
การค้นพบนี้เผยแพร่โดยอเมริกัน ไซโคโลจิคัล แอสโซซิเอชัน โดยนักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐอเมริกาได้ทำการสแกนสมองคุณแม่หลังคลอดจำนวน 19 คน ในระยะเวลาประมาณ 3 - 4 เดือนหลังคลอด ผลการสแกนแสดงให้เห็นว่าปริมาณเกรย์แมตเทอร์ หรือเซลลส์สมองที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล มีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมักเกิดขึ้นหลังช่วงเวลาที่มีการเรียนรู้อย่างเข้มข้น หรือสมองได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเท่านั้น
ส่วนของสมองที่มีการเติบโตนี้มีความเกี่ยวข้องกับแรงบันดาลใจ การใช้เหตุผล การใช้วิจารณญาณ การประมวลผลอารมณ์และความรู้สึกของความพึงพอใจ และเป็นส่วนสำคัญต่อสัมพันธภาพระหว่างแม่-ลูก
นักวิจัยอธิบายว่า การขยายตัวของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงบันดาลใจนี้ อาจนำไปสู่การดูแลทารกที่ดีขึ้น และมันจะช่วยให้ทารกอยู่รอดโดยมีพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา โดยเฉพาะบรรดาคุณแม่ที่เห่อลูกนั้นมีแนวโน้มว่าสมองส่วนดังกล่าวจะเติบโตมากที่สุด
ไซโอฟาน ฟรีการ์ด ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เน็ตมัมส์ กล่าวว่า ธรรมชาติมีวิธีการอันน่าพิศวงในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เสมอ เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น
“การมีลูกเป็นโอกาสพิเศษ จึงไม่น่าแปลกใจที่สมองจะมีพลังเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่นี้ได้นั่นเอง”
ผลการศึกษาจากเยลยังเป็นการตอกย้ำงานวิจัยจากออสเตรเลียที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น ศาสตราจารย์เฮเลน คริสเตนเซน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติในแคนเบอร์รา เผยว่ากลุ่มตัวอย่างผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแบบทดสอบความจำ และตรรกวิทยาได้คะแนนดีไม่แพ้ช่วงที่พวกเธอยังอายุไม่มากนัก
เรียบเรียงจากเดลิเมล