ความเชื่อแม่ตั้งครรภ์ "ทานเผื่อลูก" ไม่ดีเสมอไป

ความเชื่อแม่ตั้งครรภ์ "ทานเผื่อลูก" ไม่ดีเสมอไป
ความเชื่อของผู้คนที่อยู่รอบข้างคุณแม่ตั้งครรภ์ ตลอดจนตัวคุณแม่เองเกี่ยวกับการรับประทานอาหารระหว่างตั้งครรภ์อาจต้องเปลี่ยนเสียใหม่ เมื่อทาง The National Institute for Health and Clinical Excellence หรือ NICE แห่งสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเตือนว่า จำนวนแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์กำลังมีมากขึ้น ทำให้เด็กที่คลอดออกมามักมีน้ำหนักค่อนข้างสูงกว่าเกณฑ์ปกติ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ในอนาคตได้ง่ายกว่า อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคนี้ ส่วนหนึ่งได้ไปส่งเสริมให้ธุรกิจความงาม นวดสลายไขมันเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย
แทนการเข้าคอร์สฟิตหุ่น หรือซื้อโปรแกรมกำจัดไขมันหลังคลอด การเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยคำแนะนำจากศาสตราจารย์ไมค์ เคลลี่ (Professor Mike Kelly) ผู้อำนวยการ NICE ระบุว่า

"หญิงตั้งครรภ์ในปัจจุบันได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารระหว่างตั้งครรภ์จำนวนมาก หลายครั้งที่่ข้อมูลเหล่านั้นขัดแย้งกันเอง เช่น ควรจะทานนมแบบ Full-Fat หรือทานอาหารเยอะ ๆ เผื่อไปถึงลูก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้พวกเธอต้องมีน้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็นในระหว่างตั้งครรภ์ รวมไปถึงหลังคลอด และเมื่อคลอดลูกแล้ว ส่วนมากก็มักจะให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักค่อนข้างสูงตามมา ซึ่งเด็กเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ สูงกว่าเด็กปกติ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรมีดัชนีมวลกายมากเกินกว่า 30 และไม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์เกิน 10 - 12 กิโลกรัม"

"คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์นี้ต้องการทำขึ้นเพื่อขจัดความเชื่อที่ไม่มีประโยชน์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความเชื่อที่ว่าต้องรับประทานอาหารสำหรับสองคน หรือการรับประทานนม Full-Fat เป็นต้น"

สิ่งที่หนีไม่พ้นอีกประการหนึ่งของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์และมีน้ำหนักเพิ่มสูงก็คือ การฟิตหุ่นให้กลับมาดูดีดังเดิมนั่นเอง ซึ่งศาสตราจารย์ไมค์ เคลลี่กล่าวว่า "ประเด็นการลดน้ำหนักหลังคลอดก็เช่นกัน คุณแม่ควรเข้าใจว่าการลดน้ำหนักนั้นต้องใช้ระยะเวลา รวมถึงต้องการการออกกำลังกายเพิ่มเติมด้วย"

ด้าน โรซี่ ด็อดด์ แห่ง the National Childbirth Trust กล่าวว่า "การที่ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานอาหารเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์นั้นส่งผลถึงรูปแบบการรับประทานอาหารของทั้งครอบครัวได้เลยทีเดียว ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับครอบครัวนั้น ๆ ในอนาคตสักเท่าไร"

พร้อมกันนี้ยังได้บอกว่า มีข้อมูลจากช่างตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมากระบุถึงความต้องการการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นกรณีพิเศษสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ไม่สามารถลดน้ำหนักให้กลับคืนสู่รูปร่างเดิมได้มากขึ้นด้วย

เรียบเรียงจากเดลิเมล


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์