คุยกับ 2 กูรูศิลปะ 'ชลิต-ปิ๊บ' แนะใช้ศิลปะขัดเกลาจิตใจลูก

คุยกับ 2 กูรูศิลปะ 'ชลิต-ปิ๊บ' แนะใช้ศิลปะขัดเกลาจิตใจลูก
หากพูดถึงศิลปะ ไม่เพียงแต่จะเป็นกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจแล้ว ศิลปะยังให้คุณค่าพิเศษ ที่จะช่วยส่งเสริมสติปัญญา และจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ถ้าลูกมีกิจกรรมศิลปะเสริมเข้ามานอกเหนือจากวิชาการ เช่น วาดภาพ ละเลงสี ปั้น ฉีกตัดปะ กระดาษ หรือการประดิษฐ์เศษวัสดุ ก็จะยิ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิด ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และช่วยพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคมของเด็กได้เป็นอย่างดี สามารถประยุกต์การเรียนรู้ร่วมกับศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้เข้าใจ และลึกซึ้ง

เพื่อให้สอดรับกับประโยชน์ของศิลปะข้างต้น ทีมงาน Life and Family ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 กูรูด้านศิลปะ "ชลิต นาคพะวัน" ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ และ "ปิ๊บ-รวิชญ์ เทิดวงส์" คุณพ่อหัวใจศิลปะ ที่ใช้ศิลปะในการเลี้ยงลูก ถึงมุมมองความสำคัญของศิลปะกับเด็ก ซึ่งได้สะท้อนไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมกันนี้ ยังได้ฝากแง่คิดให้กับพ่อแม่ยุคใหม่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงลูกอีกด้วย

*** 'ศิลปะ' สื่อขัดเกลาจิตใจเด็กให้งดงาม

"ชลิต นาคพะวัน" กล่าวถึงความสำคัญของศิลปะกับเด็กว่า เด็กเป็นศิลปินโดยสัญชาตญาณ สามารถซึมซับได้ตั้งแต่อยู่ครรภ์ ศิลปะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ สมาธิของเด็ก ซึ่งถ้าปราศจากสิ่งนี้ เด็กก็จะกระด้าง และไม่อ่อนโยน จิตใจไม่ละเอียดอ่อน ส่งผลให้ไร้ซึ่งความเมตตา เห็นใจ และเกื้อกูลกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง

เห็นได้จากศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักเขียน หรือนักแต่งเพลง ถ้าไม่มีความละเอียดอ่อน ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดี และเข้าถึงอารมณ์ของผู้รับได้ ไม่เพียงแต่ศิลปะจะช่วยพัฒนาอารมณ์ และสมาธิแล้ว เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมากับศิลปะ หรือพ่อแม่ที่หยิบยื่นกิจกรรมทางศิลปะให้กับเด็กตั้งแต่เล็ก โตขึ้นจะเป็นคนมีรสนิยมที่ดี สามารถเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้ นำไปสู่การใช้ชีวิตเป็น ส่งผลให้สงคราม และความขัดแย้งเกิดขึ้นน้อย เพราะทุกคนเห็นความงามที่เกิดจากการมีศิลปะอยู่ในหัวใจ ทำให้มีจิตใจที่ดีงามตามไปด้วย

"สมัยนี้ศิลปะกับเด็กมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เลี้ยงกันแบบตามมีตามเกิด นั่นเพราะอาจยังไม่เข้าใจว่า ศิลปะคืออะไร แต่จริงๆ แล้วศิลปะมันอยู่รอบตัวเรา ศิลปะมันคือความหลากหลาย ที่รวมไปถึง เพลง ดนตรี หนังสือ ที่พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการหยิบยื่น หรือผลักดันความคิดสร้างสรรค์ของลูกออกมาได้ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หาอุปกรณ์วาดเขียนมาให้ พร้อมกับให้กำลังใจ และชื่นชมลูกอย่างมีขอบเขต" กูรูชลิตเผย

*** ศิลปะกับการเลี้ยงลูก***
มาฟังเสียงของ "ปิ๊บ-รวิชญ์ เทิดวงส์" คุณพ่อนักศิลปะ ที่สะท้อนแง่มุมในประเด็นเดียวกันว่า ศิลปะช่วยเด็กได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละแขนงจะให้ทักษะที่ต่างกัน แต่ในความเป็นศิลปะทั้งหมด ศิลปะจะลับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้คมอยู่ตลอดเวลา ช่วยในเรื่องของสมาธิ เพราะการที่เด็กจะทำอะไรจาก 1 2 3 4 จะต้องมีสมาธิเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย รวมไปถึงความมั่นใจที่จะสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เพราะยิ่งทำแล้วมีพ่อแม่คอยชม เด็กก็ยิ่งจะมั่นใจ และภูมิใจในตัวเอง ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ ศิลปะช่วยพัฒนาได้จริง

"อยู่ที่บ้านผมใช้ศิลปะเลี้ยงลูกอยู่แล้ว เวลาผมวาดรูปงาน ลูกก็จะมาเล่นหลอดสี จับพู่กันนั่งวาดภาพอยู่ข้างๆ ผมด้วย ซึ่งผมจะมีเฟรมเล็กๆ ไว้ให้ลูกได้วาดภาพในส่วนของเขา ผลที่เห็นคือ ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น รวมทั้งกิจกรรมตรงนี้ ผมกับลูก มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะถ้าลูกต้องการวาดภาพ ก็จะเรียกผมไปวาดกับเขาด้วย อย่างไรก็ดี บางคนคิดว่า ศิลปะคือการละเลงสีแบบใดก็ได้ แต่สำหรับเด็กแล้ว การฝึกให้วาดภาพในกรอบ ถือเป็นการฝึกลูกให้รู้จักการควบคุมมือ และสีให้เป็น"

คุณพ่อปิ๊บ บอกต่ออีกว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องวาดภาพอย่างเดียว แต่ศิลปะอาจรวมไปถึงการปั้นดิน ตัดแปะก็ได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องให้เวลา และหมั่นทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ยอมรับว่าพ่อแม่บางคนทำไม่เป็น แต่การมีลูก ควรจะเรียนรู้ และค่อยๆ พัฒนาร่วมกันกับลูก

ทั้งนี้ โดยธรรมชาติของเด็กเล็กวัย 2-2 ขวบครึ่ง มักจะชอบเล่น เคลื่อนไหว ซุกซนตามวัย มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งชอบวิ่งเล่นไปมารอบห้อง ไม่รู้จักรอคอย ศิลปะสามารถนำมาใช้ปรับพฤติกรรม เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่นิ่ง และสงบมากขึ้น สามารถเรียนรู้การรับฟังและปฏิบัติตามกติกา และคำสั่งง่ายๆ จากพ่อแม่ หรือครูได้

เห็นได้จากงานวิจัยในชั้นเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง "การใช้งานศิลปะเพื่อปรับพฤติกรรมในการฟังและปฏิบัติตามคำสั่งง่ายๆ" ซึ่งครูได้คิดงานศิลปะทั้งหมด 4 รูปแบบ ใช้ระยะเวลา 4 สัปดาห์ (จัดกิจกรรมวันเว้นวัน มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน) โดยเริ่มต้นจากสัปดาห์ที่ 1 ขีดเขียนภาพด้วยสีเทียน สัปดาห์ที่ 2 พิมพ์ภาพโดยใช้อวัยวะของร่างกาย สัปดาห์ที่ 3 พิมพ์ภาพด้วยวัสดุเหลือใช้ และสัปดาห์ที่ 4 บีบกาวสี ให้เป็นภาพ พร้อมทั้งชี้แนะ และขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการนำไปฝึกต่อที่บ้าน

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ผลจากการสังเกตของครู พบว่า เด็กมีพฤติกรรมการรับฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งดีขึ้นตามลำดับ (และจะให้ความสนใจในศิลปะประเภทสีน้ำ ซึ่งอาศัยการพิมพ์ภาพเป็นพิเศษ) มีการแสดงออกด้วยการขอคุณคุณครูทำก่อน รวมไปถึงทำตามกติกาที่ครูกำหนดไว้ได้ เมื่อตนเองทำเสร็จแล้ว มักจะขออนุญาตครูดูเพื่อนทำงาน นอกจากนี้ ศิลปะยังทำให้เด็กรู้จักการช่วยเหลือเพื่อนที่ยังไม่เสร็จ หรือบางครั้งเอื้อมมือจับเพื่อนให้ทำตามแบบตนเอง

*** จูงลูกเข้าพิพิธภัณฑ์ ต่อยอดความคิดลูก

กับเรื่องนี้ ครูชลิตบอกว่า เด็กไทยสมัยใหม่ ห่างไหลจากพิพิธภัณฑ์มาก ขนาดเด็กมหาวิทยาลัยบางคน ยังไม่รู้จักหอศิลป์เลย ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ เกิดจากผู้ใหญ่ จะไปโทษเด็กไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่เคยพาลูกเข้าพิพิธภัณฑ์ หรือพาลูกเข้าใกล้ศิลปะ ส่วนใหญ่ที่เห็นมักจะพาลูกเข้าแต่ห้างสรรพสินค้า เน้นการบริโภคแต่วัตถุ มากกว่าการบริโภคคุณค่าทางจิตวิญญาณ

"ครูชลิต" กล่าวอีกว่า บ้านไหนที่ให้ลูกเล่นแต่เกม ควรกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน และเหมาะสม เช่น 1 วันควรเล่นแค่ไหน ไม่เช่นนั้น จะทำให้ลูกสายตาสั้น ไม่รู้จักสังคม ไม่ใส่ใจกับคนรอบข้าง หรือใช้ภาษาไม่เป็น ดังนั้นพ่อแม่จะต้องเป็นตัวช่วย ในการปรับสมดุลระหว่างเรื่องเรียน เล่น และศิลปะให้ลงตัว โดยเฉพาะศิลปะ ที่จะต้องให้ลูกได้สัมผัสบ้าง ขัดแย้งกับปัจจุบันที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยให้ลูกได้รู้จักกับประวัติศาสร์ศิลปะแขนงต่างๆ ทำให้เด็กไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ทำให้มีฐานการดำรงชีวิตไม่แข็งแรง เกิดการสะดุดในการต่อยอดทางความคิดในตอนโตได้

"พ่อแม่ควรให้ลูกรู้จักคุณค่าพิเศษในตัว เพราะถ้าสมมติว่าวันหนึ่ง จะต้องย้ายมนุษย์ไปอยู่ดาวอังคาร เขาจะเลือกใครไปบ้างรู้ป่ะ เขาก็จะเลือกศิลปิน สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีแต่คนที่มีความโดดเด่นทั้งนั้น แต่ถ้าใครไม่มีอะไรเลย ก็คงไม่ถูกเลือกไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังบอกก็คือ พ่อแม่ต้องให้เด็กรู้จักตัวเอง เพื่อที่จะดันจุดเด่นที่อยู่ในตัวลูกออกมา พร้อมกับสนุบสนุนอย่างเต็มที่" ครูชลิตฝากทิ้งท้ายถึงพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคน

ที่มา http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000004728