เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็น "เด็กแก่แดด"

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็น "เด็กแก่แดด"
ปัจจุบัน ภาพของเด็กชายหญิงอายุยังน้อย แต่มีพฤติกรรมและการแสดงออกเกินวัยอย่างไม่เหมาะสม ทั้งการแต่งตัว แต่งหน้า และการใช้คำพูด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอสมควร ที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของเด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กแก่แดดในสายตาของผู้ใหญ่มากขึ้น พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กับกรณีดังกล่าวข้างต้น "พญ.สินดี จำเริญนุสิต" กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เด็กที่มีพฤติกรรมและการแสดงออกที่โตกว่าวัย จนบางครั้งอาจดูไม่เหมาะสมและถูกมองว่าเป็นเด็กแก่แดด แก่ลมนั้น เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ

1. เด็กมีร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เนื่องจากบางคนเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว เช่น มีเต้านมหรืออวัยวะเพศมีขนาดใหญ่ก่อน 9 ขวบ โอกาสที่จะโตเกินวัยย่อมมีได้สูง ซึ่งอาจจะต้องพบกุมารแพทย์ เพื่อปรึกษาและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

2. เด็กที่มีร่างกายปกติ ดูฉลาด แต่ถูกสนับสนุนไม่ถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นครูหรือพ่อแม่ ที่เห็นว่าลูกเรียนรู้เร็ว มักจะสนับสนุนเด็ก จนรู้สึกว่าตัวเขาเองเก่งและเป็นผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เด็กเองยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ

3. เด็กที่ตกเป็นเครื่องมือของสิ่งแวดล้อม-สื่อ ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาใน 2 แบบแรก แต่เกิดการเลียนแบบพฤติกรรม คำพูด และการแต่งกายจากสิ่งแวดล้อมหรือสื่อต่างๆ กอปรกับมีพ่อแม่คอยสนับสนุนให้กล้าเกินวัย ทั้งการแต่งหน้า แต่งตัว หรือการพูดจา ส่งผลให้การแสดงออกไม่สัมพันธ์กับช่วงวัยและสติปัญญาเท่าที่ควร ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะโตเกินกว่าวัยได้สูงเช่นกัน

จากสาเหตุหลักทั้ง 3 ข้อนี้ คุณหมอบอกว่า กลุ่มที่พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือกลุ่มเด็กที่มีวัยและสติปัญญาไม่สอดรับกับการแสดงออก เกิดจากคนรอบข้างหรือสังคมปฏิบัติต่อเด็กเหมือนเด็กโต ทั้งๆ ที่ตัวเด็กเองยังไม่พร้อม ทำให้เมื่อเข้าสังคมในเด็กที่โตกว่า เด็กกลุ่มนี้จะถูกหลอกและถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ดีได้ง่าย

"ปัญหาที่เจอ ส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่ไม่รู้และไม่เข้าใจพัฒนาการของลูก ซึ่งบางครั้งลูกทำอะไรเกินเด็กหรือทำได้ดีกว่าเพื่อน ก็ชมว่าลูกฉันเก่ง หรือลูกฉันดี โดยที่ตัวเด็กเองไม่รู้ว่า เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งตรงนั้นแล้วหรือยัง เห็นได้ชัดคือ ถ้าลูกหน้าตาดีหน่อย พ่อแม่ก็มักจะพาลูกเข้าวงการ หรือไปทำงานกับผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเรียนรู้เร็วเกินไป และเห็นสังคมที่เกินวัย"
"สื่อ" ตัวการสร้างภาพให้เด็กแก่แดด

นอกจากนี้ ตัวสื่อถือเป็นตัวการสำคัญ ที่สะท้อนภาพให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย เช่น การแต่งกายวาบหวิว หรือการใช้คำพูดที่ก้าวร้าว ทำให้เด็กจดจำภาพและคำพูดจากสื่อ เช่น ในละคร แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่สังคมทำกัน บวกกับพ่อแม่ไม่ได้ชี้แนะ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องตลก เด็กจึงเลียนแบบและแสดงพฤติกรรม โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของตัวเอง กลายเป็นเด็กแก่แดดในสายตาของผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็เป็นได้

"สื่อต่างๆ เป็นตัวการหลักที่ทำให้เด็กลอกเลียนแบบ จนนำไปสู่การกล้าเกินวัย เนื่องจากคิดว่า ทำแล้วดูเด่น มีคนสนใจมาก เมื่อเด็กคิดและเข้าใจแบบนี้ ถ้าไม่มีตัวฉุดหรือเปลี่ยนทัศนคติของเขาอย่างถูกต้อง เด็กก็จะยิ่งแสดงพฤติกรรมที่กล้าเกินวัยในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นเด็กแก่แดดในสายตาของคนอื่นมากขึ้น แต่ถ้ากล้าในสิ่งที่เหมาะสม เช่น กล้าเป็นหัวหน้าห้อง หรือกล้าที่จะแสดงบนเวทีในที่สาธารณะ และอยู่ในขอบเขตของวัย ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสนับสนุน" คุณหมอกล่าว

"แก่แดด" พ่อแม่แก้ได้

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาดังกล่าว คุณหมอแนะว่า "คุณพ่อ คุณแม่ควรมีเวลาให้ลูก และเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้คุย หรือแสดงความคิดเห็น เนื่องจากบางครั้ง พ่อแม่บางคนอาจจะเผลอตัดสินใจแทนลูกโดยไม่รู้ตัว คิดว่า สิ่งที่ทำให้ลูกคือการเข้าใจลูกแล้ว ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะกรณีเด็กโต อาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านได้

นอกจากนี้ ตัวพ่อแม่เอง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ทำให้ลูกเห็น สิ่งไหนไม่ดี ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป แต่ต้องรีบชี้แนะหรืออธิบายให้ลูกเห็นถึงความเหมาะสมและความไม่เหมาะสม เช่น บอกลูกให้เข้าใจว่า สิ่งนี้สามารถทำได้ในจอทีวี แต่ในชีวิตจริงไม่สามารถนำมาใช้พูดหรือแสดงพฤติกรรมกับคนอื่นได้"

คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า "พ่อแม่คือตัวช่วยสำคัญของลูก ซึ่งลูกจะมีพฤติกรรมอย่างไร ขึ้นอยู่การหล่อหลอมของพ่อแม่ ถ้าสนับสนุนลูกในทางที่ผิด เช่น ลูกกล้าพูด กล้าสู้เกินวัย คือเด็กเก่ง เห็นได้จากบ้านที่มีลูกเล็ก ที่บางครั้งอาจจำคำพูดที่ไม่เหมาะสมมาจากสิ่งรอบตัว และนำไปใช้พูดกับผู้ใหญ่ แต่พ่อแม่กลับไม่สอน และเห็นเป็นเรื่องตลก น่ารัก ตรงนี้อาจเป็นแรงเสริมให้เด็กคงพฤติกรรมเดิมเอาไว้ โดยไม่รู้ว่า ถูก หรือผิด ดังนั้น พ่อแม่ต้องเปลี่ยนทัศนคติ และพยายามชี้แนะลูกอยู่ตลอด ไม่เช่นนั้น ลูกจะกลายเป็นเด็กไม่รู้กาลเทศะ หรือไม่รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ในที่สุด"

ที่มา http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000022393
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์