เมื่อดวงตาอ่อนล้า

เมื่อดวงตาอ่อนล้า
คอมพิวเตอร์แม้จะมีคุณอนันต์ แต่มันก็มีภัยให้ต้องระมัดระวังไม่น้อยเหมือนกัน หากใช้คอมพิวเตอร์ นาน ๆ นอกจากจะต้องระวังเรื่องอาการออฟฟิศ ซินโดรมแล้ว ยังต้องระมัดระวังเรื่องของสายตาด้วย
ผลที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปมีหลายอย่าง เช่น ปวดหัวตลอดเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์ เคืองตาหรือตาแห้ง มองไม่ชัด การปรับโฟกัสระหว่างหน้าจอกับวัตถุอื่นช้า มองไกลไม่ชัดหลังจากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน บางครั้งมองเห็นภาพซ้อน ภาพเปลี่ยนสี ส่วนผลทางอ้อมก็เช่น ตึงและเจ็บคอและไหล่ ปวดหลัง ปวดแขน ปวดข้อมือ ประสิทธิภาพในการมองเห็นต่ำลง

′ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์′ มีข้อแนะนำหนังสือ ′สุขภาพดี ชีวีสมดุล′ ว่า การใช้คอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัยต่อสายตาและร่างกายส่วนอื่นๆ ทำได้หลายวิธี เช่น ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ และต้นฉบับที่ใช้พิมพ์ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 20 องศา วางคีย์บอร์ดในตำแหน่งที่ข้อมือและแขนช่วงล่างขนานกับพื้น เก้าอี้ควรปรับเอนได้และรองรับพอดีกับรูปกระดูกสันหลัง ปรับความสูงของเก้าอี้เพื่อให้วางเท้าและต้นขาในระดับเดียวกับพื้น

แสงสว่างก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ดวงตาอ่อนล้า จึงควรปรับความสว่างและความเข้มของหน้าจอเพื่อให้สะดวกตาที่สุด ความเข้มของตัวหนังสือต้องมากกว่าพื้นจอ 10 เท่า ดังนั้นการออกแบบหน้าจอเว็บไซต์โดยใช้ตัวอักษรสีอ่อนหลากสีจึงไม่เป็นมิตรกับสายตาเอาเสียเลย ส่วนแสงสว่างจากหน้าจอต้องสว่างกว่าแสงสว่างของห้องสามเท่า ควรมีไฟที่ปรับระดับแสงสว่างได้และไม่ทำให้เกิดแสงสะท้อนกับหน้าจอ หน้าจอควรปรับเอนได้หรือมีแผนกันแสง พยายามอย่านั่งหันหน้าเข้าหาหน้าต่างหรือแหล่งกำเนิดแสง นอกจากนี้ควรทำความสะอาดหน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งมีฝุ่นมาเกาะเป็นประจำ สิ่งที่จะลืมไม่ได้คือไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพักสายตาและร่างกายเป็นระยะ ๆ

นอกจากการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมและปรับคอมพิวเตอร์ให้เอื้อต่อสายตาให้มากที่สุดแล้ว การบริหารสายตาก็เป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยคลี่คลายปัญหาสายตาอ่อนล้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งในบรรดาสิงห์คอมพิวเตอร์ผู้รักสุขภาพก็มักจะเลือกการบริหารสายตาแบบเบตส์ ของนายแพทย์วิลเลียม เอช. เบตส์ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงในการบำบัดสายตาโดยไม่ใช้แว่นและการผ่าตัดมากว่าร้อยปี และมีผู้นำหลักการแบบเบตส์มาปรับใช้ในการบริหารดวงตาทั่วโลก

หลักการพื้นฐานของการบริหารสายตาแบบเบตส์ ก็คือการเคลื่อนไหวดวงตา กล้ามเนื้อตา การเพ่งจ้องอย่างผ่อนคลาย เมื่อกล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย ก็จะทำให้ลูกตาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระนอกจากนี้สิ่งที่จะลืมเสียมิได้ก็คือการผ่อนคลายจิตใจด้วย

ฝ่ามืออันอบอุ่น เริ่มจากถูมือทั้งสองข้างจนรู้สึกอุ่น จากนั้นหลับตา วางฝ่ามือไว้บนดวงตา มือขวาทาบตาขวา มือซ้ายทาบตาซ้าย ระวังไม่ให้ฝ่ามือสัมผัสโดยตรงกับดวงตา ปลายนิ้ววางทาบกับบริเวณหน้าผากอย่างนิ่มนวล นิ่งไว้ชั่วครู่ ถ้ารู้สึกเมื่อยแขนอาจวางศอกไว้บนโต๊ะ การพักผ่อนสายตาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากอยู่ในห้องมืด หรือใช้วิธีจินตนาการถึงความมืดก็ได้ และจะดียิ่งขึ้นหากจะตามลมหายใจเข้า-ออกเพื่อฝึกสติ

จะทำเมื่อไร ที่ไหน ถี่และยาวนานเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกดีและผ่อนคลาย เพ่งใกล้สลับไกล ตั้งนิ้วโป้งห่างจากปลายจมูกประมาณครึ่งฟุต สายตาจับจ้องที่ปลายนิ้ว จากนั้นสูดหายใจเข้าออกลึกและช้า แล้วหันไปเพ่งมองวัตถุที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 ฟุต แล้วหายใจเข้าลึกออกยาวอีกครั้ง ทำสลับกัน 15 ครั้งหรืออาจจะใช้วิธีจับดินสอแท่งหนึ่งไว้ตรงหน้า ห่างจากจมูกประมาณ 3 นิ้ว ส่วนอีกแท่งยื่นไปสุดมือ จากนั้นเพ่งมองที่ดินสอระยะใกล้ กะพริบตาแล้วเพ่งดินสออีกแท่ง กะพริบตา ทำสลับกัน ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

กวาดสายตา นั่งหรือยืนที่มุมห้อง แล้วกวาดสายตามองวัตถุต่าง ๆ ภายในห้อง ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา โทรทัศน์ ประตู โคมไฟ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ วัตถุเหล่านี้จะช่วยให้ดวงตาเคลื่อนไหวแบบ ไม่เคร่งเครียด ทำประมาณ 2 นาที แล้วอย่าลืมเรื่องตามลมหายใจด้วย

และวารีบำบัดดวงตา วางอ่างน้ำร้อนและน้ำเย็นตรงหน้า น้ำไม่ควรร้อนเกินไป ส่วนน้ำเย็นควรเป็นน้ำใส่น้ำแข็ง ชุบผ้าสะอาดจากอ่างน้ำร้อนบิดพอหมาดวางไว้บนตาประมาณ 30 วินาที จากนั้นชุบผ้าในอ่างน้ำเย็นแล้ววางไว้บนดวงตาอีก 30 วินาที ทำสลับกัน แล้วจบด้วยการนวดตาเบา ๆ ด้วยผ้าแห้ง รวมระยะเวลา 2 นาที หรือบางท่านอาจจะใช้วิธีหลับตาแล้ว วักน้ำอุ่นใส่ตา 20 ครั้ง สลับกับวักน้ำเย็นใส่ตาอีก 20 ครั้ง ในช่วงเช้า และทำสลับกันในช่วงก่อนนอนก็ได้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์