พึงระวัง "ของเล่น" บล็อกความคิดลูก!

พึงระวัง "ของเล่น" บล็อกความคิดลูก! เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญทางเทคโนโลยี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อะไรๆ สมัยนี้ได้กลายเป็นของไฮเทคไปหมด แม้แต่กระทั่งของเล่นสำหรับเด็ก หลายอย่างได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งบางครอบครัวเชื่อว่าของเล่นเหล่านี้ สามารถกระตุ้นสมองของลูกได้

หากแต่ในความเป็นจริง การปล่อยให้ลูกอยู่กับของเล่นดังกล่าวมากเกินไป ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของเด็กอาจถูกตีกรอบให้แคบลงได้

ในเรื่องนี้ เคยมีรายงานการศึกษาของ ปีเตอร์ สมิท ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาของโกลด์สมิทส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน และนักโภชนาการ ราเชล บิกกินส์ ออกมาเตือนว่า ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า สามารถครอบงำสมองเด็กได้ เพราะเด็กตอบโต้กับสถานการณ์ที่สร้างขึ้นโดยคนอื่น มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ทำให้โอกาสในการคิดค้นการละเล่นของตัวเองลดลง ซึ่งเท่ากับว่าความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการถูกตีกรอบให้แคบลงนั่นเอง

สอดรับกับบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ที่เคยให้ไว้กับทีมงานในประเด็นเดียวกันนี้ว่า พ่อแม่บางคนที่ปล่อยให้ลูกเล่นแต่ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ หรือเกม เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกข้ามขั้นของพัฒนาการตามวัยที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เด็กโตขึ้นไม่มีภาพความคิด และพื้นฐานข้อมูลในทักษะต่างๆ เพื่อประยุกต์เข้ากับสิ่งรอบตัว นอกจากนั้นยังทำให้เด็กสมาธิสั้นได้อีกด้วย

ด้าน แคทลียา พิรุณเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และการขาย บริษัทวันเดอรเวิล์ด โปรดัคส์ ผู้ผลิต และจำหน่ายของเล่นไม้เสริมพัฒนาการเด็ก ให้ความเห็นตรงกันว่า รูปแบบของเล่นในตลาดมีความหลากหลาย และถูกผลิตให้มีความไฮเทค จนกลายเป็นของเล่นสำเร็จรูปมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เด็กไม่ได้เล่นอย่างอิสระ เพราะของเล่นดังกล่าว ไม่ได้ทำให้เด็กได้คิดต่อ เนื่องจากถูกตั้งโปรแกรมการเล่นไว้หมดแล้ว
(แคทลียา พิรุณเกียรติ ) ดังนั้น ในฐานะที่เธอเป็นตัวแทนผู้ผลิตของเล่นเด็ก และต้องทำงานร่วมกับจิตแพทย์ และกุมารแพทย์ในการผลิตของเล่น การเลือกของเล่นให้กับลูก เธอให้แนวทางพ่อแม่ว่า ต้องดูที่ความปลอดภัย และเลือกให้เหมาะสมตามวัยของลูก โดยดูที่ข้างกล่องของเล่น ที่สำคัญควรเน้นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ไม่บล็อกความคิดเด็กเหมือนกับของเล่นไฮเทค หรือของเล่นอิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง

อย่างไรก็ดี ของเล่นประเภทไม้ ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดีในการเล่นของลูก สอดรับกับผลวิจัยหลายๆ ชิ้นที่บอกว่า ของเล่นไม้ ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ไม่บล็อกความคิดเด็ก อีกทั้งเป็นตัวฝึกกล้ามเนื้อมือ และให้ความรู้สึก และอารมณ์ด้านบวกกับเด็กได้เป็นอย่างดี เช่น ความอ่อนโยน เพราะเป็นวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ

"พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า การเล่นของลูก ต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยเฉพาะเด็ก ถ้าให้ลูกได้เล่นของเล่นที่เหมาะสมกับวัย โดยไม่มีการตั้งโปรแกรมให้มากเกินไป เด็กก็จะมีอิสระในการเล่น และการคิด เช่น ตัวต่อไม้ที่เด็กจะต่อเป็นอะไรก็ได้ ต่างกับของเล่นสำเร็จรูปบางอย่าง เด็กจะเล่นในขอบเขตที่จำกัด เพราะถูกตั้งโปรแกรมให้เล่นได้แค่นั้น ทำให้เด็กไม่ได้ใช้ความพยายาม หรือใช้ความคิดต่อว่า ควรจะเล่นแบบไหนได้อีก หรือควรจะสร้างเรื่องราวอย่างไรจากของเล่นชิ้นดังกล่าว ซึ่งพ่อแม่ต้องเลือกให้เป็น เพื่อให้ตัวเลือก และตัวช่วยอย่างของเล่นเข้ามาเสริมพัฒนาการ และจินตนาการของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ตัวแทนผู้ส่งออกของเล่นรายนี้เผย

ทั้งนี้ เธอได้ฝากเพิ่มเติมว่า ของเล่นบางชนิดเด็กสามารถเล่น และเรียนรู้เองได้ ในขณะที่บางอย่าง เด็กต้องเข้าใจกลไกการเล่นด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะของเล่นจะผลิตออกมาโดยมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นไกด์คอยสอนวิธีการเล่นให้ลูก

"การให้ลูกเล่นของเล่น ไม่ใช่เป็นการเสียเวลา แต่เป็นสิ่งคุ้มค่าที่เด็กๆ จะได้เล่นตามธรรมชาติของเด็ก ดังนั้นไม่ควรเน้นให้ลูกเรียน หรืออยู่กับตำราเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ และเหมาะกับวัย เพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีศักยภาพ และมีทักษะรอบด้าน" ตัวแทนผู้ส่งออกของเล่นรายนี้ให้แนวทาง

ฉะนั้น แทนที่จะปล่อยให้ลูกเล่นของเล่นคนเดียว พ่อแม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกด้วย เพื่อให้เกิดการเล่นที่เข้าใจ เป็นการเชื่อมสายใยรักในครอบครัวที่ดี แต่การเข้าไปเล่นกับลูกนั้น พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เล่น และคิดอย่างอิสระ เพื่อให้ลูกได้ใช้ความพยายาม และความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ไปบล็อกความคิดในการเล่นของลูก

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ที่มา