“รูปแบบการเล่น” สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้

“เด็กกับของเล่นเป็นของคู่กัน”

“การเล่นคืองานของเด็ก”

ประโยคในท่วงทำนองนี้มักได้ยินเสมอมาตั้งแต่เด็ก

ที่จริงแล้วเรื่องของเล่น หรือการเล่นเ เป็นเรื่องสำคัญของเด็กที่คนเป็นพ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะรูปแบบการเล่นของลูก ส่งผลต่อการเติบโตของลูกทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว

ประโยชน์จากการเล่นเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้นก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่า “รูปแบบการเล่น” ของลูกก็บอกนิสัย และมีส่วนต่อการหล่อหลอมให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนอีกด้วย

ก่อนอื่นเริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัยว่าเป็นอย่างไร แล้วควรจะส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็มีข้อมูลความรู้มากมายในเรื่องนี้

แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากความรู้เรื่องการเล่นกับพัฒนาการตามวัยแล้ว ควรจะเน้นถึงเรื่องการส่งเสริมทักษะชีวิตของลูกผ่านการเล่นด้วย

เริ่มจากเมื่อเด็กเริ่มเลือกของเล่นตามความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณ 3 ขวบ วัยนี้เริ่มเข้าใจเรื่องเพศว่าใครเป็นเพศชายและใครเป็นเพศหญิง แต่ยังไม่ถึงกับแบ่งแยกเพศชัดเจน เพียงแต่รูปแบบการเล่นเริ่มสนใจตามลักษณะของเพศ โดยธรรมชาติเด็กผู้ชายจะชอบเล่นของเล่นจำพวกเครื่องมือช่าง รถยนต์ หรือหุ่นยนต์ ส่วนเด็กผู้หญิง ก็จะเลือกของเล่นตุ๊กตา หม้อข้าวหม้อแกง ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกไปเลือกเล่นของเล่นของเพศตรงข้าม แล้วจะหมายความว่าลูกอาจจะสับสนเรื่องเพศ ในความเป็นจริงเด็กก็สามารถเล่นของเล่นร่วมกันได้อยู่แล้วไม่ว่าของเล่นนั้นจะเป็นอย่างไร เพียงแต่รูปแบบการเล่น หรือลักษณะการเล่นจะสะท้อน และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้วย

ที่สำคัญคนเป็นพ่อแม่ควรจะมีส่วนต่อการเล่นของลูก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม เพราะลูกจะได้รับสิ่งที่นอกเหนือจากความสนุกสนานด้วย ไมว่าจะเป็นความรัก ความอบอุ่น และความมั่นคงทางจิตใจ

ของเล่นที่สำคัญที่สุดคือได้เล่นกับพ่อแม่ ค่านิยมที่เข้าใจว่า การเล่นเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น เป็นเรื่องที่ผิด เพราะผู้ใหญ่ก็สามารถเล่นได้ และการเล่นของผู้ใหญ่จะไปช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้กับลูกต่อไปได้ด้วย เพราะขณะที่กำลังเล่นกัน พ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องราวดีๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้กับลูกได้มากมาย

ยกตัวอย่าง เมื่อคุณเล่นแต่งตัวให้ตุ๊กตากับลูกสาว ก็สามารถสอนลูกในเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสม ถ้าไปวัดเราควรจะแต่งตัวอย่างไร ถ้าไปเที่ยวชายทะเลควรจะแต่งตัวอย่างไร และการแต่งตัวที่เหมาะสมกับวัยควรแต่งตัวอย่างไร ทำไมต้องคำนึงถึงกาลเทศะ โดยเราสามารถสอดแทรกเรื่องการแต่งกายแบบไหนที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย

หรือการเล่นตุ๊กตาก็สามารถสร้างบทบาทสมมติเพื่อให้ลูกได้ใช้จินตนาการในการสร้างเรื่อง โดยมีพ่อแม่ หรือใครในครอบครัวเป็นผู้เล่นร่วม และเดินเรื่องตามใจชอบ โดยพ่อแม่ต้องพยายามสมมติสถานการณ์เพื่อให้ลูกคิด หรือแก้ปัญหาระหว่างเรื่องราวด้วย

ถ้าเป็นลูกชาย อาจเป็นการเล่นเครื่องมือช่าง ก็สามารถสอดแทรกเรื่องของจริงไปด้วย เช่น ถ้ามีข้าวของเสียหายที่สามารถซ่อมแซมเองภายในบ้านก็สามารถทำเองได้ อาจจะทำให้เห็นจากสถานการณ์จริงก็ได้ โดยสอดแทรกเรื่องความปลอดภัยเข้าไปด้วย เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ ก็ต้องปิดสวิทต์ไฟให้เรียบร้อยก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายได้

หรือแม้แต่การเล่นที่ต้องสร้างสรรค์ หรือประดิษฐ์เป็นงานศิลปะ ก็เป็นการส่งเสริมเรื่องจินตนาการให้กับลูกได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์

รวมไปถึงของเล่นที่มีทั้งปลายปิดและปลายเปิด แบบปลายปิดก็คือ ของเล่นที่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว เช่น โดมิโน หรือจิกซอว์ ส่วนของเล่นแบบปลายเปิดก็คือแบบที่ใช้จินตนาการของตนเอง เช่น การต่อบล็อกเป็นรูปต่างๆ ตามความต้องการของเด็ก

ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กอัจฉริยภาพ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยกล่าวไว้ว่า เด็กจะเล่นตามความถนัด และเด็กจะเล่นจากการถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้เราสามารถมองเห็นและวัดแววอัจฉริยะของลูกได้โดยดูจากของที่เขาเล่นและสนใจนั่นเอง แต่เสียดายที่เด็กสมัยนี้ถูกปล่อยให้เล่นไปตามเรื่องตามราว โดยพ่อแม่ไม่ได้สังเกตแววความสนใจของลูก ทั้งที่ช่วงอายุ 0-8 ขวบนั้น ถือเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการพัฒนาการ

“พ่อแม่จะเลือกสร้างกระต๊อบหรือสร้างคฤหาสน์ก็อยู่ที่ช่วงนี้ ถ้าพ่อแม่ต้องการสร้างลูกให้โตไปแบบกระต๊อบ ก็ไม่ต้องใส่ใจ ให้ลูกเล่นเองก็ไม่ต้องส่งเสริมพัฒนาการอะไรมาก”

ฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยช่วงเวลาทองของลูกให้ผ่านเลยไป โดยที่พ่อแม่ไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย และไม่ได้กำหนดรูปแบบในการเล่นให้กับลูก

แท้จริงแล้วเรื่องราวอื่นๆ ที่ต้องการสอดแทรกและปลูกฝัง ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต พฤติกรรม รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตอื่นๆ ก็สามารถส่งเสริมทักษะการเล่นให้กลายเป็นทักษะชีวิตที่ดีในอนาคตได้ด้วย

เห็นไหมคะ…เรื่องเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เรื่องเล่นจะกลายเป็นการสร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้อย่างน่าทึ่ง
“รูปแบบการเล่น” สร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์