สอนลูกรู้จักรัก...เด็กจะผ่านวาเลนไทน์อย่างปลอดภัย

สอนลูกรู้จักรัก...เด็กจะผ่านวาเลนไทน์อย่างปลอดภัย
สังคมไทยยุคนี้มีคำเปรียบเปรยวันวาเลนไทน์ให้สถาบันครอบครัวแอบสะดุ้งกันไม่น้อยกับการยกให้วันดังกล่าวเป็นวันเสียตัวแห่งชาติ ซึ่งไม่ว่าพ่อแม่คนไหน ๆ ก็ต้องไม่อยากให้ลูกชาย - ลูกสาวของตนตกเป็นหนึ่งในผู้เสียหายของเทศกาลนี้เป็นแน่ แต่การจะสอนลูกให้รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อของค่านิยมรักอย่างฉาบฉวยนั้นก็เป็นเรื่องยากมิใช่น้อย เมื่อกระแสและสื่อต่าง ๆ สมัยนี้ต่างนำเสนอความรักในรูปแบบดังกล่าวให้เห็นจนชินตา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จึงได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ปกครองยุคใหม่เกี่ยวกับการปลูกฝังทัศนคติ และการทำความรู้จัก "ความรัก" ผ่านเทศกาลดังกล่าวว่า

"ต้องบอกว่าเด็กในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เทศกาลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสีสันของเขา เช่นวันคริสต์มาส วันปีใหม่ เด็กก็จะรู้สึกว่า ตัวเองจะได้ไปเที่ยว จะได้การ์ดสวย ๆ ได้ของขวัญ หรือได้ไปกราบคุณย่าคุณยาย วันวาเลนไทน์ก็เช่นกัน หากพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกรู้จักกับวันวาเลนไทน์ในด้านของความรักได้ตั้งแต่เด็ก จะเป็นผลดีกับลูกมากกว่ามาสอนเขาตอนวัยรุ่น โดยอาจจะเริ่มต้นจากการตื่นแต่เช้า ก็เข้าไปกอดลูก หรืออาจถามคำถามให้เขาได้คิด ว่านิยามความรักของลูกคืออะไร และลูกจะแสดงออกถึงความรักได้อย่างไรบ้าง"

"แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาอีกนิด เริ่มวัยรุ่น - สนใจเพศตรงข้าม พ่อแม่ก็สามารถสอนเขาเกี่ยวกับความรักในวันวาเลนไทน์ผ่านการคุยเล่น ๆ สนุก ๆ ในครอบครัวได้เช่นกัน โดยต้องสอนให้เขารู้จักรักตนเองให้เป็นก่อน รักตัวเองต้องทำอย่างไร ก็เริ่มจากการรักษาสุขภาพ ทานอาหารที่ดี ให้ลูกได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง เมื่อเด็กรู้จักรักตนเอง เขาจะไม่ใช้วิธีทุ่มเทเงินทอง สิ่งของ หรือตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักตอบจากเพศตรงข้ามอีกต่อไป"

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ดร.จิตราได้กล่าวถึงปัญหาใหญ่ที่เด็กไทยประสบอยู่ นั่นก็คือ การขาดความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
"ความรักแบบฉาบฉวยที่เกิดเป็นปัญหาของเด็กในยุคนี้ เกิดจากเด็กไม่ได้รับความอบอุ่น โหยหาความรัก-การโอบกอดจากพ่อแม่ เมื่อโตขึ้น มีคนผ่านเข้ามา และทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า เป็นคนที่ถูกหมายปอง เด็กก็พร้อมจะยอมมีความสัมพันธ์ด้วย ผู้ปกครองสามารถยับยั้งความรู้สึกนี้ได้ คือต้องทำให้เด็กรู้สึกว่า เขามีค่า และรักตัวเองเป็น"

หมัดเด็ดพ่อแม่....เตรียมไว้สอนลูก

ในโอกาสนี้ ดร.จิตรายังได้ฝากประโยคเด็ด ๆ สำหรับกระตุกใจลูกให้มีสติ และนึกถึงความรักตามวิถีที่ควรจะเป็นมาถึงพ่อแม่ด้วยดังนี้ค่ะ

"รักต้องสามารถอดทนรอคอยต่อความอยากในตอนนี้เพื่ออนาคตได้"

หรือก็คือการอดทนต่อความอยาก แนวคิดดังกล่าวนี้ หากได้รับการปลูกฝังในเด็กจะช่วยให้การมีคบหาดูใจกันของเด็กเสียหายน้อยที่สุด และเป็นวิธีพิสูจน์รักแท้ของชาย-หญิงได้เป็นอย่างดี ถ้าเด็กเริ่มเห็นกระบวนการตรงนี้ เด็กจะไม่ไวไฟ ไม่ใช่ถูกอกถูกใจกันปุ๊บไปมีเพศสัมพันธ์กันเลย ต้องมีกิจกรรมเรียนรู้ความรักซึ่งกันและกันก่อน

"ราคา และราคะไม่ใช่ความรัก"

การตีค่าความรักด้วยราคาและราคะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคทุนนิยม ทั้งจากสื่อภาพยนตร์ ละครทีวี ที่พอพระนางเจอหน้ากันปุ๊บก็จูบกันทันที หรือซื้อของขวัญราคาแพงให้แก่กัน หากเด็กมองความรักเป็นแบบนี้ ก็เท่ากับเป็นการตีความรักเป็น "ราคะ - ราคา" กลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีแต่ความใคร่ หรือปรุงแต่งเพียงรูปโฉมภายนอกเพื่อให้เป็นที่ต้องตาต้องใจ

"คำว่ารักใคร่ของคนโบราณเป็นอีกคำที่ใช้ภาษาสวย ต้องรักก่อนแล้วความใคร่จึงตามมา นิยามความรักคือการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปของกันและกัน ต้องเริ่มจากนิสัยใจคอซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมจิตใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนตัวกันค่ะ" ดร.จิตรากล่าวทิ้งท้าย

ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์/http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000018782