามารถกลับมาดูได้ในภายหลังว่าเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ผู้เล่นสามารถไปใช้ช่วงเวลาระหว่างรอทำงานอื่นได้ด้วย ยิ่งทำให้เกมนั้นน่าเล่นขึ้นไปอีก

เมื่อรู้เทคนิคว่าเกมนั้นจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเกมนั้นจะหารายได้เข้ามาอย่างไร เพราะถ้าทำ Social Games เพื่อสร้างรายได้แล้วก็ต้องคิดว่าจะหารายได้ทางไหน (แต่บางเกมก็ไม่มีการหารายได้ เพราะต้องการใช้เกมเป็นเครื่องมือโปรโมทสินค้าหรือบริการของแบรนด์เอง) ซึ่งการหารายได้นั้นจะมีอยู่หลัก อยู่ 2 ทางคือ

•การขายสินค้าเสมือนในเกม
• การขายสินค้าจริงเพื่อรับไอเท็ม
ทั้ง 2 แบบนั้น มีจุดประสงค์ที่คล้ายกัน ต่างกันแค่วิธีการว่าจะทำให้ผู้เล่นจ่ายเงินอย่างไร ในแบบแรกนั้นผู้เล่นต้องจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์เพื่อทำการซื้อสินค้าที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนั้นได้รับเงินโดยตรง แต่อีกแบบนั้น สินค้าเสมือนจะอยู่ในรูปแบบรหัสที่ซ่อนไว้ในสินค้าที่ขายตามท้องตลาดของธุรกิจที่ทำเกม เช่น รหัสโค้ดอยู่ในซองขนม เอาโค้ดดังกล่าวไปใส่ในเกมก็จะได้ไอเท็มนั้นมา ซึ่งทำให้ผู้เล่นนั้นต้องไปหาซื้อสินค้าของธุรกิจเพื่อให้ได้ไอเท็มหรือสินค้าที่ต้องการมาไว้ในครอบครอง ซึ่งกิจกรรมที่คนจะซื้อของนั้นมีดังนี้

1.ซื้อไอเท็มหรือสินค้าเพื่อตกแต่งตัวละครตัวเอง เพื่อให้มีเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่างจากคนอื่น
2.ซื้อมาเพื่อตกแต่งสถานที่ที่ตัวเองครอบครองในเกม เช่นฟาร์ม บ้าน สวย ร้านอาหารหรือแม้กระทั่งตู้ปลา
3.ซื้อไอเท็มหรือสินเค้า เพียงเพื่อ Shopping เพราะหลายๆ คนนั้นไม่ชอบที่จะใช้ของซ้ำและอยากลองสินค้าหรือไอเท็มใหม่ ๆ เสมอ
4.ซื้อสินค้าหรือไอเท็มนั้นเพื่อให้ของขวัญ ซึ่งการให้ของขวัญนี้เป้นการเพื่อแสดงความรู้สึกที่ตัวเองมีมากไปกว่าข้อความที่จะพิมพ์ส่งฝากไว้
5.ซื้อเพื่อความสะดวกสะบายในการเล่นเกมที่มากขึ้น เพราะยิ่งจ่ายมาก ก็สามารถเล่นเกมเพื่อไต่อันดับหรือมีระดับที่สูงขึ้นได้ไว ๆ

เห็นข้อมูลดังนี้แล้ว อาจจะยังสงสัยแล้ว สร้าง Social Games แล้วรู้ได้อย่างไรว่าคนจะมาซื้อของในเกม อย่างแน่นอน ซึ่งคำตอบนี้บริษัทผู้ผลิต Social Games อย่าง Shufflebrain นั้นได้ให้คำอธิบายตามนี้คือ

•คนที่เล่นเกมนั้นส่วนใหญ่ใจร้อน เพราะเวลานั้นเท่ากับเงิน การรอนาน ๆ เพื่อให้ผ่านอุปสรรคนั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซึ่งถ้ายอมจ่ายและมีเวลาไปทำอย่างอื่นโดยผ่านอุปสรรคของเกมไปก็สามารถยอมจ่ายได้
•คนเรานั้นต้องการเครื่องมือที่ดีกว่าเสมอ เหมือนดังเช่นการมีมือถือ เมื่อมีรุ่นใหม่กว่าก็ย่อมอยากได้เช่นกัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับโลกของ Social Games ที่คนจะสามารถจ่ายเงินเพื่อให้ได้ของที่ดีขึ้น
•การจ่ายและมีความแตกต่างจากคนอื่นในโลกของ Social Games นั้นมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้เล่นนั้นมีความสำคัญขึ้นมา และดึงคนให้เล่นและจ่ายเงินเพื่อซื้อของที่ทำให้ตัวเองมีความรู้สึกสำคัญเรื่อย ๆ
•คนเรานั้นมักแสดงออกโดยการแต่งตัวว่ามีสไตล์แบบไหน คงไม่มีใครปล่อยตัวละครตัวเองให้เดินเฉย ๆ ไร้สไตล์หรือการแต่งตัวตามที่เราชอบแน่นอน ซึ่งเห็นดังนนี้หลายคนจึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้า สีผม ในเกม
•ผู้คนต้องการสร้างความสัมพันธ์ การจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า ในเกมเพื่อมีความสัมพันธ์กับเพื่อน หรือคนรักนั้น ย่อมเป็นเรื่องเล็กน้อยมากที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา ซี่งการจ่ายเงินแบบนี้จะทำให้คนรับรู้สึกว่ามีคนห่วงใย และคนที่จ่ายเพื่อซื้อของให้ย่อมต้องการให้คนได้รับรู้สึกดี

ตอนนี้คงได้เทคนิคที่สำคัญทั้งแนวคิดในการสร้างเกม วิธีการหารายได้ และทำไมคนถึงต้องจ่ายเงิน แต่แล้ว ถ้าธุรกิจคุณเข้าไปทำตลาดตรงนี้แล้วจะได้อะไร ซึ่งคำตอบนนี้มีอยู่ในตัวอยู่แล้วคือ

1.การมีช่องทางใหม่เพื่อสร้างสารกับคนที่มาสนใจธุรกิจของเรา และสามารถกระจายข่าวสารให้สมาชิกของคุณได้รับรู้อย่างรวดเร็วได้ผ่านเกมพร้อมกัน
2.ทำให้คนรับรู้และรู้จักแบรนด์ได้เป็นอย่างดี เพราะทุก ๆ เกมที่ทำนั้นย่อมมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ทำให้ธุรกิจเหล่านี้จะถูกจดจำจากรูปแบบที่เกมใช้
3.การเล่นเกมที่แบบนี้ สามารถสร้างความจงรักภักดีต่อธุรกิจได้เพราะสามารถให้คนร่วมเล่น ร่วมสนุกเพื่อเรียนรู้ธุรกิจเรา และเข้าใจในธุรกิจเรามากขึ้นเพื่อแลกกับของรางวัลหรือแต้มที่จะได้จากเกมไป
4.สร้างการตลาดต่อสินค้า หรือโฆษณาต่าง ๆ ผ่าน Social Games ได้ เพราะสามารถเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆเป้นไอเท็ม และถ้าผู้เล่นสนใจก็สามารถกดจากเกมมาที่เว็บไซต์สินค้าได้ทันที หรือค้นหาจากระบบค้นหาต่าง ๆ ก็ได้
5.มีฐานข้อมูลคนที่เข้ามาเล่นไว้ในมือเพื่อสามารถใช้ส่งข้อความ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ต่อไป ได้อย่างง่ายได้
6.สามารถใช้ Social Games เป็นแหล่งทำกิจกรรม รวมกลุ่มแสดงพลังเพื่อสังคมได้ เป็นการทำ CSR ไปในอีกทางหนึ่ง เช่น Bing ระบบ Search engine ของ Microsoft ก็เคยทำกิจกรรมผ่าน Farmville มาแล้ว โดยจะทำการบริจาคเงินเมื่อคนใช้ Bing ในการค้นหา ไปสร้างโรงเรียนในแอฟริกา

จะเห็นได้ว่าการทำ Social Games นั้นได้ประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล เพียงแต่การที่จะสร้างเกม ๆ หนึ่งนั้นต้องมาดูความสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งนั้นคือ จุดประสงค์หรือวัตถุประสงค์ ที่จะต้องมี Social Games เพื่อธุรกิจ เพราะหากจุดประสงค์นั้นไม่จำเป็นต้องมี เกมขนาด Social Games แล้วทำต่อไปนั้น เกมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและเป็นการละลายเงินลงแม่น้ำไปโดยใช่เหตุ แต่หากคิดว่าคุ้มทุนและสามารถหารายได้จาก Social Games ได้ มันก็น่าสนใจไม่น้อยที่จะลงทุนสร้างเกมนึงขึ้นมา
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์