วิธีหาเงินบนโลกไอที (39) : 3G-Cloud เกิด E-Commerce เปลี่ยน

วิธีหาเงินบนโลกไอที (39) : 3G-Cloud เกิด E-Commerce เปลี่ยน ในเมื่อวิถีการสื่อสารของมนุษย์ยังถูกปฏิวัติโดย 3G ขณะเดียวกัน วิถีการทำงานของมนุษย์ก็ถูกยกระดับขึ้นโดย Cloud Computing นับประสาอะไรกับวิถี E-Commerce หรือการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะมีแรงต้านเฮอร์ริเคน 2 ลูกนี้

"พูนลาภ ชัชวาลโฆษิต" ผู้มีดีกรีเป็นเบื้องหลังการดำเนินยุทธศาสตร์การค้าออนไลน์แห่งอาณาจักรซีพี จะพาชาวผู้จัดการไซเบอร์ไปเห็นถึงช่องทางใหม่ที่คนอีคอมเมิร์ชไทยสามารถเปลี่ยนแปลงกระแสที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสงามในตลาดโลกได้ โดยไม่ต้องทนงมเข็มในมหาสมุทรอีคอมเมิร์ชแบบเก่าอย่างเดียว

***อีคอมเมิร์ชยุคหน้า ภายใต้อิทธิพล 3G และ Cloud Computing
โดย พูนลาภ ชัชวาลโฆษิต

แม้จะมีคำประกาศจากเว็บที่ให้บริการหลายรายว่าจะผลิกโฉมวงการ E-Commerce ของไทย แต่ความล้าหลังของ E-Commerce ของไทยยังปรากฏอย่างชัดเจนทุกครั้งที่มีใครเริ่มผลิกโฉมวงการ E-Commerce ด้วย Internet อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ได้แปลว่าประเทศไทยไม่ได้เดินหน้าเข้าสู่ E-Commerce ยุคใหม่เช่นเดียวกับต่างประเทศ ถ้าอย่างนั้นสถานภาพ E-Commerce ของเมืองไทยจะเป็นเช่นไร ขอเชิญท่านผู้อ่าน Manager Online มาร่วมพิจารณาไปพร้อมกับผู้เขียนกันเลยครับ

E-Commerce ในปัจจุบันนั้น หมายความถึงการทำธุรกิจในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายประเภทผ่านเครือข่ายสื่อสาร ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ต้องเป็นการค้าปลีกเปิดหน้าร้านขายของประมูลของผ่านเครือข่าย Internet เท่านั้น

หากท่านผู้อ่านสามารถทำธุรกิจผ่านระบบหรือเครือข่ายสื่อสารแล้วให้มีชำระเงินกันผ่านระบบเครือข่าย ก็น่าจะอยู่ในขอบเขตของคำว่า E-Commerce เช่นกัน เราลองมาพิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้กันนะครับ

กรณีเป็นสินค้า

ถ้าเราทำการนำเสนอขายสินค้าของบริษัทซึ่งอาจจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ได้ผ่าน VDO conference ที่อยู่บนเครือข่ายโทรศัพท์แบบ 3G ในระหว่างที่ต้องไปประชุมกันที่สาขาของบริษัท ในอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ เราสามารถนำเสนอกระบวนการผลิตจากสถานที่จริงให้ลูกค้าดูได้ว่า เราผลิตได้อย่างไร ปลอดภัยไร้สารพิษตกค้างไปถึงลูกค้าหรือไม่

ลูกค้าก็ดูเลย ถามกันสดๆ ไป หรือหากมีข้อเปรียบเทียบ หรือมีตัวอย่างหรือรูปแบบที่อยากให้เราผลิตให้ตามแบบที่ต้องการ ก็สามารถเตรียมมาเราก็ดูได้เลย เมื่อคุยกันเสร็จ เราก็ให้เขาทำการชำระเงินผ่านระบบ หรือโอนเงิน หรืออะไรก็ได้มาให้เรา

ซี่งสินค้าที่เราสามารถดำเนินการในรูปแบบนี้ได้ ก็ต้องเรียนว่า เป็นสินค้าอะไรก็ได้ครับ ตั้งแต่สินค้าเกษตร แบบพืชผักผลไม้ ปศุสัตว์ ทั้งแบบที่ผลิตส่งเลย และแบบแปรรูป หรือจะเป็นการทำหุ่นยนต์เหล็กจากเศษเหล็ก ที่พักอาศัย สินค้าจากอุตสาหกรรมรถยนต์ อะไหล่ และอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ตกแต่ง สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ สินค้าประเภทเครื่องใช้อุปโภคบริโภค เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน

เพียงแต่เราจัดสถานที่ของเราไว้เลย ให้รองรับการสร้างประสบการณ์แบบนี้ได้ ก็จะได้ความแปลกใหม่ในการขายสินค้าพร้อมกับประสบการณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็จะทำให้ที่ทำงานของเราค่อนข้างจะดูดีน่าทำงานซึ่งจะสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีให้กับพนักงานของเราไปด้วย

และเมื่อเราพัฒนาทั้งหมดให้กลายระบบ มีกล้องวีดีโอถ่ายของจริงแบบอัตโนมัติเตรียมไว้ด้วย จนถึงระบบชำระเงิน นี่ใช่ E-Commerce หรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่อธิบายมาข้างต้นนั้นมันน่าจะเรียกว่า E-Commerce ในยุคของ Creative และ Service Economy แถมพ่วงด้วย Experience Marketing กันเลยทีเดียว ไร้ข้อจำกัดในประเภทของสินค้า ไม่ใช่ต้องมีคนกลางมาเปิดเว็บขายเหมือนเป็นห้างสรรพสินค้ากันอีกต่อไป

เพื่อขยายความให้ท่านผู้อ่านได้นึกภาพตามได้ทันกับตัวอย่างแรกไปนะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตได้ว่า ปัจจุบันอุปกรณ์ประเภท Audio/Video นั้นมีการพัฒนาไปมาก และราคาถูกลงอย่างมาก เราสามารถซื้อ LCD TV ขนาดจอภาพ 50” ได้ในราคาเพียงไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น ย่อมหมายถึง ในปีหน้าแทบทุกบ้านน่าจะมีเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจอภาพขนาดไม่ต่ำกว่า 25-30” กันแล้ว

หากมองไปที่องค์กร ก็คงต้องมีเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 50” ในห้องประชุมเป็นแน่ เรียกว่าเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องหนึ่งมีขนาดเท่ากับหน้าต่างหรือประตูบานหนึ่งเลยทีเดียว

ที่สำคัญตอนนี้พวกเราก็ซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีเทคโนโลยีจอภาพแบบ 3D และ HD กันแล้วด้วย ระบบเสียงก็เป็น HiFi Stereo แบบรอบทิศทางกันหมดแล้ว ยิ่งทำให้คุณภาพของภาพและเสียงที่ออกจากอุปกรณ์เหล่านี้ดีและชัดตามที่ต้องการกันเลยทีเดียว

ด้วยขนาดของจอภาพที่กล่าวมาข้างต้น หมายความว่า พวกเราจะสามารถสื่อสารกันในรูปแบบ VDO conference ระหว่างกันได้บรรยากาศเหมือนพวกเราคุยกันผ่านหน้าต่างหรือประตูกันเลยทีเดียว เราสามารถส่งข่าวสารที่เป็นภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวที่ชัดเจนสมจริงกันได้ ดังนั้นเมื่อมีระบบเครือข่ายที่มีความเร็วสูงย่อมจะทำให้เกิดการสือสารเช่นนี้ได้

ผู้เขียนจะขอขยายภาพเพิ่มเติมจากข้างต้นอีกเล็กน้อย ว่าท่านผู้อ่านสามารถเพิ่มการบริการใส่เข้าไปในดำเนินธุรกิจแบบ E-Commerce ในยุคของ Creative และ Service Economy แถมยังมีรูปแบบของ Experience Marketing ร่วมไปด้วยได้อย่างไรอีกบ้าง ดังนี้ครับ

สมมติว่า สินค้าของผู้เขียนเป็นสินค้าเกษตรขายผ่านระบบไปยังต่างประเทศ เราสามารถมีบริการเสริมกับลูกค้าของเราได้ อาทิ การสอนทำอาหารไทยด้วยวัตถุดิบจากประเทศไทย การกินอาหารแบบบรรยากาศในประเทศไทยโดยมี VDO ที่ถ่ายทำจากสถานที่จริงของตลาดน้ำ แม่น้ำ ภูเขา ชายทะเล ฯลฯ ในประทศไทย หรือประเทศใดๆ ที่เราคัดสรรกันมาแล้ว หรือกระทั่งฟังดนตรีจากศิลปินไทยพื้นบ้าน เพียงลูกค้าสมัครซื้อวัตถุดิบจากเรา และมีห้องที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ที่ชมได้สะดวก ซึ่งด้วยขนาดและศักยภาพของจอภาพเครื่องรับโทรทัศน์ก็สามารถจะสร้างบรรยากาศดังกล่าวได้ไม่ยากเย็นนัก

นอกจากรูปแบบของการขายสินค้าร่วมกับบริการที่เสริมเข้าไปเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ยกมาข้างต้นแล้ว บางอย่างที่เป็นบริการล้วนๆ ก็ยังสามารถดำเนินการได้ เช่น การศึกษาทางไกล ในเส้นทางที่พวกเรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจแบบอาเซียน + 3 เราสามารถที่จะขายการเรียนการสอนในรูปแบบที่มีการโต้ตอบ หรืออาจจะไม่โต้ตอบเมื่อเป็นการเรียนแบบ 24 ชั่วโมงตามผู้เรียนต้องการได้ โดยการผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูง ให้กับลูกค้าของเราที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจอาเซียน + 3 ได้

มีผู้คนมากมายอยากเรียนรู้การทำอาหารแบบไทย ศิลปะแบบไทย กีฬาแบบไทย โดยที่ไม่ได้อยากจะเดินทางไปกลับเมืองไทยตลอดเวลา หรือมาอยู่ที่ประเทศไทยนานๆ และเช่นเดียวกัน เราเองก็อยากจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ บันเทิง และศิลป จากประเทศอื่นในเขตเศรษฐกิจอาเซียน + 3 เช่นกัน

ด้วยเครือข่ายความเร็วสูง รวมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการนำเสนอข้อมูล อย่างอุปกรณ์ Audio/Video รุ่นใหม่ ย่อมเอื้อต่อการดำเนินการดังกล่าวได้

หันกลับมาธุรกิจ E-Commerce ของบ้านเรา พื้นฐานที่เราคิดหรือที่เราพูดคุยกันอยู่นั้นเป็น E-Commerce รุ่นแรกที่ได้ล่มสลายไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งยุคฟองสบุ่ดอทคอม ราวปี 2000 เป็นยุคที่คิดว่า ทุกคนจะวิ่งเข้าไปใน Internet เพื่อซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่นั่นเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กของโลกเท่านั้น ดังนั้นรูปแบบของ E-Commerce จึงถูกพัฒนาให้กลายเป็น Brick & Click โดย Brick หมายถึง การดำเนินธุรกิจอยู่นอก Internet และ Click คือ การดำเนินธุรกิจส่วนที่อยู่ใน Internet มานานเกือบสิบปีแล้ว แต่บ้านเรายังมีมุมมองของ Click อย่างเดียว

ท่านผู้อ่านลองมองดู จะเห็นแม้แต่พวกที่เป็น Click เดิมและเป็นผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายก็ล้วนแล้วแต่พยายามจะพัฒนารูปแบบของธุรกิจของตนเองให้เป็น Brick & Click อาทิ

• Amazon.com มี Kindle เป็นเครื่องมือในการใช้บริการจากเว็บ Amazon.com
• Barns and Noble ก็มี Nook
• Google ก็มี Android ซึ่งจะถูกกระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone, Netbook ฯลฯ
• Microsoft มี Zune, Windows Phone, Xbox และคอมพิวเตอร์อีกนับร้อยล้านเครื่อง
• Hi5, Facebook และ Twitter ก็สามารถใช้งานได้จากเครื่องโทรศัพท์มือถือ
• Apple ก็มี iPhone, iPAD, iTunes และ iPOD
• ฯลฯ

ดังนั้นหากอยู่ในกรอบนี้ของผู้เขียนบริการที่มี Call Center ร่วมด้วยอย่าง 7Catalog, ค่ายเพลงต่างๆ, การจอง/ซื้อตั่วเครื่องบิน รถทัวร์ ผ่าน Counter Service หรือเว็บ, TV Direct ที่มีการชำระเงินผ่านระบบ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น E-Commerce

แต่ที่บ้านเรายังมีการซื้อขายผ่านระบบกันน้อย ก็ด้วยความที่ยังติดภาพของ E-Commerce ยุคล่มสลายอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงของ E-Commerce นั้นไม่มีที่ใดเลย นอกจากประเทศไทย ที่จะมอง E-Commerce เป็น Internet และพยายามที่จะให้ผู้คนเข้าไปยังเว็บของตนเองเพื่อจับจ่ายซื้อของ

ดังนั้นหากท่านผู้อ่านสนใจที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองด้วยรูปแบบของ E-Commerce ท่านก็ต้องคิดหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขั้นตอนหรือกระบวนการตั้งแต่ผลิตจนถึงมือของลูกค้า โดยมูลค่าเพิ่มที่เกิดกับขั้นตอนหรือกระบวนการดังกล่าวนั้น ต้องเป็นมูลค่าเพิ่มที่ท่านสามารถสร้างรายได้ให้กับท่านได้ อย่าพยายามจำกัดรูปแบบของธุรกิจของท่าน เช่น ต้องชำระด้วยบัตรเครดิต หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้คิดว่าโดยมีจุดมุ่งหมายคือ การที่ลูกค้ายินดีรับสินค้าและบริการของท่านแล้วจ่ายเงินที่สามารถทำให้ท่านมีกำไรโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณธรรม และถูกกฏหมาย

เบื้องหลังระบบเครือข่าย คือ Cloud Computing และ Ubiquitous Network

ซึ่งถือว่าโชคดีที่ประเทศไทยกำลังมีความพร้อมในทุกด้านกับรูปแบบของ E-Commerce ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ข้างต้น การเติบโตของ E-Commerce ในต่างประเทศนั้น ไปกับความเร็วของระบบเครือข่าย และศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลของผู้ให้บริการ

ซึ่งเดิมนั้นบ้านเรายังติดปัญหาที่ไม่สามารถเปิดประมูลได้ แต่เราก็กำลังเดินหน้ามุ่งที่จะเปิดให้บริการ Ultra Hi-Speed Internet และ Broadband Network ให้ได้ ทำให้นอกจากจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบการให้บริการเครือข่าย 3G กันแล้ว ยังจะมีการเปิดใบอนุญาต Wi-Max อีกด้วย

ซึ่งพอเราเริ่มมีโครงข่าย 3G หรือ Wi-Max เข้ามาก็จะเริ่มสามารถทำให้เกิดรูปแบบของการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ระบบเครือข่ายความเร็วสูงเกิดขึ้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน อาทิ

Ultra Realistic Communication

การสื่อสารแบบ VDO conference ทั้งใช้ในองค์กร ใช้กันในหมู่ครอบครัว ที่บ้านกับเพื่อนหรือญาติในที่ห่างไกลหรือต่างประเทศ หรือใช้กับการทำธุรกิจดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้าต้น

Real World Web

ตำแหน่งที่อยู่ของเรา ที่พักอาศัยของเรา ที่ทำงาน สถานที่สำคัญต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยว โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ รอบตัวเราทั้งหมดจะถูก plot บนแผนที่แบบเสมือนจริง คือ มีข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่ระบบแผนที่ซึ่งคลาดเคลื่อนที่ใช้กันเกลื่อนไปทั้งเมืองแบบปัจจุบัน นั่นหมายความว่า เราจะสามารถรู้ได้ว่า เรากำลังอยู่ที่ไหน เราจะไปตำแหน่งที่เราต้องการได้อย่างไร และตำแหน่งที่เราต้องการนั้นพร้อมให้บริการเราอยู่หรือไม่ ระหว่างทางจากตำแหน่งที่เราอยู่จนถึงตำแหน่งเป้าหมายเรามีอะไรอยู่บ้าง ฯลฯ เสมือนว่ามีตัวเรา และสิ่งที่อยู่รอบตัวเราอยู่ในระบบจริงๆ

Ubiquitous Sensor Device/Gadget

เขาบอกว่า บนโลกที่เราอยู่นี้ ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เรามักจะมีคอมพิวเตอร์อยู่รอบตัวเราเพียง 1 เครื่องที่ทำงานแบบ Active อยู่ แม้ว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์อยู่หลายเครื่องก็ตาม อย่างผู้เขียนมี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง Notebook 1 เครื่อง และมี Smartphone 1 เครื่อง แต่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งก็ยังใช้มันได้เครื่องเดียวอยู่ดี หรือไม่ก็ต้องสั่งให้มันทำงานทิ้งไว้ เช่น อีกเครื่องหนึ่งอาจจะเปิดภายนต์ไปด้วย แต่นั่นก็คือ ผู้เขียนต้องไปดำเนินการบางอย่างทิ้งไว้

แต่ด้วยระบบเครือข่ายความเร็วสุง และอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถเรียกว่า Ubiquitous Sensor ซึ่งหมายถึง อาจจะเป็นอุปกรณ์เดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แต่เพิ่ม sensor กับชิ้นส่วนของโทรศัพท์มือถือ เข้าไปทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเก็บข้อมูล หรือทำการตอบสนองกับเราได้

Ubiquitous Sensor Device/Gadget มีการใช้อย่างมากมายในประเทศที่เปิดให้บริการเครือข่ายระบบ 3G เรียกได้ว่า ติดกันทั้งประเทศ ใช้ตั้งแต่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ใช้กับระบบขนส่งมวลชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและภาคธุรกิจ ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำมาเสริมกับ Digital Map รุ่นใหม่ ก็จะทำให้เกิดข้อมูลเชิงพื้นที่ (Location Base) จำนวนมหาศาล แต่นั่นก็จะกลายเป็นปัญหาตามมาว่า เมื่อมีอยู่ทั่วไป และยังสามารถรับส่งข้อมูลจากระบบเครือข่ายได้ แล้วอะไรล่ะที่จะมาประมวลผลข้อมูลมหาศาลที่วิ่งไปวิ่งมาผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูง

Social Network ที่เติบโตมากกว่าเดิม

แน่นอนว่า ขนาดที่เรายังสื่อสารกันด้วยความเร็วบ้างไม่เร็วบ้างอย่างในปัจจุบัน แต่ความนิยมในบริการบน Internet ที่เรียกว่า Social Network ก็มีการใช้งานอย่างมากมาย ดังที่เราเห็น และหากว่าระบบเครือข่ายเร็วขึ้นแน่นอนว่า บริการแบบ Social Network สำหรับบ้านเราคงจะพัฒนาขึ้นไปอีกมาก และทำให้ชิวิตมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้นไปอีก

Cloud Computing

จากปัญหาข้างต้นที่ว่า หากมีการรับส่งข้อมูล หรือข้อมูลที่วิ่งไปวิ่งมาจากอุปกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งน่าจะมีอย่างมากกมายน่าจะก่อให้เกิดข้อมูลอย่างมาก เมื่อมีข้อมูลมหาศาลย่อมจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมวลผลที่มีศักยภาพรองรับได้อยู่ด้วย และด้วยความที่นอกจากมีข้อมูลมหาศาลแล้ว ยังต้องรองรับการเติบโตของข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลเหล่านั้นด้วย ซึ่งพอมีปริมาณมหาศาลแล้ว ก็ส่งผลต่อการวางแผนในการจัดการกับ Hardware และ Network ที่จะมารองรับ แต่การขยายหรือเพิ่มความเร็วในระบบเครือข่ายนั้นค่อนข้างจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่การเพิ่มศักยภาพในการประมวลผลให้มีความ Dynamic ด้วยนั้นค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งต้องถือว่า คำถามนี้ได้เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ ไล่ๆ กันทั่วโลก โดยเฉพาะกับผู้ให้บริการ Internet Service รายโหญ่ของโลก จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลแบบไม่จำกัด นั่นคือ Cloud Computing

ในส่วนของ Google นั้น เกิดปัญหาคล้ายกันเพียงแต่เกิดจากความนิยมในการใช้บริการของ Google ทั้ง Search Engine, Gmail, Google Doc, Google Map/ Google Earth ทำให้ระบบพื้นฐานของ Google ไม่สามารถรองรับกับปริมาณการใช้บริการอย่างมหาศาลได้

คุณลักษณะของความต้องการในการใช้บริการ Cloud Computing และเป็นคุณลักษณะของ Cloud Computing ด้วย นั่นคือ

• On-Demand Self-service บน Cloud Computing ระบบจะเป็นการให้บริการกับผู้ใช้ที่ไม่ต้องมีทักษะสูงนัก
• Ubiquitous Network Access เหมาะกับระบบที่ต้องการเข้าถึงได้จากทุกที่ ผ่านเครือข่าย Internet
• Location independent resource pooling ผู้ใช้บริการแทบจะรู้เลยว่า ระบบหรือเครื่องกลางอยู่ที่ใด
• Rapid Elastic มีความยืดหยุ่นสูง รองรับการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
• Pay per use มีการค้ดค่าใช้จ่ายตามที่ใช้จริง บางทีเรียกว่า Utility Computing คือ เราจ่ายค่าบริการ Cloud Computing เหมือนกับการใช้บริการไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และทางด่วน ที่เราจะชำระตามที่เราใช้จริง เราจะไม่จ่ายเมื่อเราไม่ได้ใช้

นอกจากคุณลักษณะข้างต้นแล้ว Cloud computing ยังมีรูปแบบในการให้บริการที่หลากหลาย นั่นคือ

• Cloud Infra เป็นการให้บริการเฉพาะ CPU, Memory, Storage, Network เหมือนที่ Amazon มีให้บริการ
• Cloud Platform เป็นการให้บริการกับนักพัฒนา เหมือนที่ Google ให้บริการผ่าน Hi5 นักพัฒนาไม่ต้องลงทุนหรือพัฒนาระบบใหญ่โต แต่มาใช้บริการบน Google App Engine แล้วพัฒนาบริการอย่างที่ตนเองชอบแล้วขายให้ได้
• Cloud Software เป็นการให้บริการ Software ชุดแบบที่เราต้องการ เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับการขายสินค้า, ซอฟต์แวร์สำหรับถ่ายทอดสัญญาณ VDO, ซอฟต์แวร์สำหรับทำบัญชี, ซอฟต์แวร์สำหรับงานบริหารงานบุคคล, ซอฟต์แวร์สำหรับการตลาด หรือการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ฯลฯ เรียกได้ว่า ท่านสามารถเปิดสำนักงานอยู่บน Internet ได้เลยทีเดียว

และบริการทั้งหมดสามารถนำมาประกอบกันเป็นระบบต่างๆ ข้างต้น ตามที่ท่านต้องการได้อีกด้วยไม่ว่าจะพ่วงเข้าไปกับระบบ Call Center, ระบบ Ware House Logistic ฯลฯ

Cloud Computing กับ E-Commerce

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้ Cloud Computing เข้ามาสนับสนุน E-Commerce นั้นอาจจะไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่า สามารถทำให้เกิดพลังในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ เพราะนั่นน่าจะเกิดหลังจากที่ธุรกิจได้พัฒนาเติบโตไปแล้ว หรือการมี Hi-Speed Network ที่ทำให้เกิดรูปแบบของUbiquitous Network ส่งผลให้เกิดการสื่อสารรูปแบบใหม่

แต่เป็นรูปแบบของระบบที่สามารถคิดค่าบริการแบบจ่ายจริง จ่ายเท่าที่ใช้บริการ (Pay Per Use) ซึ่งจากเดิมหากท่านต้องการเปิดบริการ E-commerce แบบที่ผู้เขียนนำเสนอ นั่นคือ ให้ผู้ซื้อเข้ามามีประสพการณ์กับการผลิตสินค้าและกระบวนการ หรือบริการเสริมต่างๆ ที่สร้างประสพการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้ รวมทั้งมีระบบสมัครสมาชิกเก็บเงินผ่านระบบเครือข่าย ทั้งหมดนี้ท่านคงจะต้องลงทุนเป็นล้าน หรือหลายล้าน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าลูกค้าจะชอบหรือไม่ หรือทำแล้วจะขายได้จริงไหม ที่สำคัญอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็มักจะเปลี่ยนแปลงเร็ว

แต่ด้วยรูปแบบของ Cloud computing จะทำให้ท่านสามารถทดลองให้บริการใดๆ ก็ตามที่นอกกรอบเดิมๆ สร้างความแตกต่างที่ลูกค้าคาดไม่ถึงมาก่อนได้โดยง่ายดาย โดยการจ่ายค่าบริการเป็นครั้งๆ ไป ก่อนจะเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ อีกทั้งในกรณีที่ท่านต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงท่านก็เพียงแจ้งต่อผู้ให้บริการ แต่หากเป็นแบบเดิมท่านต้องการคาดการณ์และวางแผนการลงทุนและเมื่อต้องการขยายก็ต้องลงทุนก้อนใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วต้องมานั่งคำนวนผลตอบแทนที่คืนกลับมาอีก

แต่ด้วยรูปแบบของ Cloud Computing ท่านได้โอกาสคิดและลองทำจริงเลย ทั้งหมดจ่ายเป็นค่าบริการ

ที่สำคัญท่านไม่ต้องรู้เรื่องทางด้านเทคนิคอะไรมากมายเลย เพียงด้วยสอบถามบริการจากผู้ให้บริการเท่านั้น

วันนี้ประเทศไทยก็มีการให้บริการ Cloud Computing อย่างสมบูรณ์แล้วโดย True Internet Data Center (True IDC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ True Corporation PLC. รวมทั้งเรายังมี Thailand Cloud Community โดย SIPA, Software Park, NECTEC, CP, True IDC, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โครงการ Thai Grid และองค์กรรวมไปถึงผู้ที่สนใจอีกมากมาย มารวมตัวกันเพื่อศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีของ Cloud computing และยังมีการตั้ง Cloud Computing ทั้งที่เป็น Open Source (โดยการสนับสนุนของ True IDC และ Microsoft (โดยการสนับสนุนของ Microsoft ประเทศไทย) ติดตั้งไว้ที่โครงการ Thai Grid และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งไว้สำหรับให้องค์กรใดๆ ที่สนใจพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนบริการเดิมมาให้บริการบน Cloud Computing ได้ หรือจะมาทดสอบการทำงานของบริการของท่านบน Cloud Computing ก็ได้ สามารถติดต่อได้ที่ www.thaigrid.or.th

สรุป

ด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่ประเทศไทยกำลังจะมีความพร้อมในการรองรับสนับสนุน E-Commerce รูปแบบใหม่ๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ซึ่งที่ดีกว่านั้นคือ ท่านสามารถทดลองแนวคิดหรือรูปแบบธุรกิจของท่านได้โดยง่าย

คำถามที่จะฝากกันไว้ก็คือ เมื่อมี Cloud Computing และ Ubiquitous Network เกิดขึ้นแล้ว รูปแบบของ E-Commerce ของท่านผู้อ่านในวันนี้จะเป็นอย่างไร.
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์